คุยกับแม่ทัพใหญ่ “พฤกษา” กับแนวคิดให้ทุนสนับสนุน “ธุรกิจเพื่อสังคม” แบบให้เปล่า ทำแล้วจะได้อะไร ?

คุยกับแม่ทัพใหญ่ “พฤกษา” กับแนวคิดให้ทุนสนับสนุน “ธุรกิจเพื่อสังคม” แบบให้เปล่า ทำแล้วจะได้อะไร ?

17 พ.ค. 2023
คงเป็นเรื่องแปลก ถ้าจู่ ๆ บอกว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้หันมาทำโรงพยาบาล และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 
แต่มันเกิดขึ้นแล้ว กับ “พฤกษา” ที่มีโรงพยาบาลวิมุต และแพลตฟอร์ม clickzy.com เป็นของตัวเอง
ที่น่าสนใจคือ พฤกษา ยังจริงจังกับการสนับสนุนกิจการภายนอก ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านโครงการ  Accelerate Impact with PRUKSA ด้วย
แล้วทำไม บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ถึงทำเรื่องที่ดูฉีกแนวไปจากเรื่องสร้างบ้าน ?
ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพฤกษา ที่ต้องการสร้างสังคมที่ “อยู่ดี มีสุข”
วันนี้ MarketThink ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
เพื่อถอดรหัสแนวคิดการสร้างสังคมที่ “อยู่ดี มีสุข” ว่าคืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับพฤกษา
และต่อยอดมาสู่โครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ได้อย่างไร ?
พฤกษา มองว่าต่อไปเทรนด์การอยู่อาศัย จะต้องไม่ใช่แค่พัฒนาโครงการบ้านให้สวยและมีคุณภาพเท่านั้น 
แต่ต้องเสริมสร้างการอยู่อาศัยของผู้คนให้ “อยู่ดี มีสุข (Live well Stay well)” พร้อมร่วมสร้างสรรค์ชุมชนให้ยั่งยืนด้วย     ​
จึงไม่ได้มุ่งเพียงการสร้างบ้าน แต่ต้องนำปัจจัยสุขต่าง ๆ มาเติมเต็มคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัย 
โดยนำบริการด้านต่าง ๆ เช่น เฮลท์แคร์ และอีคอมเมิร์ซ มายกระดับให้การอยู่อาศัยของลูกบ้าน สะดวกและง่ายขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถใช้เวลาในการแก้ปัญหาเรื่องการดูแลบ้าน “น้อยลง” แล้วเอาเวลาไปเพิ่มคุณค่ากับชีวิตตัวเอง
หรือพูดง่าย ๆ คือ พฤกษา กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์ จากผู้พัฒนาและขายบ้านมากว่า 30 ปี
มาเป็นผู้สร้าง “การอยู่อาศัย” ที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดัน เรื่องสุขภาพ การกินอยู่ การอยู่อาศัย และเรื่องวิถีชีวิต พร้อมกับการสร้างชุมชนที่แข็งแรง
ในขณะเดียวกัน คุณอุเทนได้เผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางพฤกษา และคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท 
ก็เล็งเห็นถึงปัญหาในสังคมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่เข้าไม่ถึงความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งเรื่องงาน รายได้ การศึกษา ฯลฯ
จึงบริจาคเงินให้สังคมทุก ๆ ปี เป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยสร้างโอกาสและความเท่าเทียม ส่งเสริมความแข็งแรงของสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม พบว่าจริง ๆ แล้ว การให้เงินอย่างเดียว อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน 
เลยมองหาวิธีการที่สร้าง Impact ต่อสังคมในแบบที่ยั่งยืนกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสนับสนุน “ธุรกิจเพื่อสังคม”
โดยนอกจากให้เงินบริจาคแล้ว ต้องสอนวิธีสร้างธุรกิจ สร้างกำไรด้วย 
เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่พึ่งพาเงินสนับสนุนเพียงอย่างเดียว
เพราะเมื่อธุรกิจเหล่านั้น สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง รู้จักหาแหล่งรายได้ และกำไรของตัวเองเป็น 
ก็จะทำให้กิจการมีความยั่งยืน และสามารถส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่สังคมได้แบบไม่รู้จบ
เรื่องทั้งหมดเลยเป็นแรงผลักดันให้ พฤกษา ริเริ่มโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA 
สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะช่วยแก้ปัญหาทางสังคม สร้างชุมชน และการอยู่อาศัยที่ดี ให้เกิดขึ้น
หรือก็คือ โครงการนี้ เป็นเหมือนจิกซอว์สำคัญอีกชิ้น ที่ช่วยให้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข” สมบูรณ์ขึ้น นั่นเอง
สำหรับโครงการ “Accelerate Impact with PRUKSA” คุณอุเทนย้ำว่า ​มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันธุรกิจที่มีโมเดลและเป้าหมายชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้, มีนวัตกรรมตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ
ด้วยการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า โดยให้ทีมละ 6 แสนบาท ซึ่งแต่ละทีมยังมีโอกาสได้รับเงินทุนเพิ่มเติมจาก “ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์” ของคุณทองมาด้วย
และไฮไลต์คือ นอกจากเงินทุนแล้ว พฤกษา ยังส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถไปขยายผลได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น
- การเข้าถึงเครื่องมือและทรัพยากร ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจ
- เข้าร่วมเวิร์กช็อปพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็น เพื่อพัฒนาศักยภาพ  
- มีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มาให้คำปรึกษา เช่น การตลาดออนไลน์ 
- คอนเน็กชันผู้ประกอบการและนักลงทุน ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ
โดยมีระยะเวลาโครงการคือ 6 เดือน ที่พฤกษา จะทำงานร่วมกับเหล่าธุรกิจเพื่อสังคม ที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งมีตั้งแต่เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, ทำการตลาด, ขยายเน็ตเวิร์ก, ช่วยออกแบบเว็บไซต์ใหม่ หรือคิด Business Model ใหม่ เป็นต้น
หลังจากเปิดตัวโครงการ “Accelerate Impact with PRUKSA” ซีซัน 1 เมื่อปีที่แล้ว 
ก็ได้เสียงตอบรับที่ดี จนมีผู้เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 70 ทีม 
ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ เป็นจำนวน 5 ทีม ได้แก่
- Happy Grocers​
- Buddy HomeCare​
- Local Alike
- Vulcan Coalition​
- findTEMP
แล้วอะไรคือเกณฑ์การตัดสินผู้เข้ารอบคัดเลือก ?
ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้เข้ารอบ ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย คนของพฤกษา และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ทางคณะกรรมการ ให้น้ำหนัก และใช้เป็นเกณฑ์ คือ
1) เรื่องของ Social Value หรือประโยชน์ทางสังคม ที่พฤกษา เห็นในบริษัทนั้น ๆ 
2) ความตั้งใจของทีมผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการสร้างคุณค่าเพื่อสังคมจริง ๆ ไม่ใช่มาเพื่อหากำไรอย่างเดียว  
3) เป็นธุรกิจที่ลงมือทำแล้ว มีผลิตภัณฑ์แล้ว แต่อาจติดเรื่องของเงินทุน เวลา คน หรือโมเดลธุรกิจ ที่ทำให้สเกลไม่ขึ้น ซึ่งทางพฤกษา มีความตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยขจัดอุปสรรคเหล่านี้
ซึ่งคุณอุเทน เปิดอกว่า จริง ๆ แล้ว อยากรับจำนวนทีมให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยความที่ทรัพยากร เช่น กำลังคนมีจำกัด  
ถ้าเอาเข้ามาเยอะ ก็จะซัปพอร์ตได้ไม่เต็มที่ ก็เลยรับจำนวนทีมเท่าที่ช่วยได้เต็มกำลังที่สุด
แล้ว 5 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือก จนได้เข้าร่วมโครงการ ทำธุรกิจอะไรบ้าง แล้วตอบโจทย์สังคมในจุดไหน ?
1) Happy Grocers : ร้านค้าออนไลน์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม Organic โดยตรง
โดยปกติแล้ว พืชผักและผลผลิตทางการเกษตรทั้งหลาย ที่เกษตรกรปลูก กว่าจะถึงมือผู้บริโภคนั้น จะต้องส่งขายไปยังพ่อค้าคนกลางก่อน ซึ่งขั้นตอนตรงนั้น เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์ เพราะถ้ามีการขยับราคา คนที่ได้คือพ่อค้า ไม่ใช่เกษตรกร
อีกทั้ง ​​เกษตรกรยังต้องรับความเสี่ยงในการปลูก ว่าจะได้ผลผลิตตามที่ต้องการหรือไม่ 
พวกเขาเลยหันไปใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเร่งโต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แถมตามมาด้วยปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะผู้บริโภคได้ของไม่ดี
Happy Grocers สร้างมาเพื่อแก้ Pain Point ในเรื่องนี้ ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมเกษตรกรรายย่อย กับผู้บริโภคโดยตรง และตัดพ่อค้าคนกลางออกไป
ซึ่งช่วยสร้างโอกาสให้เกษตรกรทั้งหลาย ไม่ถูกเอาเปรียบเรื่องราคา สร้างความยั่งยืนในอาชีพ
และผู้ซื้อยังได้รับความเป็นธรรมในด้านราคา
อีกทั้ง Happy Grocers ยังผลักดันเรื่อง Organic Farming เพื่อให้เกษตรกรเลิกการใช้สารเคมี 
สอดคล้องกับแนวคิด “อยู่ดี มีสุข” ของพฤกษา ที่ต้องการให้ผู้บริโภคได้บริโภคของมีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ
ที่ผ่านมา Happy Grocers ได้ช่วยเกษตรกรมากกว่า 100 ชีวิต ให้มีรายได้ที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
และพฤกษา เห็นความตั้งใจในการช่วยเหลือ​​เกษตรกร จาก Happy Grocers
จึงให้ทุนสนับสนุนเพื่อขยายธุรกิจ และเข้าไปช่วยเรื่องการดำเนินงานหลาย ๆ อย่าง
เช่น ช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ด้วยการดึง Happy Grocers เข้าไปทดลองขายในหมู่บ้านของพฤกษา ด้วยรถ Grocery Truck สำหรับทดลองตลาด
และขยายกลุ่มลูกค้า B2C โดยให้เป็นซัปพลายเออร์ ด้านผักออร์แกนิก ให้กับโรงพยาบาลวิมุต และร้านอาหาร
อีกทั้งพฤกษา และ Happy Grocers ยังได้ร่วมกันทำวิจัยตลาด เพื่อหาอินไซต์ของผู้บริโภค ว่ามีความต้องการและรสนิยมแบบไหน เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมความเป็นอยู่ของลูกค้า ได้ลึกซึ้งขึ้น และนำไปต่อยอดทางธุรกิจให้เกิดประโยชน์
อย่างเช่น ตอนไปทำ Survey ที่หมู่บ้าน ก็พบว่า เวลามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อของแม่บ้าน
เพราะจริงแล้ว ๆ แม่บ้านมักจะซื้อของชำหรือผักและผลไม้ ตอนหลัง 4 โมงเย็น
ต่างจากภาพจำเดิม ๆ ที่คิดว่า ปกติแม่บ้านต้องไปจับจ่ายที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ในตอนเช้า หลังส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จ
ดังนั้น ถ้ามีโอกาสเอา Happy Grocers เข้าไปขายในหมู่บ้าน เวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงหลัง 4 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่คนรับลูกกลับมาบ้านเสร็จ ก็สามารถมาเดินในหมู่บ้าน เพื่อซื้อผักและผลไม้ได้ 
กลับกัน ถ้าเปิดร้านขายก่อนช่วงเวลานี้ เช่น ก่อนเที่ยง ก็อาจไม่ค่อยมีคนมาเดินซื้อเท่าไรนัก
2) Buddy HomeCare : บริการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยเยาวชนยากจน ที่ได้รับทุนและการฝึกอบรม
คุณอุเทนชื่นชมว่า โมเดลธุรกิจของ Buddy HomeCare ดีต่อสังคมเป็นอย่างมาก เพราะได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสังคม ทั้งเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และผู้สูงอายุ ที่ไม่มีคนดูแล ไปพร้อม ๆ กัน
โดย Buddy HomeCare จะเปิดโอกาสให้เด็กชาวเขา หรือเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ขาดโอกาส 
ได้เข้ามาร่วมอบรม เพื่อฝึกการเป็น Caregiver หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ
แล้ว Buddy HomeCare ก็จะส่ง Caregiver ไปตามบ้านเพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งดูแลทั้งด้านสุขภาพ และการไปอยู่เป็นเพื่อน 
และ Caregiver ก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้ จากการดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ Buddy HomeCare ยังกำหนดให้ Caregiver แต่ละคน ต้องกันเวลาของตัวเองส่วนหนึ่ง ไปทำงานดูแลผู้สูงอายุ โดยไม่คิดเงินด้วย เพื่อเป็นการ Contribute เพื่อสังคม
สรุปแล้ว กิจการของ Buddy HomeCare จะช่วยให้เด็ก ๆ ชาวเขา มีรายได้ ได้รับทุนการศึกษา  
รวมถึงช่วยผู้สูงอายุ ทั้งที่มีกำลังจ่าย และผู้สูงอายุยากไร้ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ให้ได้รับการดูแล นั่นเอง
อย่างไรก็ดี โมเดลของ Buddy HomeCare ก็มีจุดอ่อนอยู่ 
เพราะการส่ง Caregiver ไปตามบ้านนั้น อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และมีต้นทุนสูง เนื่องจาก Caregiver 1 คน จะดูแลผู้สูงอายุได้เพียง 1 คนเท่านั้น
ดังนั้น พฤกษา เลยเข้าไปช่วยเปลี่ยนโมเดลของ Buddy HomeCare ด้วยการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
แทนที่จะฝึกอบรม Caregiver แล้วส่งไปตามบ้าน ก็จ้างงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ในศูนย์ดูแลฯ แทน
วิธีนี้จะทำให้ประสิทธิภาพของการให้บริการดีขึ้น จาก Caregiver ต้องดูแลสูงอายุแบบ 1 : 1 
ก็เพิ่มเป็นอัตรา 1 : 6
ซึ่งทำให้กิจการยั่งยืนกว่า เพราะสามารถมีกำไรได้ และพอมีกำไร ก็เอากลับไปส่งเสริมการฝึกอบรม Caregiver ได้มากขึ้น และขยายสาขาเพิ่มได้
อีกทั้งการทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ยังช่วยให้กิจการดูน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย เพราะมีสถานที่จับต้องได้จริง
นอกจากนี้ พฤกษา ยังเข้าไปช่วย Buddy HomeCare ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย 
เช่น ช่วยเพิ่มทักษะของ Caregiver โดยเอาคนของโรงพยาบาลวิมุต ไปช่วยสอนทักษะและเทคนิคการดูแล ว่าต้องทำอย่างไร และช่วยคิดแผนการตลาด  
3) Local Alike : กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องถิ่น
หลายคนคงรู้กันอยู่แล้ว ว่าประเทศไทยเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว มีสถานที่มากมายซึ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีพื้นที่อีกนับไม่ถ้วนที่ถูกลืม หรือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งที่ก็มีของดี ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส
ซึ่ง Local Alike เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และพยายามเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน แบบยั่งยืน
ด้วยการดึงศักยภาพของชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น แปลงสภาพเป็นจุดขาย
แล้วนำเสนอมุมมองการท่องเที่ยววิถีไทย ในแบบฉบับที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว
รวมถึงสร้างการตระหนักเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับชุมชน​
ทั้งนี้ โมเดลของ Local Alike จะเป็นการขายแพ็กเกจทัวร์บนเว็บไซต์ 
โดยแบ่งรายได้ส่วนใหญ่ให้กับชุมชนนั้น ๆ 
จึงเป็นการช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้กับชุมชน นั่นเอง
ซึ่งสิ่งที่ พฤกษา เข้าไปช่วยธุรกิจของ Local Alike อย่างแรกเลยคือ ช่วยออกแบบเว็บไซต์ใหม่ ให้มีความสวยงาม ดูง่าย และน่าเข้าใช้งานมากขึ้น เพราะเว็บไซต์เดิมยังทำได้ไม่ค่อยดี
อีกทั้งช่วยขยายตลาด ด้วยการหันมาจับกลุ่มลูกค้า B2B เช่น บริษัทต่าง ๆ 
และช่วยทำการตลาด โดยดึงอินฟลูเอนเซอร์ในต่างประเทศ ที่ผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มาเป็น KOL ให้
4) Vulcan Coalition​ : ผู้ให้บริการด้าน AI Technology Driven by Disabilities
เป็นสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี ที่ขับเคลื่อนด้วยผู้พิการ 
เพื่อส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล และยกระดับการจ้างงานให้กับกลุ่มคนพิการ
เช่น พัฒนาระบบ Chatbot โดยให้ผู้พิการมาช่วยพัฒนาความฉลาดของระบบ และอบรมให้สามารถตอบคำถามและทำงานในตำแหน่ง Live Agent​ ได้ ซึ่งช่วยให้เกิดการจ้างงานผู้พิการกว่า 200 คน  ​
5) findTEMP : แพลตฟอร์มจัดหาพนักงานพาร์ตไทม์ สำหรับผู้ประกอบการ
findTEMP เป็นแพลตฟอร์มบริการพนักงานพาร์ตไทม์ ที่ส่งตรงถึงร้านอาหาร คลังสินค้า โรงแรม และ Catering
ซึ่งช่วยแก้ Pain Point ของผู้ประกอบการ ในการขาดแคลนพนักงาน และกำลังมองหาแหล่งพนักงานพาร์ตไทม์ที่มีคุณภาพ
จึงช่วยให้ผู้ประกอบการ ลดต้นทุนทางธุรกิจ ลดขั้นตอนการสรรหาและอบรม
ในอีกด้าน แพลตฟอร์มนี้ ยังตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่มองหางานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงต้องการประสบการณ์การทำงานใหม่ ๆ
ที่ผ่านมา findTEMP ได้ช่วย Reskill อบรมพนักงานมากกว่า 14,000 คน 
ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 220,000 ครั้ง และช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ มากกว่า 500 ราย​
ทั้งหมดนี้คือ 5 ธุรกิจเพื่อสังคม จากโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 1 
ถึงแม้แต่ละธุรกิจ จะมีโมเดลที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกทีมมีเหมือนกัน ก็คือ ความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสังคม และผู้ที่ต้องการโอกาส
ซึ่งเป็นอีกพลังที่จะช่วยสร้างสังคมที่ “อยู่ดี มีสุข” อย่างที่พฤกษาต้องการให้เกิดขึ้น
แน่นอนว่า โครงการดี ๆ แบบนี้ ที่มีส่วนช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ต่อชุมชน 
ทางพฤกษา ก็ต้องการให้มีการทำอย่างต่อเนื่อง 
จึงได้เตรียมทำโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 2
โดยรายละเอียดของโครงการ ซีซัน 2 ต้องรอติดตามอีกครั้ง
สุดท้ายนี้ คุณอุเทน อยากฝากถึง คนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือคนที่สนใจเข้าร่วมโครงการว่า
อยากให้มีความมุ่งมั่น ทุกคนที่ทำสตาร์ตอัป ทำธุรกิจ ต้องมีปัญหาหมด 
ปัญหาอาจเป็นจากทรัพยากรภายใน หรือความท้าทายภายนอก หรือโมเดลธุรกิจ
แต่ขอให้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ถ้าเราต้องการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม 
จงยึดแนวคิด แนวปฏิบัติการทำธุรกิจแบบนั้นเอาไว้ อย่าไปยอมแพ้
ติดปัญหาอะไร ก็เข้ามาปรึกษาคนของพฤกษา คนของโรงพยาบาลวิมุตได้
ถ้ามีอะไรให้ช่วยเหลือได้ เราก็อยากช่วย เพื่อให้เขาสานฝันของเขาต่อได้สำเร็จ ในการสร้างคุณค่าให้สังคม
นอกจากนี้ สิ่งที่เราทำอยู่ ก็อยากให้บริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยเห็น 
เพราะถ้ามีหลาย ๆ บริษัท หันมาสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น
สังคมเรา ก็อาจมีโอกาสที่จะน่าอยู่มากขึ้นด้วย 
ก็หวังว่าเรื่องนี้ จะสามารถส่งต่อได้อีก..
-------------------------------
อ้างอิง : สัมภาษณ์พิเศษ คุณอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.