ย้อนรอย Y2K เมื่อการเริ่มต้นปี 2000 อาจกลายเป็นหายนะทางเทคโนโลยี ที่สร้างความวุ่นวาย ให้กับคนทั้งโลก - TechBite

ย้อนรอย Y2K เมื่อการเริ่มต้นปี 2000 อาจกลายเป็นหายนะทางเทคโนโลยี ที่สร้างความวุ่นวาย ให้กับคนทั้งโลก - TechBite

24 ม.ค. 2023
ในช่วงนี้ เราได้ยินคนพูดถึงคำว่า “Y2K” กันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านกระแสรำลึกถึงอดีต (Nostalgia) ย้อนกลับไปถึงแฟชั่น การแต่งกาย ของนักร้อง นักแสดง หรือวิถีชีวิตของคนทั่วไป ในช่วงปลายยุค 1990 ถึงต้นยุค 2000
แต่ในความจริงแล้ว รู้หรือไม่ว่า คำว่า Y2K นั้น ไม่ได้หมายถึงการหวนคิดถึงอดีต ในช่วงปี 2000 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น..
เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว Y2K เป็นคำที่ใช้เรียก “หายนะ” ที่อาจเกิดขึ้นกับโลก จากความผิดพลาดของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่เกิดขึ้น เพราะการเริ่มต้นของ “สหัสวรรษ” ใหม่ หรือการก้าวเข้าสู่ปี 2000
ตามคำย่อของ Y2K ที่ย่อมาจาก Y - Year ส่วน K ย่อมาจากคำว่า Kilo ซึ่งหมายถึง 1,000 ดังนั้น Y2K จึงหมายถึง Year 2000 หรือปี 2000 นั่นเอง..
ซึ่งในช่วงก่อนปี 2000 นั้น คำว่า Y2K สร้างความตื่นตระหนก ให้กับนักวิชาการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่าง ๆ ว่าระบบคอมพิวเตอร์ อาจทำงานผิดพลาด จนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก ในวันที่ 1 มกราคม 2000
- ทำไมวันที่ 1 มกราคม 2000 ถึงอาจกลายเป็นหายนะ ?
สาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากในยุคนั้น ต่างตื่นกลัวกับการเริ่มต้นของปี 2000 ก็เป็นเพราะ การออกแบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น มีรากฐานการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงยุค 1960 ซึ่งออกแบบให้คอมพิวเตอร์ นับปีคริสต์ศักราช โดยใช้เลข 2 หลัก เช่น
- ปี 1970 คอมพิวเตอร์ จะเก็บข้อมูลเป็นเลข 70
- ปี 1989 คอมพิวเตอร์ จะเก็บข้อมูลเป็นเลข 89
- ปี 1996 คอมพิวเตอร์ จะเก็บข้อมูลเป็นเลข 96
เพราะในช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาขึ้น ในช่วงยุค 1960 เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล ยังคงมีพัฒนาการที่ไม่ดี ทำให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น มีอยู่อย่างจำกัด
การย่อตัวเลข จาก 4 หลัก ให้เหลือเพียง 2 หลัก จึงกลายเป็นวิธีที่ช่วยลดการใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูล ได้เป็นอย่างดี
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ หลาย ๆ คน อาจคิดว่าการย่อตัวเลขปี จาก 4 หลัก ให้เหลือเพียง 2 หลัก ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่ จนถึงขั้นที่คอมพิวเตอร์จะทำงานผิดพลาดแต่อย่างใด..
แต่กลายเป็นว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ในช่วงเวลานั้น กลับมีความกังวล ว่านี่อาจกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทั่วโลก ทำงานผิดพลาด ในวันที่โลกก้าวเข้าสู่ปี 2000
เพราะเมื่อโลกก้าวเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม 2000 ระบบคอมพิวเตอร์ จะเก็บตัวเลขปี 2000 ให้เหลือเพียง 00 เท่านั้น
ซึ่ง 00 นี้ คอมพิวเตอร์อาจเข้าใจผิด คิดว่าโลกของเราย้อนกลับไปเป็นปี 1900 ไม่ใช่ปี 2000
เพราะคอมพิวเตอร์ ไม่ได้รับการออกแบบให้เข้าใจว่า 00 คือปี 2000 ตั้งแต่แรก
และหากคอมพิวเตอร์เข้าใจว่า 00 คือปี 1900 จริง ก็จะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ทำงานผิดพลาด จากการระบุปี ที่ไม่ถูกต้อง
โดยเฉพาะระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ ที่อาศัยข้อมูล วัน-เดือน-ปี ในการทำงาน
เช่น ระบบคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ระบบการจองตั๋วเครื่องบิน รวมถึงระบบควบคุมการทำงานในโรงไฟฟ้า ที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัย เป็นประจำทุกวัน
นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่มีชิปเซต เป็นตัวควบคุมการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิภายในอาคาร รวมถึงลิฟต์โดยสาร ก็ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง ที่จะทำงานผิดพลาด จากปัญหาการระบุปีที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกัน
ซึ่งนั่นก็ทำให้คนทั่วโลก ต่างตื่นตระหนกกับสถานการณ์ Y2K เป็นอย่างมาก เพราะระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อาจทำงานผิดพลาด จนการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลกต้องสะดุดลงเป็นการชั่วคราว ซึ่งแน่นอนว่าหากสถานการณ์ Y2K เกิดขึ้นจริง ก็จะสร้างความเสียหายในวงกว้าง
ทำให้ในช่วงเวลานั้น ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการป้องกัน ไม่ให้เหตุการณ์ Y2K เกิดขึ้นจริง ด้วยการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่ออัปเกรดระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานตัวเองเสียใหม่ เพื่อรองรับการมาถึงของปี 2000
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ Gartner ซึ่งเป็นบริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี คาดการณ์ว่า ทั่วโลกอาจใช้งบประมาณ เพื่อการป้องกันเหตุการณ์ Y2K ที่อาจเกิดขึ้น คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 300,000-600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.8-19.7 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว..
และเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ก็คาดการณ์ว่า จะใช้เงินเพื่อป้องกันสถานการณ์ Y2K คิดเป็นมูลค่าเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.8 ล้านล้านบาท) เข้าไปแล้ว
หรือหากนับเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลก อย่าง General Motors เพียงบริษัทเดียว ก็เคยคาดการณ์ว่า บริษัทต้องใช้งบประมาณราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,500 ล้านบาท) เพื่อป้องกันปัญหา Y2K โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม 2000
กลายเป็นว่า เหตุการณ์ Y2K กลับไม่ได้มีความรุนแรง จนจะทำให้โลกเกิดหายนะ อย่างที่คนทั่วโลกเป็นกังวล..
เพราะมีปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย จากการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ผิดพลาดเท่านั้น เช่น
- เครื่องออกบัตรโดยสารของรถประจำทาง ในประเทศออสเตรเลีย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
- โทรศัพท์มือถือของเครือข่าย NTT DOCOMO ในประเทศญี่ปุ่น ลบข้อความ SMS ที่ได้รับล่าสุดออกไป เมื่อหน่วยความจำเต็ม แทนที่จะลบข้อความที่เก่าที่สุดออกไปก่อน
- บริการพยากรณ์อากาศ ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แสดงวันที่ผิดพลาด จาก 1 มกราคม 2000 กลายเป็น 1 มกราคม 19100
- ป้ายแสดงข้อความประกาศต่าง ๆ ในที่สาธารณะ แสดงวันที่ผิดพลาด จาก 1 มกราคม 2000 กลายเป็น 1 มกราคม 1900
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังจากที่โลก ก้าวเข้าสู่ปี 2000 อย่างเต็มตัว Y2K กลับไม่ใช่ปัญหาใหญ่อย่างที่คิด แต่ก็ทำให้คนทั่วโลก มีความคิดเห็นที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายแรก พุ่งเป้าไปที่ ความตื่นตระหนกจนเกินเหตุของบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ จนทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องเสียเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ไปกับเรื่องที่อาจไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงมากอย่างที่คาดคิดไว้
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญบางส่วน ที่เตือนให้คนทั่วโลกไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์ Y2K มากจนเกินไป
โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ตีพิมพ์เอกสารจำนวนมาก โดยระบุว่า Y2K อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่ควรตื่นตระหนกมากอย่างที่คิด เพราะจำนวนคอมพิวเตอร์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีจำนวนไม่มาก
รวมถึง Microsoft เอง ก็เคยประเมินไว้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 1999 ว่า จะมีคอมพิวเตอร์จำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Y2K
กับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่พุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จ ของการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่ออัปเกรดระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งในระดับซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ จนในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อปี 2000 มาถึง จึงไม่ได้เกิดเหตุการณ์หายนะ จากระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่อย่างใด
และหากไม่คิดป้องกันตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้ Y2K กลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความปั่นป่วน จนกลายเป็นหายนะ ที่สร้างความเสียหายให้กับคนทั่วโลกอย่างมหาศาล เพียงเพราะ “ชะล่าใจ” จนละเลยการป้องกัน ก็เป็นไปได้เช่นกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.