รู้จักกับ User Generated Content กลยุทธ์ที่มีส่วนช่วยให้ ก้าวไกล “ชนะ” การเลือกตั้ง

รู้จักกับ User Generated Content กลยุทธ์ที่มีส่วนช่วยให้ ก้าวไกล “ชนะ” การเลือกตั้ง

15 พ.ค. 2023
ในวันนี้ เราได้เห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแล้วว่า พรรคก้าวไกล ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร เป็นอันดับ 1
คำถามที่เกิดขึ้นคือ พรรคก้าวไกล ทำได้อย่างไร และมีกลยุทธ์การ “หาเสียง” ในรูปแบบใด จึงครองใจประชาชน ได้มากขนาดนี้
นอกเหนือจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น นโยบาย จุดยืนของพรรค รวมถึงตัวบุคคลอย่างคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า พรรคก้าวไกล เป็นพรรคการเมืองที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองการปกครองหลาย ๆ คน ยกให้เป็น พรรคการเมืองแบบ “สตาร์ตอัป”
นั่นหมายความว่า กลยุทธ์การหาเสียง ของพรรคก้าวไกล ย่อมมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เป็นพรรคการเมืองแบบดั้งเดิม อย่างแน่นอน
และต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกล มีฐานเสียงเป็น “คนรุ่นใหม่” เป็นส่วนใหญ่
นั่นทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ เรามักเห็น “คอนเทนต์” ที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลเป็นจำนวนมาก อยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ตามความนิยมในการบริโภคสื่อ ของคนกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ที่เราเห็นกันบนโลกออนไลน์ ไม่ใช่คอนเทนต์ที่ทำโดยพรรคก้าวไกลทั้งหมด เพราะยังมีคอนเทนต์ที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล เป็นคนทำขึ้นมาเอง อีกด้วย
ซึ่งคอนเทนต์ในรูปแบบนี้ เราเรียกกันว่า User Generated Content หรือเรียกสั้น ๆ ว่า UGC
ที่สำคัญคือ คอนเทนต์ UGC ที่ว่านี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยสร้างกระแส และการรับรู้ให้กับพรรคก้าวไกล จนนำไปสู่คะแนนเสียงที่พรรคก้าวไกลได้รับอย่างมหาศาล
ก่อนอื่น ต้องขอพาไปทำความรู้จักกันก่อนว่า User Generated Content หรือ UGC คืออะไร ?
ในทางการตลาด UGC ก็คือ คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นโดย “ผู้บริโภค” ที่ชื่นชอบในสินค้าหรือบริการใด ๆ 
เป็นคอนเทนต์จากผู้ใช้จริง ไม่ใช่การทำคอนเทนต์โดยอินฟลูเอนเซอร์ ที่ได้รับเงินจากการจ้างทำคอนเทนต์
ซึ่ง UGC ที่เราเห็นกัน ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการ “รีวิว” ไม่ว่าจะเป็นการทำคลิปวิดีโอ การเขียนบล็อก การแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียล และการบอกต่อ ที่เกิดจากความประทับใจ ในสินค้าหรือบริการของแบรนด์
ซึ่งแน่นอนว่า UGC ที่เราเห็นกัน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเจ้าของคอนเทนต์ ไม่ใช่ลูกค้าที่ “รัก” ในแบรนด์นั้น ๆ
ส่วนในกรณีของพรรคก้าวไกลนั้น ด้วยความที่เป็น “สตาร์ตอัป” ทางการเมือง จึงไม่ได้มีงบประมาณในการทำแคมเปญหาเสียงที่มากนัก จึงต้องอาศัยคอนเทนต์ UGC จากกลุ่มผู้สนับสนุน
ซึ่งคอนเทนต์ UGC ที่เราได้เห็นจากกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล ยกตัวอย่างเช่น
การเริ่มต้นทำคอนเทนต์ของคุณไอซ์ รักชนก ศรีนอก ว่าที่ สส. เขตเลือกตั้งที่ 28 ของกรุงเทพฯ
ที่เคยลงรูปภาพของตัวเธอเอง ยืนถือกระดาษ A4 เปล่า ๆ 1 แผ่น พร้อมกับระบุข้อความว่า ให้ช่วยกันใส่ข้อความเพื่อแนะนำตัวให้เธอ
ทำให้กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล นำรูปภาพดังกล่าว ไปตัดต่อ เพื่อใส่ข้อความเชียร์พรรคก้าวไกลกันเป็นจำนวนมาก
หรือบางข้อความก็ไม่ได้เป็นการสนับสนุนพรรคก้าวไกลโดยตรง แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ ก็คือ “กระแส” ที่ทำให้คนทั่วไป หันมารู้จักกับคุณไอซ์ ในการเลือกตั้งครั้งนี้มากยิ่งขึ้น
หรืออย่างในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งราว 1-2 สัปดาห์ เราได้เห็นกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล สร้างคอนเทนต์ UGC กันเป็นจำนวนมาก
จนผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระบุว่า คนเหล่านี้ เป็นหัวคะแนนแบบ Organic ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคอื่น ๆ ไม่มี
ไม่ว่าจะเป็น การทำคอนเทนต์โดยใช้ฟิลเตอร์ใน TikTok ที่สุ่มรูปภาพของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ไปพร้อม ๆ กับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแต่งหน้า
หากทำการแต่งหน้าเสร็จที่รูปภาพของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนไหน คนคนนั้นก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
และเมื่อสุ่มได้รูปภาพของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะหยุดทำการแต่งหน้าทันที แม้ว่าในความจริง ยังแต่งหน้าไม่เสร็จแต่อย่างใด
หรือแม้แต่การที่คนในโลกโซเชียล ลงรูปภาพ และคลิปวิดีโอ ที่ระบุถึงการสนับสนุนพรรคก้าวไกล ด้วยการแสดงให้เห็นถึง “สีส้ม” ซึ่งเป็นสีของพรรคก้าวไกล
ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อ กางเกง กระโปรง รองเท้า ที่คาดผม และกิ๊บติดผม ที่มีสีส้ม
หรือการทำคอนเทนต์คลิปวิดีโอ การเดินในลักษณะ “ก้าวขายาว ๆ” เพื่อสื่อถึงการเลือกพรรคก้าวไกล เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ก็คือตัวอย่างของ User Generated Content (UGC) ที่เราพบเห็นกันได้เป็นจำนวนมากในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วง “โค้งสุดท้าย” ก่อนการเลือกตั้ง ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า UGC ได้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่มีส่วนช่วยให้พรรคก้าวไกล ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้
และอาจทำให้ประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในวัย 42 ปี เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีอายุน้อยที่สุด ในรอบกว่า 70 ปี..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.