ประเทศไทย กำลังมี “ร้านลับ” มากขึ้นเรื่อย ๆ

ประเทศไทย กำลังมี “ร้านลับ” มากขึ้นเรื่อย ๆ

25 ก.พ. 2023
หลัง ๆ มานี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยสังเกตเห็นว่า
กลยุทธ์การตั้งชื่อหรือสร้างภาพลักษณ์ให้ร้านดู “ลึกลับ” นั้น กำลังเป็นที่นิยมกันมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น บาร์ลับ, ร้านลับ, คาเฟลับ และอีกหลายอย่างที่จะทำให้ร้านดู “ลับ” ได้ 
ต่างมีให้เห็นบนโลกโซเชียลกันเต็มไปหมด
เรียกง่าย ๆ ว่ามันถูกใช้กันบ่อย จน “ร้านลับ” ก็ไม่ได้ดูลับสมชื่ออีกต่อไปแล้วในช่วงหลัง ๆ
ถึงอย่างนั้น กลยุทธ์การตั้งชื่อร้านให้ดูลึกลับนั้นก็ดูจะได้ผลไม่น้อย
เพราะถ้าเราดูกันที่ยอดการค้นหาของคนไทยในปี 2565 ผ่านเครื่องมือ Google Trends ก็จะเห็นได้ว่า 
ยอดการค้นหาในคีย์เวิร์ด “ร้านลับ” นั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว.. จากปี 2564 และยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้
แสดงให้เห็นว่าคนไทยชอบค้นหา และไปเที่ยวร้านลับกันจริง ๆ นั่นเอง
แล้วทำไมการทำและโปรโมตร้าน ให้เป็นสถานที่ลับ ถึงได้ผล ? 
บทความนี้ MarketThink จะสรุปให้ฟัง
เรื่องการทำร้านให้ดูลึกลับ ถ้าดูดี ๆ จะค่อนข้างคล้ายกับกลยุทธ์ “Pull Strategy” ที่จะมุ่งไปที่การทำให้ 
“ลูกค้าเดินมาหาแบรนด์” มากกว่า “แบรนด์เดินไปหาลูกค้า”
โดยกลยุทธ์ Pull Strategy มันก็มีด้วยกันหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น
- สร้างคอนเทนต์ดี ๆ แล้วโฆษณาผ่านสื่อ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ามีความต้องการสินค้าของเรา
- ทำให้สินค้า “ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ” เพื่อให้สินค้าของเรา ดูมีมูลค่าและน่าครอบครอง อย่างการทำสินค้าให้เป็น “Limited”
- กระตุ้นให้เกิดการบอกต่อ (Word of Mouth) ของลูกค้า ให้ได้มากที่สุด
- ทำ CRM สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น มอบดีลพิเศษ หรือสิทธิ์ในการซื้อสินค้าออกใหม่ ก่อนลูกค้าคนอื่น ๆ
โดยถ้าเราไปดูร้านอาหาร, คาเฟ หรืออะไรก็ตาม ที่ใช้วิธีโปรโมตว่าตัวเองเป็น “ร้านลับ”
ก็จะเห็นว่า ทำเลของร้านพวกนี้จะค่อนข้างเข้าถึงยาก บ้างไปอยู่ใต้ดิน, ในซอยลึก หรือไปอยู่ในตึกร้างเลยก็มี
แถมบางร้าน.. พอไปถึงก็ใช่ว่าจะเข้าไปใช้บริการได้ง่าย ๆ
เพราะบางที่ ก็มักจะซ่อนทางเข้าของร้าน ทำให้เราเข้าไปใช้บริการลำบากอีกต่างหาก..
ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามา ก็เพื่อทำให้ “ร้านลับ” นั้นดูเข้าถึงยาก, น่าค้นหา และดูมีเสน่ห์ มากกว่าร้านอื่น ๆ ในสายตาของผู้บริโภค
ซึ่งก็มีผลการศึกษาหลายอย่างที่ยืนยันได้ว่า คนเราจะมีแนวโน้มชอบอะไรก็ตามที่ “ได้มายาก” มากกว่าอะไรที่ “ได้มาง่าย” จริง ๆ
จึงไม่แปลกเลย ที่หลายคนจะยอมลำบากออกไปตามหาร้านลับ นั่นเอง..
และจุดสำคัญที่ทำให้ “ร้านลับ” กลายเป็นกระแส ก็น่าจะเป็นเพราะ “วิธีการสื่อสาร”
เพราะต่อให้จะเป็น “ร้านลับ” ที่เจ้าของธุรกิจอยากจะทำให้ดูเข้าถึงยากมากแค่ไหน.. 
แต่การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้รู้ว่ามี “ร้านลับ” อยู่ตรงนี้ ก็ยังจำเป็นอยู่ดี
แต่จะให้ไปโปรโมตกันโต้ง ๆ แบบร้านปกติ ก็คงจะดูไม่ค่อยลับสักเท่าไร
หลายร้านจึงนิยมใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ระดับ Nano-Micro มาช่วยโปรโมตร้านกันแบบเนียน ๆ อย่างการทำคอนเทนต์หรือคลิปสั้น โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย
เพราะการทำแบบนี้ จะทำให้ตัวคอนเทนต์ดูมีความ “สมจริง” มากกว่า 
โดยดูไม่เหมือนการโฆษณามากเกินไป แถมยังใช้งบในการโปรโมต ไม่มากอีกด้วย
และสำหรับคนไทยแล้ว การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ก็ยังเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลเสมอ
ซึ่งก็เคยมีสถิติที่น่าสนใจ ที่บอกว่าคนไทยกว่า 70% มีแนวโน้มเชื่อข้อมูลของอินฟลูเอนเซอร์ที่ตัวเอง
ติดตาม มากกว่าการโฆษณาจากแบรนด์ตรง ๆ เสียอีก..
และอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ “กิมมิก” ของ “ร้านลับ” หลายแห่ง ที่ชอบจัดองค์ประกอบของร้าน ให้เอื้อต่อการทำคอนเทนต์สุด ๆ
เริ่มตั้งแต่ทางเข้าร้านสุดแปลก ไปจนถึงเมนูอาหารสุดอลังการ 
ก็ทำให้หลายคนอดใจไม่ไหว ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาทำคอนเทนต์แชร์ต่อกันบนโลกโซเชียล ทำหน้าที่กระจาย
“Word of Mouth” ให้ร้านได้อีกทีนั่นเอง..
สุดท้ายนี้ กลยุทธ์การทำร้านให้เป็น “ร้านลับ” ก็ยังมีเรื่องที่ท้าทายมาก ๆ คือ การทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำอีกครั้ง
โดยตรงนี้ก็ต้องให้คุณภาพของสินค้าและบริการ เข้ามาช่วยดึงดูดลูกค้าให้อยากกลับมาอีกครั้งให้ได้
ไม่เช่นนั้น “ร้านลับ” ในวันนี้ ก็อาจจะได้เป็นร้านที่ลับจริง ๆ เพราะ “คนลืม” ในวันหน้าก็ได้..
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.