ทำไม ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก มีแค่ Airbus และ Boeing ?

ทำไม ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก มีแค่ Airbus และ Boeing ?

5 มี.ค. 2023
เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมสายการบินทั่วโลก ถึงเลือกใช้เครื่องบินโดยสาร จากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินหลัก ๆ เพียง 2 ราย นั่นคือ Airbus และ Boeing
ซึ่งหากต้องการเห็นภาพที่ชัดเจน คงต้องยกตัวอย่างสายการบินระดับโลก ขึ้นมาสัก 2-3 สายการบิน เช่น
- สายการบิน Singapore Airlines ที่ปัจจุบัน มีเครื่องบินอยู่ในฝูงบินทั้งหมด 133 ลำ แบ่งเป็น Airbus จำนวน 69 ลำ และ Boeing จำนวน 64 ลำ
- สายการบิน Emirates มีเครื่องบินอยู่ในฝูงบินทั้งหมด 226 ลำ แบ่งเป็น Airbus จำนวน 86 ลำ และ Boeing จำนวน 140 ลำ
หรือในขณะที่บางสายการบิน เลือกที่จะใช้เครื่องบินจากบริษัทผู้ผลิตเพียงรายเดียว ก็มีเช่นเดียวกัน
เช่น กลุ่มสายการบิน AirAsia ที่ใช้เครื่องบิน Airbus ทั้งหมด 155 ลำ โดยไม่มีเครื่องบินของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินอื่น ๆ เลย
หรือหากต้องการมองในภาพที่กว้างขึ้นกว่านั้น สำนักข่าว CNBC เคยประเมินเอาไว้ว่า Airbus และ Boeing ครองส่วนแบ่งการตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ไปได้กว่า 99%
นั่นหมายความว่า Airbus และ Boeing ได้ผูกขาดตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ไปแล้ว..
ในทางการตลาด เราจะเรียกสภาพตลาดแบบนี้ว่า “Duopoly” 
ซึ่งหมายถึงสภาพตลาด ที่มีผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ที่มีลักษณะเดียวกัน เพียง 2 ราย
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมอุตสาหกรรมการบินในระดับโลก จึงถูก Airbus และ Boeing ผูกขาด 
จนทำให้สายการบินต่าง ๆ มีตัวเลือกในการซื้อเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ จาก 2 บริษัทเท่านั้น
การที่จะตอบคำถามนี้ได้นั้น ต้องบอกก่อนว่า ในความจริงแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อน อุตสาหกรรมการบิน ก็เคยมีการแข่งขันจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินหลากหลายราย ไม่ว่าจะเป็น
- Boeing 
- Lockheed Martin
- Douglas
- McDonnell
- de Havilland
รวมถึง Airbus ที่กำเนิดขึ้นในภายหลัง จากความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม แม้ในอดีต จะมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารหลายราย
แต่ในปัจจุบัน ผู้ที่เหลือรอด และครองส่วนแบ่งในตลาดได้มากที่สุด กลับกลายเป็น Airbus และ Boeing เท่านั้น
โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ก็เป็นเพราะการพัฒนาเครื่องบินโดยสารขึ้นมาสักลำหนึ่ง จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวน “มหาศาล”
แถมยังต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี กว่าจะได้เครื่องบินโดยสารที่พัฒนาจนสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน รวมถึงมีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัย
ตัวอย่างง่าย ๆ ก็อย่างเช่น การพัฒนาเครื่องบิน Boeing 787 นั้น มีการคาดการณ์ว่า Boeing จะใช้งบประมาณราว ๆ 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 แสนล้านบาท) และใช้ระยะเวลาพัฒนา 5 ปี
แต่ในความเป็นจริงแล้ว กว่า Boeing 787 จะพัฒนาจนสำเร็จ ก็ใช้เวลาลากยาวมากว่า 9 ปี 
ด้วยงบประมาณ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.8 แสนล้านบาท)
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินโดยสารนั้น เป็นตลาดที่มี “กำแพง” ที่สูงมาก ทำให้โอกาสที่บริษัทใหม่ ๆ จะเข้ามาทำตลาด จึงเป็นไปได้น้อย
เพราะต้องใช้ทั้งเงินจำนวนมหาศาล และระยะเวลาหลายปี กว่าที่เครื่องบินลำหนึ่งจะพัฒนาสำเร็จ..
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ยังทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่น ๆ ที่อยู่ในตลาดเดิม ไม่สามารถสู้กับ 2 ยักษ์ใหญ่ในวงการอย่าง Airbus และ Boeing ได้
จนบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่น ๆ ทยอยออกจากตลาด และหันไปให้ความสำคัญกับ “เครื่องบินทางการทหาร” ที่ตัวเองถนัดมากกว่า
รวมถึงเกิดการควบรวมกิจการ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันอยู่หลาย ๆ ครั้ง
เช่น McDonnell และ Douglas 2 บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา ที่ควบรวมกิจการกัน กลายเป็น McDonnell Douglas ในปี 1967
อย่างไรก็ตาม McDonnell Douglas ก็ถูก Boeing เข้าซื้อกิจการไปในที่สุด ในช่วงปี 1997
จนทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว ตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ถูกผูกขาดด้วยบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินเพียง 2 ราย คือ Airbus และ Boeing เท่านั้น..
อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คน อาจคุ้นเคยกับชื่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ที่ใช้สำหรับเส้นทางระยะใกล้ เช่น Embraer, Bombardier และ ATR ที่พอจะเห็นสายการบินต่าง ๆ เลือกใช้งานอยู่บ้าง
แต่ในความจริงแล้ว เคยมีการประเมินกันว่า ตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กนี้ มีส่วนแบ่งการตลาดที่เล็กมาก ซึ่งมีเพียงไม่ถึง 10% ของตลาดโดยรวมเท่านั้น
จึงไม่สามารถเปรียบเทียบ กับตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ได้เลย..
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ จะมีใครเข้ามาเป็น “ขั้วที่ 3” เพื่อแข่งขันกับ Airbus และ Boeing ได้หรือไม่ ?
แม้จะยังไม่มีใครรู้คำตอบ แต่ในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศ ก็มีโครงการพัฒนาเครื่องบินโดยสารเป็นของตัวเองเช่นกัน
โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีการพัฒนาเครื่องบินโดยสาร Comac C919 เพื่อลดการพึ่งพาการใช้เครื่องบินที่ผลิตจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ของกลุ่มสายการบินภายในประเทศ โดยมีรัฐบาลจีน เป็นผู้สนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า จีน จะเข้ามาเป็นคู่แข่งกับ Airbus และ Boeing ได้ในทันที
เพราะผู้บริหารของ Airbus คาดการณ์เอาไว้ว่า กว่าจีนจะเข้ามาเป็นคู่แข่งได้อย่างเต็มตัว อาจต้องใช้เวลามากถึง 10-20 ปีข้างหน้า
และ Airbus เอง ก็ยินดีที่จะมีการแข่งขันเกิดขึ้นในตลาด เพราะ Airbus ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการแข่งขัน กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่น ๆ เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีการจับตามองกันอีกด้วยว่า การมาของเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง อาจกลายเป็นตัว “เปลี่ยนเกม” ที่ทำให้คู่แข่งรายใหม่ ๆ ในตลาด เกิดขึ้นอีกครั้ง
แต่ก็อย่าลืมว่า เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะในอดีต Concorde เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ก็ไม่ได้อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เช่นกัน..
--------------------------------
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.