กรณีศึกษา มั่นคงแก็ดเจ็ท ร้านขายหูฟังระดับพระกาฬ ที่รายได้เกือบ 500 ล้าน

กรณีศึกษา มั่นคงแก็ดเจ็ท ร้านขายหูฟังระดับพระกาฬ ที่รายได้เกือบ 500 ล้าน

22 ก.พ. 2023
ถ้าบอกว่า “หูฟัง” ได้กลายเป็น “มากกว่าหูฟัง” แล้ว ก็คงไม่ผิดนัก
เพราะปัจจุบัน นอกจากหูฟังจะมีไว้เพื่อฟังเพลง หรือพูดคุยสื่อสารแล้ว
ยังนับว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องแต่งกาย ที่เข้ามาเสริมภาพลักษณ์ หรือพรีเซนต์บุคลิกของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างเช่น
- วัยรุ่นหลาย ๆ คนตอนนี้ เลือกใช้ AirPods Max หรือหูฟังแบบครอบหู ตามกระแส Y2K
- บางครั้งเลือกใช้หูฟังไร้สาย Marshall เพราะบอกถึงความเท่ วินเทจ และคลาสสิก
หนึ่งในร้านที่มีหูฟังครอบคลุมแทบทุกประเภท ที่คนในวงการหูฟังรู้จักกันเป็นอย่างดี และมักจะเลือกซื้อจากร้านนี้เป็นตัวเลือกแรก ๆ
นั่นก็คือ “มั่นคงแก็ดเจ็ท” ร้านที่อธิบายตัวเองว่า “ขายหูฟังระดับพระกาฬ”
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าจะขายหูฟังเพียงอย่างเดียว
แต่กลับสร้างยอดขายได้เกือบ 500 ล้านบาทต่อปี..
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปถอดกลยุทธ์กันว่า มั่นคงแก็ดเจ็ท ทำได้อย่างไร ?
ถ้าพูดถึงมั่นคงแก็ดเจ็ท หลาย ๆ คนคงรู้จัก “เฮียมั่นคง” หรือ คุณกมล พูนทรัพย์ เป็นอย่างดี
เฮียมั่นคง เคยเล่าไว้ว่า เขาเป็นคนชอบฟังเพลงผ่านหูฟังตั้งแต่เด็ก ๆ
แต่ด้วยความที่ประเทศไทยในอดีต ยังไม่มีหูฟังดี ๆ ขาย
เฮียมั่นคง จึงสั่งซื้อหูฟังจาก eBay เป็นหูฟังแบรนด์ Koss รุ่น KSC35 มาใช้งาน
ซึ่งในช่วงนั้น เป็นช่วงที่เว็บไซต์ Pantip กำลังรุ่งเรือง
เฮียมั่นคงเอง ก็ชอบเข้าไปเล่น ทั้งในบอร์ดถ่ายรูป หูฟัง และแก็ดเจ็ต
โดยใช้ชื่อแอ็กเคานต์ว่า “มั่นคง” อยู่บ่อย ๆ
แล้วพอเห็นว่า หูฟังที่ซื้อมาใช้งานได้ดี จึงนำมาเขียนรีวิวลงบน Pantip
โดยใช้คีย์เวิร์ดว่า “หูฟังระดับพระกาฬ” ที่หมายถึง หูฟังชั้นเยี่ยม หรือระดับตำนาน
ทำให้หลาย ๆ คนที่เข้ามาอ่านรีวิว แล้วเกิดความสนใจ ฝากสั่งซื้อบ้าง
จุดนี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจขายหูฟัง “มั่นคงแก็ดเจ็ท” นั่นเอง..
อย่างไรก็ดี เฮียมั่นคงเห็นว่า เว็บไซต์ Pantip ไม่เหมาะกับการขายของ
จึงหันไปขายบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง TARAD.com แทน
ซึ่งจากการขายหูฟังเพียงแค่รุ่นเดียว กลับสร้างกำไรได้ถึงเดือนละ 20,000 บาท
พอเห็นความเป็นไปได้ และอยากทำให้ธุรกิจเติบโต
เฮียมั่นคง จึงตัดสินใจเปิดหน้าร้านแห่งแรกที่ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน
พร้อมกับชวน คุณเบียส อัฐพงษ์ เอี่ยมไพบูลย์ ที่เก่งเรื่องการขายของ แต่กำลังตกงานในขณะนั้น มาทำธุรกิจร่วมกัน
โดยในตอนแรก ก็ยังคงวางขายแค่หูฟังเพียงรุ่นเดียว แต่พอเริ่มมีลูกค้าสนใจหูฟังเยอะขึ้น จึงสั่งซื้อหูฟังระดับพระกาฬจาก eBay มาวางขายเพิ่มเติม
และเริ่มขยายสาขามากขึ้น นั่นก็คือ “ห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” แหล่งรวมสินค้า IT ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง
ทำให้ลูกค้าที่สนใจ สามารถเข้ามาดูสินค้า หรือรับสินค้าที่หน้าร้านได้อย่างสะดวกสบาย
ย้อนกลับไปก่อนมีโรคระบาด มั่นคงแก็ดเจ็ท สามารถขยายหน้าร้านไปได้ถึง 6 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ
ถึงแม้ว่า ปัจจุบันจะปิดเหลือเพียง 3 สาขา ได้แก่ สยามพารากอน, Stadium One และพาราไดซ์ พาร์ค
แต่ก็มีการเปิดขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น บนเว็บไซต์ของมั่นคงแก็ดเจ็ทเอง และบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee
ถ้าดูผลประกอบการ บริษัท มั่นคงออนไลน์ จำกัด ย้อนหลัง
ปี 2562 รายได้ 288 ล้านบาท กำไร 9 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 363 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 498 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
จะเห็นว่า ถึงแม้ว่ามั่นคงแก็ดเจ็ท จะปิดสาขาลงหลายสาขา
แต่รายได้ของบริษัทก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
ถ้าหากนับว่า ช่องทางออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งสาขา (รวมเป็น 4 สาขา)
เท่ากับว่า มั่นคงแก็ดเจ็ท สามารถทำยอดขายได้เฉลี่ยปีละ 125 ล้านบาทต่อสาขา เลยทีเดียว..
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็ยังอาจสงสัยว่า แล้วจุดเด่นของร้านมั่นคงแก็ดเจ็ทคืออะไร
ทำไมใคร ๆ ก็ต้องนึกถึง ถ้าพูดถึงร้านขายหูฟัง ?
1. การเป็นเจ้าแรกในตลาด ที่ขายเฉพาะหูฟัง
ต้องบอกว่า ช่วงปี 2549 ที่มั่นคงแก็ดเจ็ท มีหน้าร้านสาขาแรกคือ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน เป็นช่วงที่แทบไม่มีคู่แข่งในตลาดเลย
จึงเรียกได้ว่า มั่นคงแก็ดเจ็ท เป็นเจ้าแรก ๆ ของตลาดหูฟัง
อีกทั้ง มั่นคงแก็ดเจ็ท ยังมาพร้อมกับแครักเตอร์ที่ชัดเจน นั่นก็คือ การขาย “หูฟังระดับพระกาฬ”
โดยปัจจุบัน มั่นคงแก็ดเจ็ท ได้ขยายตลาดให้กว้างขึ้น จึงมีหูฟังให้เลือกทุกช่วงราคา ตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหูฟัง Customize ระดับหลักแสนบาท
2. CEO Branding
เวลาที่เราคิดถึงแบรนด์สักแบรนด์ แล้วนึกไปถึงเจ้าของธุรกิจได้ 
หรือพูดถึงนักธุรกิจชื่อดัง แล้วโยงไปถึงแบรนด์ของเขา
นั่นก็คือ การสร้าง CEO Branding
อย่างในกรณีนี้ เพียงพูดว่า มั่นคงแก็ดเจ็ท หลาย ๆ คนก็จะนึกถึง เฮียมั่นคง ได้นั่นเอง
และด้วยความที่เฮียมั่นคงมีแครักเตอร์ชัดเจน เช่น ใส่แว่นทรงสี่เหลี่ยม เป็นมิตร และเข้าถึงง่าย
หลาย ๆ ครั้ง เฮียมั่นคง ได้ใช้เพจเฟซบุ๊กของร้านโพสต์เล่าเรื่อง หรือโพสต์มุกต่าง ๆ
ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับหูฟัง แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ช่วยให้ร้านมั่นคงแก็ดเจ็ท เป็นร้านที่เข้าถึงง่าย อีกทั้งยังเพิ่ม Engagement ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดีด้วย
3. พนักงานมีความเชี่ยวชาญ เน้นให้ความรู้ ไม่ยัดเยียดการขายสินค้า
หนึ่งในหัวใจสำคัญของการขายสินค้าและบริการก็คือ “พนักงาน”
ต่อให้เรามีสินค้าดีขนาดไหน แต่ถ้าหากลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า ไม่ว่าจะทางหน้าร้านสาขา หรือออนไลน์ กลับได้รับบริการที่ไม่ดี ไม่มีความรู้ ท้ายที่สุดลูกค้าอาจเดินหนีจากร้านเราไปก็ได้
ดังนั้น เฮียมั่นคงจึงให้ความสำคัญกับพนักงานขายเป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะมีตำราเกี่ยวกับเรื่องหูฟังให้ศึกษา มีระบบเทรนนิง รวมถึงมีการจัดสอบความรู้เบื้องต้น เพื่อที่ว่าหากลูกค้ามาถามข้อมูลต่าง ๆ แล้ว พนักงานจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้นั่นเอง
อีกทั้งถ้าลูกค้าเข้ามาดูสินค้า พนักงานก็จะไม่ยัดเยียดการขายสินค้า
แต่จะเน้นที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เช่น ลูกค้าชอบฟังเพลงแนวไหน ชอบเสียงทุ้มหรือเสียงแหลม จากนั้นจึงค่อยแนะนำหูฟังรุ่นที่ลูกค้าต้องการ
ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเปรียบเทียบได้ว่า พนักงานขายของร้านมั่นคงแก็ดเจ็ท ไม่ใช่แค่พนักงานขายธรรมดา แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงและหูฟังก็ว่าได้..
4. ทดลองหูฟังได้ทุกรุ่น
กรณีที่เป็นสินค้ามีราคาสูงหลักแสนบาท บางร้านอาจจำกัดว่า ต้องซื้อก่อน แล้วจึงลองสินค้าได้
แต่สำหรับมั่นคงแก็ดเจ็ทที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า จึงเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถทดลองหูฟังได้ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นหลักร้อยบาท หรือหลักแสนบาท
เฮียมั่นคง เล่าว่า ทางร้านจะมีสินค้าตัวอย่างไว้ให้ทดลองทุกตัว
แล้วถ้าหากลูกค้าซื้อ ก็จะได้รับสินค้าตัวใหม่แกะกล่อง ที่ไม่ใช่ตัวทดลองอีกด้วย
และเมื่อหูฟังรุ่นนั้น ๆ ขายหมด จนเหลือแค่สินค้าทดลองแล้ว
สินค้าทดลอง ก็จะถูกนำมาโละขายให้ในราคาที่ถูกลงนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงเห็นแล้วว่า ด้วยหลาย ๆ กลยุทธ์เหล่านี้ ทำให้มั่นคงแก็ดเจ็ท เป็นร้านขายหูฟังที่หลาย ๆ คนนึกถึง จนสร้างยอดขายได้ปีละเกือบ 500 ล้านบาท
แต่เท่านี้ ยังไม่พอ เพราะมั่นคงแก็ดเจ็ท ก็ยังมีกลยุทธ์อื่น ๆ เช่น
- มีการจัดโปรโมชัน เพื่อดึงดูดใจลูกค้า
- มีรีวิวหูฟังแต่ละรุ่น ทั้งบนเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กของร้าน ให้ลูกค้าได้ติดตาม
จากทั้งหมดนี้ ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ ก็คงบอกได้ว่า มั่นคงแก็ดเจ็ท เป็นหนึ่งในธุรกิจต้นแบบ ที่ร้านค้าอื่น ๆ สามารถนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปปรับใช้ตามกันได้นั่นเอง..
อ้างอิง:
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.