ทำไม “Service Charge” เวลาไปทานอาหารที่ร้าน ถึงต้องเป็น 10%

ทำไม “Service Charge” เวลาไปทานอาหารที่ร้าน ถึงต้องเป็น 10%

4 พ.ค. 2023
เวลาไปทานอาหารที่ร้าน หลายคนน่าจะเคยโดนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จากค่าอาหารและเครื่องดื่ม
เช่น VAT ที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และ “Service Charge” ที่เป็นค่าบริการเพิ่มอีก 10% กันอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งในส่วนของ VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระในการจ่ายภาษีให้ผู้บริโภคได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว
ทำให้ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไหน ๆ อย่างน้อยก็ต้องมีการเก็บ VAT เพิ่มจากค่าอาหาร 7% เป็นเรื่องปกติ 
อยู่ที่ว่าร้านจะมีนโยบาย บวกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ตั้งแต่แรก ให้ผู้บริโภคได้เห็นในหน้าเมนูเลย (Including VAT) หรือค่อยบวกทีหลัง ตอนเช็กบิล (Excluding VAT)
แต่ในส่วนของ “Service Charge 10%” หลายคนก็ยังสงสัยว่า มันคือค่าอะไรกันแน่ ?
เพราะร้านอาหารบางร้าน ก็เลือกจะไม่เก็บค่าบริการตรงนี้ 
แต่ร้านอาหารบางร้าน กลับเลือกเก็บค่า Service Charge ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้มีบริการพิเศษกว่าร้านอื่น..
ความลับของตัวเลขท้ายใบเสร็จ มีที่มาอย่างไร 
และทำไม Service Charge ถึงต้องเป็น 10% ?
บทความนี้ MarketThink จะสรุปให้ฟัง
เรื่องของ Service Charge ในความหมายของใครหลายคน ดู ๆ แล้วจะคล้ายกับสิ่งที่เรียกว่า “ทิป” ที่คนมักจะมอบให้กัน เพื่อตอบแทนบริการดี ๆ จากพนักงาน
โดยจุดเริ่มต้นของการให้ทิปนั้น ต้องย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า มีที่มาจากชาวอังกฤษ
ที่ “ชนชั้นสูง” มอบของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่ “ชนชั้นที่ด้อยกว่า” ก่อนธรรมเนียมดังกล่าวจะเริ่มเผยแพร่ไปในประเทศอื่น ๆ 
จึงทำให้การให้ทิปนั้น จะมีมุมมองที่ค่อนข้างแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
บ้างก็มองเป็น “การดูถูก” บ้างก็มองเป็น “การแสดงน้ำใจ” ยกตัวอย่างเช่น
- ประเทศจีน ที่ไม่ยอมรับวัฒนธรรมการให้ทิป จนถึงขั้นมีการห้ามให้ทิปกับพนักงานเสิร์ฟ เพราะมองว่าเป็นการติดสินบน
- สหรัฐอเมริกา ที่มีการให้ทิปกันจนเป็นบรรทัดฐานของสังคมไปแล้ว จนเคยมีการประเมินว่า ปีหนึ่งธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา มีรายได้จากทิปอย่างเดียวรวมกันถึง 1,370,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
- ญี่ปุ่น มองว่าการให้ทิปเหมือนเป็นการ “ดูถูก” ว่าบริการไม่ดี จนต้องจ่ายเงินเพิ่ม..
ส่วนประเทศไทยของเรา แม้จะยังไม่มีธรรมเนียมที่แน่ชัดว่า
ตกลงเราควรให้ทิปกับพนักงานเสิร์ฟหรือเปล่า 
และถ้าให้ ควรให้เท่าไร หรือให้กี่เปอร์เซ็นต์ ?
เรื่องนี้ ถึงแม้จะไม่ได้มีกฎหมายกำหนดเป็นตัวเลขตายตัว 
แต่ถ้าอ้างอิงตาม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ให้ความเห็นว่า
ร้านอาหาร สามารถเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ เช่น เติมน้ำ, เก็บโต๊ะ และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จากลูกค้าได้ ในรูปแบบของ “Service Charge”
แต่จะมีเพดานคือ ไม่เกิน 10% จากค่าอาหาร
ซึ่งหากเรียกเก็บเกินกว่านี้ อาจเข้าข่ายคิดค่าบริการสูงเกินควร และมีโทษทางกฎหมาย
ที่ต้องเป็นตัวเลข 10% ก็มีเหตุผลคือ เพราะเป็นอัตราที่มีความสากล และผู้บริโภคส่วนใหญ่รับได้
ดังนั้นหลาย ๆ ร้านอาหารที่ตั้งใจจะเรียกเก็บค่า Service Charge ไหน ๆ ก็เก็บทั้งที จึงคิดอัตราเต็ม Max ที่ 10% 
พอมีร้านอาหารเก็บในอัตรานี้ตาม ๆ กัน และผู้บริโภคในประเทศไทย เคยชินกับตัวเลขนี้
ทำให้การเก็บค่า Service Charge ในอัตรา 10% นั้นกลายเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของร้านอาหารในไทยไปแล้ว..
อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารที่คิดค่า Service Charge ร้านนั้น ๆ ต้องสื่อสารกับลูกค้าให้ชัดเจนว่า จะมีการเก็บค่า Service Charge
เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจง่ายขึ้นว่า จะใช้บริการร้านดังกล่าวหรือไม่ นั่นเอง..
และหากสื่อสารไม่ชัดเจน หรือไม่ครบถ้วน ผู้บริโภคก็สามารถปฏิเสธการเรียกเก็บค่า Service Charge จากร้านได้
โดยร้านที่เก็บค่า Service Charge ก็จะมีข้อดีคือ เจ้าของธุรกิจ จะมีตัวช่วยในการแบ่งเบาเรื่องของค่าจ้างพนักงาน ที่เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของธุรกิจประเภทร้านอาหาร
แถมยังเป็นการส่งเสริมให้พนักงานรู้สึกมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการมากขึ้น 
ทำให้พนักงานมีแนวโน้มในการให้บริการลูกค้าดีขึ้นอีกด้วย
รวมถึง Service Charge อาจช่วยเพิ่มกำไรให้กับร้านอาหารได้ เพื่อนำไปขยายธุรกิจและพัฒนาร้านต่อไป
แต่จะมีข้อเสียคือ จะทำให้ราคาสุทธิ ที่ลูกค้าต้องจ่ายสูงขึ้น 
และร้านอาจเสียเปรียบในการแข่งขันเรื่องราคา นั่นเอง
ดังนั้นหลายร้านที่เก็บค่า Service Charge ก็มักจะใช้กลยุทธ์บอกราคา โดยการแสดงราคาในเมนูอาหาร ที่ไม่รวมค่า Service Charge เพื่อให้ราคาดูไม่สูงจนเกินไป  
แต่บางทีวิธีนี้ ก็อาจทำให้ลูกค้าบางคนรู้สึกไม่ดี ที่ต้องจ่ายแพงขึ้น ตอนเห็นบิล..
พอเป็นแบบนี้ มันจึงอธิบายได้อีกว่า ทำไมร้านอาหารบางร้าน ถึงเลือกที่จะเก็บค่า Service Charge
แต่บางร้าน ถึงเลือกที่จะไม่เก็บค่า Service Charge ทั้ง ๆ ที่บริการอาจไม่ต่างกัน นั่นเอง
สุดท้ายนี้ เรื่องของค่าบริการ ก็ค่อนข้างจะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล
เพราะถ้าร้านไหนบริการดี เหมาะสมกับการเก็บค่า Service Charge แล้วทำให้ลูกค้ารับรู้ได้ว่า ควรค่ากับเงินที่จ่ายไป
ธุรกิจนั้นก็มีแนวโน้มที่จะสดใสในระยะยาว
ส่วนร้านไหนมีบริการไม่เหมาะสม ก็ไม่แปลกเลย ที่ลูกค้าจะไม่ค่อยกลับไปใช้บริการ เพราะรู้สึกไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปนั่นเอง.. 
--------------------------
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดีๆ มากมาย
ให้คุณได้เพลิดเพลินทั้ง ช้อป กิน เที่ยว
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ 
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ >> http://www.specialoffers.jcb/th/promotion/japan_contents_of_ASEAN/
ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่ 
Facebook : @JCBThailand 
LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBThailand #JCBCard
#JCBOwnHappinessOwnStory
#อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
--------------------------
อ้างอิง: 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.