ทำงานสายไหน เสี่ยงตกงาน เพราะ AI มากที่สุด ?

ทำงานสายไหน เสี่ยงตกงาน เพราะ AI มากที่สุด ?

20 พ.ค. 2023
เทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นแนวคิดที่ถูกคิดค้นขึ้นมานานกว่า 67 ปีแล้ว และได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ
แต่การมาของ ChatGPT ซึ่งเป็น Generative AI กลายเป็นตัวเร่งสำคัญ และคลื่นลูกใหญ่ 
ที่ทำให้คนทั่วโลก ได้เห็นศักยภาพของเทคโนโลยี AI ในมุมมองที่กว้างกว่าเดิม
และความสามารถที่ว่านี้ ทำให้เราเริ่มกลับมาจริงจังกับคำถามที่ว่า AI จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์
จนคนจำนวนมาก ต้อง “ตกงาน” กันอย่างมหาศาล ในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่..
แล้วใครจะได้รับผลกระทบบ้าง ?
คำถามเหล่านี้ กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก 
จนบริษัทชั้นนำหลายแห่ง พยายามทำการศึกษา เพื่อค้นหาผลกระทบ ทางด้านเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ที่อาจเกิดขึ้น จากการใช้เทคโนโลยี AI ในการทำงานแทนคน
ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ทำการศึกษาที่ว่านี้ ก็คือ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษา และพบว่า
หาก AI สามารถทำงานได้ดี อย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลต่อการจ้างงานเป็นอย่างมาก..
โดย 2 ใน 3 ของตำแหน่งงานในยุโรป และสหรัฐอเมริกา อยู่ในความเสี่ยง ที่ AI จะสามารถเข้ามาทำงานบางส่วนแทนได้
เช่นเดียวกันกับการศึกษาของ OpenAI ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนา ChatGPT ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ของสหรัฐอเมริกา
ที่พบว่า จะมีตำแหน่งงานในสหรัฐอเมริกา กว่า 80% ที่ ChatGPT หรือ AI ตัวอื่นซึ่งมีลักษณะเดียวกัน สามารถทำงานแทนได้ อย่างน้อย 10%
ในขณะที่อีก 20% ที่เหลือ ChatGPT จะเข้ามาทำงานแทนได้มากถึง 50%
โดยตำแหน่งงานที่อยู่ในความเสี่ยง ที่ AI จะทำงาน “ส่วนใหญ่” แทนคนได้ ก็จะมี..
- นักคณิตศาสตร์
- นักวางแผนด้านภาษี
- นักวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงิน
- นักเขียน
- นักออกแบบเว็บไซต์
- นักแปลภาษา
- นักวิจัยเชิงสำรวจ
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์
- นักสัตวศาสตร์
จะเห็นว่า สายงานที่ได้รับผลกระทบ จากการมาของเทคโนโลยี AI ก็มีตั้งแต่คนที่ทำงานในสายการเงิน การธนาคาร สายงานสื่อ สายภาษา เป็นต้น
สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้ Forbes เคยคาดการณ์ไว้ว่า สายงานด้านการเงิน และการธนาคาร จะได้รับผลกระทบจากการมาของเทคโนโลยี AI มากที่สุด
เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารและสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง เริ่มมีการนำ AI มาใช้ในการทำงานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการ ที่ธนาคารกว่า 52% ให้ข้อมูลว่า ได้นำ AI เข้ามาช่วยในการทำงานด้านนี้เรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่ Forbes ยกตัวอย่างคือ บางธนาคาร นำ AI มาใช้ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้คำแนะนำด้านการเงินกับลูกค้า
ส่วนอีกสายงานหนึ่ง ที่ Forbes มองว่าจะได้รับผลกระทบจาก AI ก็คือ สายงานสื่อ และการตลาด
ที่มีการคาดการณ์กันว่า ข่าวออนไลน์ที่เราอ่านกันกว่า 90% จะใช้ AI ในการเขียน ภายในเวลา 15 ปีข้างหน้านี้
แม้ระยะเวลา 15 ปี จะฟังดูเหมือน “ห่างไกล” จากปัจจุบัน
แต่ในความจริงแล้ว ในปัจจุบัน AI ก็เข้ามามีบทบาทกับวงการสื่ออยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ตัวอย่างเช่น BuzzFeed บริษัทสื่อรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มนำ ChatGPT มาใช้ในการช่วยคิดคอนเทนต์ และสร้างคำถาม (Quiz) ให้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านแต่ละคน
ส่วนสายงานด้านการตลาด ก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ไม่แพ้กัน
เพราะจากผลสำรวจของ Salesforce พบว่า นักการตลาด คิดที่จะนำ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน จาก 29% ในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 84% ในปี 2020
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีตำแหน่งงานที่ได้รับผลกระทบจาก AI ก็ต้องมีบางตำแหน่งงานเช่นเดียวกัน ที่ AI ยังไม่สามารถทำงานทดแทนคนได้
ผลการศึกษาจาก OpenAI ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พบว่า ตำแหน่งงานที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI น้อย 
ส่วนใหญ่แล้ว เป็นตำแหน่งงานในภาคการผลิต เครื่องจักรกล และภาคการเกษตร เป็นหลัก ซึ่งจะไม่ถูกแทนที่ด้วย AI ในเร็ว ๆ นี้
เพราะอาชีพเหล่านี้ ต้องอาศัยความสามารถ และความถนัดเฉพาะทาง ทั้งยังอาศัยการ “ลงแรง” ของคนเท่านั้น จึงได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ค่อนข้างจำกัด
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ หลาย ๆ คนอาจกังวลว่า AI จะเข้ามาแย่งงานคน ในเร็ววันนี้..
แต่จากการศึกษาของ Goldman Sachs ก็ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า
จากประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนา จนเกิดความเปลี่ยนแปลงไปกระทบกับตำแหน่งงานต่าง ๆ ในโลก
ในทุกครั้งที่ตำแหน่งงานใด ๆ หายไป เพราะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ก็จะมีการสร้างตำแหน่งงานอื่น ๆ ขึ้นมาทดแทน ในแทบทุกครั้ง..
และการมาของเทคโนโลยี AI ในครั้งนี้ ก็อาจกำลังซ้ำรอยเดิม ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ก็ต้องอย่าลืมว่า คนที่จะอยู่รอดได้ในยุค AI และโลกอนาคต
ก็คือ คนที่มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา..
------------------------
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.