รู้จัก Nitori ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ที่เคยฆ่า “IKEA ในญี่ปุ่น” กำลังจะมาเปิดสาขาในไทย ปีหน้า

รู้จัก Nitori ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ที่เคยฆ่า “IKEA ในญี่ปุ่น” กำลังจะมาเปิดสาขาในไทย ปีหน้า

13 ก.พ. 2023
ทุกวันนี้ หากพูดถึงร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน หรือของใช้ชิ้นเล็ก ๆ ภายในครัวเรือน เชื่อว่าหลายคนจะต้องนึกถึง IKEA ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ สัญชาติสวีเดน ขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ อย่างแน่นอน
ด้วยความที่ IKEA มีเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ให้เลือกหลากหลาย ตรงกับความต้องการในการตกแต่งบ้านแทบทุกรูปแบบ แถมยังมีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสม
IKEA จึงกลายเป็นอีกหนึ่งร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเองด้วย
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของร้านขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศญี่ปุ่น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่แตกต่างจากไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างสิ้นเชิง
เพราะที่นั่น IKEA ไม่ใช่ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ที่ได้รับความนิยมมากนัก..
และหากพูดถึงเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และของตกแต่งบ้าน คนญี่ปุ่นจะนึกถึง Nitori เป็นชื่อแรก..
ความนิยมของ Nitori ของคนญี่ปุ่น มีมากถึงขนาดที่ว่า คนทั่วโลก ต่างขนานนามให้ Nitori เป็น IKEA แห่งญี่ปุ่น เลยทีเดียว
ที่สำคัญคือ ในช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา มีการรายงานจากผู้บริหารของ Nitori ว่า จะเตรียมมาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2024
โดยคาดว่าจะมาเปิดสาขาเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มากถึง 10 แห่ง
ในบทความนี้ MarketThink จะขอพาไปทำความรู้จักกับ Nitori ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ และของใช้ภายในบ้าน สัญชาติญี่ปุ่น ที่กำลังจะมาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ในช่วงต้นปีหน้า ว่ามีเรื่องราวอะไร ที่น่าสนใจบ้าง..
Nitori เปิดสาขาแรกเมื่อปี 1967 หรือเมื่อ 56 ปีก่อน ที่เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น โดยมี Akio Nitori ในวัยเพียง 25 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง
หลังจากเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์ได้ 2 สาขา ในเมืองซัปโปโร 
Akio Nitori ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1972
และการเดินทางในครั้งนั้น ก็ทำให้ Akio Nitori ได้เปิดโลก และพบว่า บ้านของคนที่นั่น ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม จนเรียกได้ว่าบ้านของคนญี่ปุ่นนั้น “เทียบไม่ติด” เลยทีเดียว
เพราะบ้านของชาวอเมริกัน มีทั้งเฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ของใช้ รวมถึงพรมปูพื้น ที่มีการ “จับคู่สี” ซึ่งดูแล้วเข้ากันอย่างกลมกลืน
ต่างจากบ้านของคนญี่ปุ่น ที่ Akio Nitori คุ้นเคย ที่มักจะได้รับการตกแต่งแบบง่าย ๆ แต่เฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ถูกนำมาวางรวมกัน จนทำให้โทนสีของสิ่งของภายในห้อง ไม่มีความเข้ากันเลยแม้แต่น้อย
รวมถึง Akio Nitori ยังพบด้วยว่า ราคาของเฟอร์นิเจอร์ ที่ขายในสหรัฐอเมริกา ถูกกว่าประเทศญี่ปุ่นถึง 3 เท่า 
แม้ว่าในช่วงเวลานั้น รายได้ของคนญี่ปุ่น จะน้อยกว่าคนอเมริกันอย่างมากก็ตาม..
นั่นหมายความว่า Akio Nitori ค้นพบว่า คนญี่ปุ่น ต้องจ่ายเงินเกินความจำเป็น เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นหนึ่ง
และนั่นก็ทำให้ Akio Nitori ตั้งใจที่จะทำให้เฟอร์นิเจอร์ของ Nitori เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาย่อมเยา และจับต้องได้ แต่ต้องมีคุณภาพที่ดี
โดยสินค้าของ Nitori นั้น ก็มีทั้งเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เช่น โซฟา โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ ตู้เสื้อผ้า ตู้หนังสือ เตียงนอน และเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
นอกจากนี้ ยังมีของใช้ภายในครัวเรือน รวมถึงของตกแต่งบ้านอีกเป็นจำนวนมาก เช่น พรมปูพื้น ผ้าม่าน อุปกรณ์จัดเก็บสิ่งของ แก้วน้ำ จาน ชามต่าง ๆ อีกด้วย
โดยที่ Nitori มีการจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบ “โชว์รูม” เพื่อให้ลูกค้าจินตนาการได้ในทันที ว่าหากซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นกลับไปที่บ้าน ภาพสินค้าจริงจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ Nitori ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่ง นั่นคือความสำเร็จของ Nitori มีส่วนที่ทำให้ IKEA ซึ่งเคยเข้ามาเปิดสาขาในประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในปี 1973 ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเกิดที่สวีเดนไป ในเวลาไม่ถึง 10 ปี
เพราะ IKEA ไม่สามารถสู้ Nitori ในตลาดประเทศญี่ปุ่นได้เลยแม้แต่น้อย..
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ที่มักเดินทางกันด้วยระบบขนส่งมวลชน อย่างรถไฟ เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่มีรถยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะคนในเขตเมือง
รวมถึง IKEA ยึดหลักการแบบ DIY ที่ลูกค้าต้องทำเองทุกอย่าง แม้แต่การขนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ๆ กลับบ้าน ซึ่งนั่นหมายความว่า คนญี่ปุ่นที่เดินทางด้วยรถไฟ ก็อาจจะรู้สึกไม่ชอบ IKEA มากนัก
ซึ่งแตกต่างจาก Nitori ที่แม้ลูกค้าจะต้องประกอบเฟอร์นิเจอร์ด้วยตัวเอง แต่ Nitori ก็ยังมีบริการขนส่งเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ๆ ไปให้ลูกค้าถึงที่หน้าบ้าน
นอกจากนั้น การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ก็มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ปลื้มเช่นกัน 
เพราะ IKEA เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศสวีเดน 
รูปแบบของที่อยู่อาศัยก็มีความแตกต่างจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะขนาดของบ้านที่ใหญ่กว่า 
การซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ๆ ของ IKEA ไปวางที่บ้าน จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับชาวสวีเดน
ในขณะที่ บ้านของคนญี่ปุ่น มีขนาดเล็กกว่ามาก จนทำให้เฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ไม่เหมาะสมกับบ้านของคนญี่ปุ่นเลย
และนั่นก็ทำให้ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกอย่าง IKEA ไม่สามารถสู้กับร้านขายเฟอร์นิเจอร์ท้องถิ่นของคนญี่ปุ่น อย่าง Nitori ที่ “เข้าใจ” ความต้องการของคนญี่ปุ่นได้ดีกว่า นั่นเอง
จนในท้ายที่สุดแล้ว IKEA ก็ต้องยอมแพ้ และออกจากตลาดญี่ปุ่นไป ในปี 1983 หรือเพียง 10 ปี หลังจากตัดสินใจบุกตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
แม้ในปัจจุบัน IKEA จะกลับเข้ามาทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในปี 2006
แต่ Nitori ก็ยังคงเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความนิยมจากคนญี่ปุ่นอยู่เช่นเดิม ดูได้จากจำนวนสาขาของ Nitori และ IKEA ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน Nitori ในประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนสาขาอยู่ที่ราว 700 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ
ในขณะที่ IKEA ในประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนสาขาเพียง 12 แห่ง เท่านั้น..
นอกจากนี้ ในมุมมองของคนญี่ปุ่นเอง ยังมองว่า Nitori เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ที่ “เป็นมิตร” กับการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นมากกว่า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คือ บริษัทรับขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ สำหรับการย้ายที่อยู่อาศัย มักถามลูกค้าชาวญี่ปุ่นว่า “ที่บ้านมีเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA หรือไม่”
เพราะเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA มักมีปัญหากับการแยกชิ้นส่วนออกเป็นชิ้น ๆ หลังจากที่ประกอบเสร็จแล้ว ทำให้การขนย้ายทำได้ยากกว่า บริษัทรับขนย้ายจึงต้องจำใจที่จะขนย้ายเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้น โดยไม่ได้มีการแยกออกเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ
ซึ่งต่างจากเฟอร์นิเจอร์ของ Nitori ที่บริษัทรับขนย้าย ยืนยันว่าทำได้ง่ายกว่า และไม่เจอปัญหาแบบเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA นั่นเอง
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า Nitori นับว่าเป็น “เบอร์ใหญ่” ของวงการเฟอร์นิเจอร์ ในประเทศญี่ปุ่น
และนั่นก็ยิ่งทำให้การมาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ของ Nitori ในช่วงเดือนมีนาคม ปีหน้า เป็นที่น่าจับตามองมากขึ้นไปอีก
เพราะที่ผ่านมา IKEA ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวไทยมาโดยตลอด และนั่นก็อาจทำให้การแข่งขันระหว่าง IKEA และ Nitori ในประเทศไทย เป็นไปอย่างเข้มข้น..
แต่ที่แน่ ๆ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นลูกค้าชาวไทย ที่จะมีตัวเลือกเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดี ในราคาสมเหตุสมผลให้เลือก เพิ่มมากขึ้นอีก 1 แบรนด์..
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.