เปิดมุมมองเจ้าพ่อค้าปลีก ‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ สร้างธุรกิจ The New Retail ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง

เปิดมุมมองเจ้าพ่อค้าปลีก ‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ สร้างธุรกิจ The New Retail ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง

12 ก.พ. 2020
‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร OfficeMate และ B2S ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจค้าปลีกของไทยและกรณีศึกษา The New Retail การสร้างประสบการณ์ค้าปลีกยุคใหม่จากกรณีศึกษาจริงในแบบของ OfficeMate และ B2S บนเวที Priceza E-Commerce Summit 2020 สุดยอดงานอัพเดทเทรนด์ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีโดย Priceza
วรวุฒิ อุ่นใจ เริ่มต้นพูดคุยถึงสถานการณ์ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกไทยในปัจจุบันว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งอุตสาหกรรมในปี 2562 ไม่ค่อยสดใส ซึ่งเป็นไปตามสภาวะของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว มีการปรับ GDP เหลือ 2.6% ลดลงจากคาดการณ์เมื่อต้นปีที่ 3.1% และสถานการณ์ค้าปลีกที่ชะลอตัวอย่างหนัก โดยเติบโตต่ำกว่า GDP ของประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุหลักที่ทำให้ค้าปลีกตกต่ำคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องภาษีนำเข้า โดยไทยถือเป็นประเทศอันดันต้นๆ ของโลกที่มีการเก็บภาษีสูง อยู่ที่ประมาณ 20-40% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่ประมาณ 5-10% ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าในไทยแพง จึงทำให้คนไทยนิยมไปช้อปปิ้งที่ต่างประเทศและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% คิดเป็นมูลค่าขั้นต่ำถึง 1 แสนล้านบาท ขณะที่ค้าปลีกในไทยเติบโตเฉลี่ยแค่ 2% โดยไทยควรใช้ข้อได้เปรียบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมากถึง 40 ล้านคนต่อปี ให้ซื้อสินค้าในไทยมากขึ้นแทนการต่อเครื่องไปซื้อสินค้าประเทศอื่น เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เพราะสินค้าไทยราคาแพง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงการสร้างด้านภาษี โดยเฉพาะสินค้าในหมวดไลฟ์สไตล์ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว รวมถึงการปรับตัวเองให้เป็น Shopping for Tourists เพื่อส่งเสริมธุรกิจ SME ไทยให้มีการเติบโต ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น  ที่แม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวเล็กก็มีการใช้ VAT Refund เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในการซื้อสินค้า 
โอกาสการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกปี 2563
สำหรับธุรกิจไทยในปี 2563 นั้น เรียกว่าเป็นธุรกิจ 2 แสน คือ แสนสาหัสและแสนลำบาก เนื่องจากปัญหาเรื่องโครงสร้างภาษีนำเข้ายังไม่มีการแก้ไข แม้ภาครัฐจะมีมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ออกมาแต่มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ได้แก้ปัญหาที่โครงสร้าง การกระจายรายได้และความเลื่อมล้ำในธุรกิจก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ตลอดจนปัญหาสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยจีนได้มีการลดค่าเงินหยวนลง ส่วนภาวะค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า จึงกระทบการภาคส่งออกส่งผลให้ส่งออกติดลบประมาณ 5% เพราะจีนถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย ซึ่งเมื่อค่าเงินดังกล่าวผันผวนส่งผลให้สินค้าไทยแพงกว่าจีนถึง 20 เท่า
ทั้งนี้ภาคการเกษตรเองก็มีปัญหาราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยาง ข้าว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ช่วยได้คือ Value Added หรือการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น การพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป การผลิตถุงยางขายทั่วโลก เพราะยางของไทยมียอดการผลิตเป็นอันดับต้นๆของโลก ไม่ใช่แค่การขายยางแผ่นเพียงอย่างเดียว
ในส่วนของภาคธุรกิจ SME ก็ต้องมีการปรับตัวเข้าสู่ Digital Economy ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ร้านอาหารที่ขายเฉพาะหน้าร้าน ต้องปรับไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น Foodpanda LINE MAN Grab โดยข้อมูลของร้านที่ปรับตัวมาใช้บริการเดลิเวอรี่มีรายได้เพิ่มขึ้น 7-8 เท่า ธุรกิจใดที่สามารถปรับตัวตามได้ก็จะสามารถอยู่รอด
การสร้างประสบการณ์ค้าปลีกรูปแบบ The New Retail
The New Retail หรือค้าปลีกยุคใหม่ มีคำศัพท์มาจากอาลีบาบาก็คือการทำธุรกิจในรูปแบบ OMNI-Channel การขายออนไลน์อย่างเดียวคือ Single Channel การขายออนไลน์และค้าปลีกคือ Multi-Channel หากต้องการให้ธุรกิจเป็น OMNI-Channel ต้อง Seamless Operation and Data หมายความว่าเมื่อลูกค้าซื้อของผ่านออนไลน์ แต่ไปติดต่อข้อมูลที่หน้าร้าน ผู้ขายต้องให้ข้อมูลและบริการได้โดยต้องมี Data Base ร่วมกัน หากผู้ประกอบการสามารถบริหารในธุรกิจค้าปลีก 150 สาขาเชื่อมโยงกับข้อมูลเว็บไซต์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะประสบความสำเร็จในการทำ OMNI-Channel
แต่การทำธุรกิจค้าปลีกให้เป็นรูปแบบ OMNI-Channel ยังทำได้ยาก ธุรกิจที่ทำแล้วประสบความสำเร็จคืออาลีบาบาและอเมซอน เพราะสิ่งสำคัญที่ธุรกิจยังขาดคือ Data Base ซึ่งฝั่งธุรกิจออนไลน์ทำง่ายกว่า เนื่องจากมีฐานข้อมูลและชำนาญในการสร้างคอนเทนท์ ทั้งนี้ The New Retail หรือ OMNI-Channel ของธุรกิจค้าปลีกในไทยเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นธุรกิจของจีน ผลพวงจากการเปิด EEC (Eastern Economic Corridor) จะทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกและง่ายขึ้น เพราะมีคลังสินค้าอยู่ในไทย ในยุคธุรกิจ E-Commerce หากไม่มีการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ผู้ซื้อจะเลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า ต้องเตรียมตัวรับมือให้ดีกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
บทเรียนการปรับตัวของ OfficeMate และ B2S
ในส่วนของ OfficeMate มีการปรับตัวล่วงหน้ามาหลายปี โดยใช้โมเดลธุรกิจ OMNI-Channel Franchise ซึ่งต่อจากนี้การทำธุรกิจของ OfficeMate จะไม่มีการเปิดสาขาเอง แต่จะขยายสาขาโดยสร้างแฟรนไชส์ในแบบ OMNI-Channel หมายความว่า แม้จะเปิดแฟรนไชส์ขนาด 50 ตร.ม.หรือ 100 ตร.ม. มีสินค้า 300 SKU (Stock Keeping Unit) ก็สามารถขายสินค้าได้เหมือนคลังสินค้าที่มีขนาด 30,000 ตร.ม. 30,000 SKU ได้ เพราะแฟรนไชส์ก็ขายออนไลน์ด้วย หากลูกค้าหาสินค้าไม่เจอในหน้าร้านก็สามารถสั่งซื้อออนไลน์ผ่านหน้าร้านได้ทันที โดยถือเป็นการทำ OMNI-Channel Franchise ที่ไม่รังแกรายเล็ก ให้สามารถทำธุรกิจไปพร้อมกันได้
B2S ได้พัฒนาโซน Think Space เน้นให้ผู้บริโภคได้ทำกิจกรรมร่วมกันขึ้นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะต้องปรับตัวจากการขายหนังสือ แมกกาซีน ซีดี ดีวีดี หนังหรือเพลง ที่รับความนิยมลดน้อยลงมาก ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีการเพิ่มพื้นที่ Play and Learn เอาของเล่นเด็กผสมกับการเรียนรู้การขายของแบบ Activity เช่น การขายบอร์ดเกม แต่มีการเวิร์คช็อป สอนเล่นบอร์ดเกม เพิ่มความน่าสนใจของสินค้า ตลอดจนเก็บข้อมูลการขายสินค้าผ่านผู้บริโภค อาทิ ผู้บริโภคนิยมออกกำลัง ซื้อหนังสือออกกำลังกาย สอนทำอาหาร ก็นำนาฬิกาสำหรับออกกำลังมาขาย ต้องมองสินค้าในมุมของผู้บริโภค จากการปรับตัวทำให้ B2S มีการเติบโตประมาณ 10% ท่ามกลางธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่หดตัว ทั้งนี้การขายสินค้าต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.