Priceza สตาร์ตอัปไทย ช่วยเปรียบเทียบราคา

Priceza สตาร์ตอัปไทย ช่วยเปรียบเทียบราคา

1 มี.ค. 2020
อินเทอร์เน็ต สมาร์ตโฟน และอีคอมเมิร์ซ
ได้กระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรม “การชอปปิงออนไลน์”
ตอนนี้ เรามีห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือตลาดแลกเปลี่ยน
ที่ใหญ่และครบเครื่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์
ซึ่งสถานที่นั้นอยู่บนอินเทอร์เน็ต..
เมื่อตลาดใหญ่ ทั้งท่วมท้นไปด้วยร้านค้าจำนวนมาก และสินค้านับไม่ถ้วน
หนึ่งใน Pain Point ที่หลายคนเคยประสบเจอ เวลาจะซื้ออะไรสักอย่างคือ
ไม่รู้ว่าเว็บไซต์ หรือร้านค้าไหน ขายสินค้านั้นราคาถูกที่สุด
คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา, วัชระ นิวาตพันธ์ุ และวิโรจน์ สุภาดุลย์
เพื่อนร่วมชั้นในสาขาวิศวะคอม จุฬาฯ
พวกเขาได้เล็งเห็นถึงปัญหา และโอกาสทางธุรกิจนี้ก่อนใคร
และได้บุกเบิกเป็นสตาร์ตอัป Priceza ขึ้น
Priceza เป็นแพลตฟอร์มช่วยค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย
ให้บริการทั้งรูปแบบเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน
คนทั่วไปอาจเคยเข้าไปเยี่ยมชมแพลตฟอร์มนี้
อย่างตอนเวลาค้นหาสินค้าสักอย่าง ว่าราคาเท่าไรบน Google เช่น ราคารองเท้า Nike รุ่น xx
ซึ่งหนึ่งในเว็บไซต์ที่โพล่ขึ้นมา ก็คือ Priceza
จุดเริ่มต้นของ Priceza เกิดจากผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คน
พวกเขามองว่าในประเทศที่ตลาดอีคอมเมิร์ซนำหน้าไปไกล เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น
ต่างมีเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาอยู่ ต่างจากประเทศไทย ที่ยังไม่มีเลย
เลยอยากนำความรู้ที่เรียนมา ต่อยอดเป็นธุรกิจ
สร้างเป็นศูนย์รวมร้านค้า ที่ให้ผู้ซื้อเข้าไปค้นหา เช็กราคา และเลือกซื้อสินค้า
ในตอนนั้น ต่างคนต่างมีงานประจำทำ
จึงนัดกันตอนเย็น มาประชุม และแบ่งงานกันทำ
ที่ร้านอาหาร Bug & Bee สีลม หรือร้าน Starbucks ซอยคอนแวนต์
โดยปกติจะคุยยาวตั้งแต่หนึ่งทุ่ม ถึง สี-ห้าทุ่ม
ด้วยความไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจ
จึงคิดว่าถ้าอยากให้เว็บไซต์คนชอบเยอะๆ
ก็ต้องใส่ฟีเจอร์เยอะๆ ตามไปด้วย เน้นเยอะไว้ก่อน คือสิ่งที่ดี
ซึ่งกว่าโปรเจ็กนี้จะเสร็จ ก็กินเวลาไป 2 ปี
และเกิดเป็นเว็บไซต์ที่ชื่อ Shopsanova.com
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ที่เปิดตัว ปรากฎว่าระบบไม่เสถียรอย่างที่คิด
เว็บไซต์ไม่สามารถรองรับผู้ใช้ได้จำนวนมาก
นอกจากนี้ ต่างคนต่างสมัครเรียน ปริญญาโท
โดยคุณธนาวัฒน์ เรียนการตลาดที่ ธรรมศาสตร์
ส่วนคุณวัชระ และวิโรจน์ เรียน MBA ที่จุฬาฯ
ทั้งงานประจำ ทั้งเรียนต่อ เลยทำให้พวกเขาไม่มีเวลาให้ธุรกิจ
เว็บไซต์จึงไม่โตเติบอย่างที่หวัง..
พอเรียนจบ พวกเขาก็คุยกันว่า จะเอาอย่างไรกันต่อกับเว็บนี้
ซึ่งสรุปว่า ตัดสินใจปิดเว็บไซต์ และเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ใหม่
โดยเอาประสบการณ์ที่ผิดพลาดในครั้งก่อน มาเรียนรู้
และนำความรู้ด้านการตลาด ด้านบริหารที่เรียน มาปรับปรุงต่อยอดธุรกิจ
คอนเซ็ปต์ของเว็บไซต์ใหม่นี้คือ ไม่เน้นฟีเจอร์เยอะๆ
แต่จะเน้นผลิตภัณฑ์หรือฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริงๆ
อย่างเช่น ความง่ายของการใช้งาน การค้นหาและเปรียบเทียบราคาที่รวดเร็ว เป็นต้น
ซึ่งเว็บไซต์ใหม่นั่นคือ “Priceza.com” ได้เปิดตัวปี พ.ศ. 2553
เมื่อโมเดลธุรกิจถูกต้อง มีการทำตลาดที่ถูกทาง
พร้อมกับลงมือทำอย่างทุ่มเท
ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือ บรรลุความฝัน..
เพียงปีเดียว Priceza มีคนเข้าเว็บไซต์ 1 ล้านคนต่อเดือน
และปีต่อมา เพิ่มเป็น 2 ล้านคนต่อเดือน
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Priceza มีจำนวนผู้เข้าชมกว่า 14 ล้านคนต่อเดือน
และให้บริการใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 49 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 72 ล้านบาท
ประโยชน์ของ Priceza ที่มีต่อผู้บริโภคหรือผู้ซื้อคือ
ช่วยให้นักชอปปิงทั้งหลายสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างชาญฉลาดที่สุด
ผ่านข้อมูลเปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ จากร้านค้าออนไลน์ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งเงิน และเวลา
ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้ซื้อเจอร้านที่ถูกใจ
ก็จะคลิกต่อไปที่ร้านค้านั้นๆ เพื่อสั่งซื้อ
เป็นการสร้างโอกาสให้ร้านค้าเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมากได้ในแพลตฟอร์ม
บนแพลตฟอร์ม Priceza มีสินค้าประมาณ 60 ล้านรายการ
ครอบคลุม ตั้งแต่สินค้าแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน กีฬา สัตว์เลี้ยง ของสะสม สุขภาพและความงาม
โดยแบ่งเป็นสินค้าในประเทศ 42% และสินค้าจากต่างประเทศ 58%
นอกจากนี้ Priceza จะขยายไปสู่บริการอื่น เช่น Priceza Money
บริการค้นหา เปรียบเทียบ และสมัครใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ไม่ว่าจะเป็น ประกันภัยรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด บัตรผ่อนสินค้า และประกันการเดินทาง
ซึ่งร่วมมือกับสถาบันการเงินจำนวนมาก
และปัจจุบันมีแผนประกันให้เปรียบเทียบกว่า 1.5 ล้านแผนประกัน
ถ้าถามว่า อะไรคือ ปัจจัยความสำเร็จของ Priceza
คำตอบ คือ “การเข้าใจผู้ใช้งาน”
เข้าใจว่าผู้ใช้งานต้องการความง่าย การเปรียบเทียบที่รวดเร็ว และตรงที่ต้องการ
ถ้าธุรกิจเข้าใจตรงนี้ แล้วมุ่งเน้นพัฒนาจุดนั้นให้แข็ง
คุณค่าที่แท้จริงของธุรกิจก็จะถูกปลดปล่อย
และส่งผ่านไปยังลูกค้า และสังคม
ซึ่งสุดท้ายแล้ว คุณค่านั้นก็จะย้อนกลับมาหาตัวเราอีกครั้ง เหมือนอย่าง Priceza..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.