พริกไทย “ตรามือที่ 1” รายได้เผ็ดร้อนแค่ไหน ?

พริกไทย “ตรามือที่ 1” รายได้เผ็ดร้อนแค่ไหน ?

26 ก.พ. 2020
“พริกไทย” ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ราชาแห่งเครื่องเทศ
ด้วยรสชาติที่เผ็ดร้อน และกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์
นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว พริกไทย ยังมาพร้อมสารพัดสรรพคุณ
พริกไทย นิยมนำไปโรยใส่ สเต๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด อาหารจำพวกแกง
จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องเทศสำคัญ ที่ต้องมีติดไว้ในครัว หรือตามร้านอาหาร
แล้วเคยสงสัยบ้างไหม พริกไทยแบรนด์ไหน เป็นเจ้าตลาดราชาเครื่องเทศนี้ ?
ในตลาดพริกไทย มีอยู่ไม่กี่แบรนด์ที่ทำธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราว ก่อตั้งเป็นบริษัทใหญ่ๆ ได้
ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่คนติดใจ และพูดถึงมากที่สุดคือ “ตรามือที่ 1 ”
จริงๆ แล้ว ผู้สร้างแบรนด์ พริกไทยตรามือที่ 1 หรือ
คุณอาจจิตต์ ลิ้มประนะ เคยค้าขายยาเส้นมาก่อน
ตระกูลลิ้มประนะ เป็นชาวจีนอพยพมาจากซัวเถา
ซึ่งพ่อของคุณอาจจิตต์ ประกอบอาชีพขายยาเส้นแถวสะพานหัน
และเขา ก็ได้เจริญรอยตามอาชีพค้ายาเส้นตามที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม เส้นทางอาชีพนี้ของเขาต้องจบลง
หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกิจการยาเส้นเริ่มซบเซา
เนื่องจากมีต่างชาติเข้ามาขายบุหรี่ และมีการก่อตั้งโรงงานยาสูบในเมืองไทยขึ้น
คุณอาจจิตต์ ได้เปลี่ยนอาชีพไปค้าขายเครื่องเย็บปักถักร้อยอยู่พักหนึ่ง
ก่อนจะเจอเส้นทางที่เหมือนโชคชะตา
ในขณะที่เขาเดินเล่นแถวทรงวาด ซึ่งเป็นศูนย์รวมสินค้าเกษตร
ก็ได้สังเกตว่า ในตอนนั้นมีแต่คนซื้อพริกไทยเม็ด เพื่อนำไปบดเองที่บ้าน
แต่ยังไม่มีใครทำพริกไทยบดสำเร็จรูปขายเลย
เขาจึงเกิดไอเดีย แบ่งขายพริกไทยเป็นซองๆ
หน้าวัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกร) ย่านเยาวราช
โดยเอาเม็ดพริกไทย ไปบดกับเครื่องบดหินโชว์สดๆ ให้คนเดินผ่านไปมาได้เห็น
เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเห็นถึงกระบวนการทำ และบรรจุพริกไทย
และมั่นใจว่าสิ่งที่ซื้อไป เป็นพริกไทยแท้ 100%
พอขายพริกไทยไปสักพัก เริ่มมีฐานลูกค้า และเงินเก็บ
ปี พ.ศ. 2497 คุณอาจจิตต์ ก็ได้ซื้อห้องแถวเล็กๆ ในตรอกอิสรานุภาพ ย่านเยาวราช
เพิ่อเปิดเป็นร้านของตัวเอง
และตั้งชื่อร้านว่า “ง่วนสูน” ซึ่งหมายถึง เจริญรุ่งเรืองไปทีละขั้น
พร้อมกับนำชื่อไปจดทะเบียนการค้า โดยเติมคำว่า “ตรามือที่ 1” เข้าไปด้วย
ซึ่งในสมัยก่อน สินค้าไหนมีคุณภาพ คนก็จะชูนิ้วโป้ง ยกย่องว่าเป็นสินค้าชั้นเยี่ยม
นั่นเลยเป็นแรงบันดาลใจและที่มาของโลโก้แบรนด์ ตรามือที่ 1
หลังจากมีหน้าร้านแล้ว กิจการพริกไทยก็เติบโตขึ้นไปอีก
ผ่านไปไม่กี่เดือน ร้านก็ผลิตพริกไทยไม่พอขาย
เลยนำเงินไปลงทุนสร้างโรงงานบดพริกไทยเล็กๆ
เมื่อเปิดโรงงาน ผลิตได้มากขึ้น ขายได้มากขึ้น
ก็นำเงินไปขยายโรงงานให้ใหญ่ขึ้นอีก และจ้างพนักงานเพิ่ม
เป็นวงจรรุ่งเรืองไม่รู้จบ
จากพื้นที่โรงงาน 1 ไร่ จนขยายเป็นโรงงาน 10 ไร่
จากพนักงาน 3-4 คน ปัจจุบันมีคนงานหลายร้อยคน
เมื่อสินค้า และแบรนด์เริ่มติดตลาดและเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
ปี พ.ศ. 2520 คุณวิโรจน์ สกุลบุญราศี ลูกชายคนโต ที่เข้ามาดูแลกิจการต่อ
ก็ได้หาลู่ทาง บุกเบิกตลาดต่างประเทศ
ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด บางกอกชิลลี่ เพื่อดำเนินกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ตรามือที่ 1
โดยส่งออกไป ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดแรก
ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
บริษัท อาจจิตต์อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็พเพอร์แอนด์สไปซ์ จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 361 ล้านบาท กำไร 9 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 380 ล้านบาท กำไร 26 ล้านบาท
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บางกอกชิลลี่
ปี 2560 มีรายได้ 45 ล้านบาท กำไร 0.7 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 39 ล้านบาท ขาดทุน 0.3 ล้านบาท
โดยบริษัทมีเครื่องเทศจำหน่ายกว่า 200 ชนิด ภายใต้แบรนด์ "ง่วนสูน ตรามือที่ 1"
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่แบรนด์รุ่นเก๋าส่วนใหญ่มักเจอ
คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ซึ่งทำให้ ง่วนสูน ตรามือที่ 1 ถูกมองว่าเป็นแบรนด์โบราณ
ดังนั้น เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้เข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
บริษัทจึงได้แตกแบรนด์ใหม่ “Spice Story”
ร้านอาหารและเครื่องเทศสมัยใหม่
เอาใจคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการทำอาหาร และสนใจเครื่องเทศแปลกๆ
ในส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องเทศที่ขายภายในร้าน
จะมีเครื่องเทศจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 500 ชนิด
ซึ่งมาพร้อมบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ง่ายต่อการใช้และพกพา
รวมถึงมีการนำเอาเครื่องเทศแต่ละชนิด มาผสมกันเป็น “Mixed Spices” ชุดเครื่องเทศพร้อมปรุง
เช่น ผงผัดไทย, ผงหมักเนื้อ, เครื่องเทศปรุงต้มยำ, ผงหมักหมูแดง
ในส่วนร้านอาหาร จะเน้นชู “เครื่องเทศ” เป็นส่วนผสมหลักในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว หรือของหวาน
เช่น ก๋วยเตี๋ยวเป็ดพะโล้ตุ๋น, ปอเปี๊ยะทอด, ไอศกรีมมนต์พริกไทย, ไอศกรีมพริกขี้หนูหิมะ
บริษัท สไปซ์ สตอรี่ จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 28 ล้านบาท กำไร 8 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 44 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
ถึงแม้ตลาดพริกไทย จะไม่ได้ใหญ่เหมือนอย่างตลาดอื่นๆ
แต่เรื่องนี้ก็มีข้อดี เพราะคนอื่นๆ จะไม่ค่อยอยากเข้ามาร่วมเล่นเกมธุรกิจด้วย
ดังนั้น ถ้าเราเจอช่องทางธุรกิจ ที่ตลาดยังเล็กและยังไม่มีใครสนใจ
มันก็อาจเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีกว่า
การไปสู้รบเพื่อแย่งชิงแผ่นดินใหญ่ กับใครหลายๆ คน ในสงคราม
ถึงเราไม่ได้เป็นเจ้าของอาณาจักรใหญ่
แต่การเป็นเจ้าของฟาร์มเล็กๆ ไม่ต้องแย่งชิงกับใคร
ก็อาจสบายใจกว่า..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.