ร้านอีบุ๊ก Meb กับ Ookbee ใครขายดีกว่ากัน?

ร้านอีบุ๊ก Meb กับ Ookbee ใครขายดีกว่ากัน?

21 ก.พ. 2020
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2237 ที่มีการคิดค้นเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรก นับเป็นการปฏิวัติวงการหนังสือ
ซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งเข้าถึงยาก มีแต่คนรวยและชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะได้อ่าน
ตั้งแต่นั้นมา คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงหนังสือได้ และอยู่กับมันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 ได้เกิดการปฏิวัติวงการอีกครั้ง
เมื่อ Amazon ออกวางจำหน่าย Kindle และหนังสืออีบุ๊กถึง 90,000 เล่ม
“หนังสือหมื่นเล่มในกระเป๋าของคุณ”
เป็นการเปิดศักราชใหม่ จากหนังสือเป็นเล่ม สู่ตลาดหนังสือดิจิทัล
หลังจากนั้น ตลาดอีบุ๊ก ก็มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดทั่วโลก
ในขณะที่ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ หรือห้องสมุดกลับทยอยปิดตัวลง ดังเช่นในประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน
ตลาดอีบุ๊กทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.1% ซึ่งปี พ.ศ. 2560 มีมูลค่าตลาดรวม 760,000 ล้านบาท
และคาดว่าปี พ.ศ. 2565 จะกลายเป็น 1,080,000 ล้านบาท
โดยมี Amazon ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด
ส่วนในประเทศไทยก็เจริญรอยตามเทรนด์โลกนี้เช่นเดียวกัน
ซึ่งเจ้าตลาดแพลตฟอร์มอีบุ๊กในบ้านเราตอนนี้คือ Meb และ Ookbee
Meb ก่อตั้งโดยคุณกิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม และคุณรวิวร มะหะสิทธิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2554
คุณรวิวร จบวิศวะ จุฬาฯ แต่ด้วยความหลงใหลในหนังสือ
เขาเลยเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ของตัวเอง
จากประสบการณ์ในธุรกิจสำนักพิมพ์ ทำให้เขาเห็นข้อจำกัดหลายๆ อย่างในวงการ
เช่น ต้นทุนการพิมพ์, การสต๊อก, หน้าร้าน และกระบวนการจำหน่ายหนังสือ
พร้อมกับเห็นว่า เทรนด์หนังสือกำลังเปลี่ยนไป
จากกายภาพ กลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น
เลยมีความคิดอยากเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัตินี้
โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในวงการหนังสือ
และสร้างเป็นแอป Meb ขึ้นมา
ซึ่งไม่กี่ปีต่อมา ปี พ.ศ. 2557
บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ B2S และ OfficeMate
ก็ได้เข้ามาถือหุ้นบริษัท MEB เป็นจำนวน 75% คิดเป็นมูลค่า 52.5 ล้านบาท
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอป Meb ประมาณ 2 ล้านคน และแอปมีหนังสือวางขายกว่า 70,000 เล่ม
Ookbee ก่อตั้งโดยคุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2553
คุณณัฐวุฒิ หลังเรียนจบวิศวะที่ ม.เกษตรศาสตร์ ก็ได้เปิดบริษัทรับจ้างเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อว่า IT WORKS
แต่ด้วยการเข้ามาของ iPhone และ iPad
ทำให้ตลาดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนในเมืองไทยเริ่มคึกคัก
ซึ่งเขาก็ไม่พลาดเทรนด์ของตลาดนี้ โดยหันมารับจ้างเขียนแอปพลิเคชันให้บริษัทต่างๆ
แต่ในขณะเดียว เขาก็สังเกตเห็นว่า แอปอีบุ๊กในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ
จึงถือโอกาสบุกเบิกแอป Ookbee ขึ้นมา
ปัจจุบันแอป Ookbee มีผู้ใช้งานประมาณ 1.5 ล้านคน
แต่ถ้ารวมแพลตฟอร์มของบริษัท Ookbee U ด้วย อย่างธัญวลัย กับ Joylada จะมีผู้ใช้งาน 5 ล้านคน
ร่วมทุนกับ Tencent พัฒนาขึ้นมา ใครก็สามารถสร้างคอนเทนต์ได้ (User Generated Content) ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน, เพลง, ความคิดเห็น, เรื่องราว และนิยายของตัวเอง ซึ่งได้
แล้ว Meb กับ Ookbee ใครรายได้มากกว่ากัน ?
บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ปี 2561 รายได้ 315 ล้านบาท กำไร 62 ล้านบาท
บริษัท อุ๊คบี จำกัด (ขายอีบุ๊ก)
ปี 2561 รายได้ 164 ล้านบาท กำไร 9 ล้านบาท
บริษัท อุ๊คบี ยู จำกัด (แพลตฟอร์ม User Generated Content)
ปี 2561 รายได้ 212 ล้านบาท ขาดทุน 179 ล้านบาท
แล้วแนวโน้มตลาดอีบุ๊กในเมืองไทยเป็นอย่างไร?
คำตอบคือ มีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก
ปัจจุบันภาพรวมตลาดอีบุ๊กเมืองไทย มีมูลค่าประมาณ 600-700 ล้านบาท
ส่วนตลาดหนังสือรวมมีมูลค่า 20,000 ล้านบาท
หรืออีบุ๊กคิดเป็นเพียงประมาณ 3% เท่านั้น
ในขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ตลาดอีบุ๊กคิดเป็นประมาณ 20% ของตลาดหนังสือ..
อย่างไรก็ตาม ตลาดอีบุ๊กในเมืองไทย ต้องปลดล็อกการเติบโต
ด้วยการแก้ปัญหาเรื่อง “ความหลากหลาย” และ “ราคา” เสียก่อน
อย่างที่รู้กัน หนังสือออกใหม่ และ Bestseller ฉบับภาษาไทย
สำนักพิมพ์มักออกอีบุ๊กช้ากว่าหนังสือเล่ม หรืออาจไม่วางขายแบบอีบุ๊กเลย
เพราะกลัวว่าหนังสือเล่มจะขายไม่ออก หรือขายได้น้อยลง
หนังสือที่คนอยากอ่านก็ไม่มีแบบอีบุ๊กขาย ต้องซื้อเป็นเล่มอย่างเดียว..
ตลาดจึงปราศจากความหลากหลาย ซึ่งอีบุ๊กที่วางขายส่วนใหญ่ก็เป็นหมวดนิยาย
นอกจากนี้ ราคาที่วางขายแบบอีบุ๊กกับเป็นเล่ม ก็พอๆ กันกับหนังสือจริง
ทำให้รู้สึกว่า ซื้อหนังสือเป็นเล่ม สามารถจับต้องและสะสมได้จะคุ้มกว่า
เรื่องทั้งหมดนี้ เลยทำให้การซื้อ อีบุ๊ก น่าสนใจน้อยกว่า หนังสือเป็นเล่มๆ สำหรับบางคน
แต่ถ้าต่อไป ตลาดอีบุ๊กเมืองไทย มีความพร้อมและแก้ปัญหาได้เหมือนอย่างในตลาดต่างประเทศ
มีหนังสือใหม่ๆ ดีๆ จำนวนมากวางขายในรูปอีบุ๊ก
และราคาขาย ถูกกว่าหนังสือเป็นเล่มอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากจะทำให้ Meb กับ Ookbee โตระเบิด
ผู้บริโภคจำนวนมากก็จะได้ประโยชน์ไม่แพ้กัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.