รู้จัก เจนเซน หวง ผู้อพยพชาวไต้หวัน เคยใช้ชีวิตในไทย เป็นผู้ก่อตั้ง Nvidia บริษัทชิปมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

รู้จัก เจนเซน หวง ผู้อพยพชาวไต้หวัน เคยใช้ชีวิตในไทย เป็นผู้ก่อตั้ง Nvidia บริษัทชิปมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

6 มิ.ย. 2023
Nvidia คือชื่อบริษัทผู้ออกแบบและพัฒนา “ชิปเซต” ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชิปเซตที่อยู่ใน “การ์ดจอ” ที่ทำหน้าที่ประมวลผลด้านกราฟิก ให้กับคอมพิวเตอร์ และเครื่องเล่นเกมคอนโซลต่าง ๆ 
แต่ในวันนี้ ธุรกิจของ Nvidia ไปไกลกว่าการขายการ์ดจอ สำหรับเล่นเกม เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่ AI และ Cloud กำลังเฟื่องฟู
เพราะชิปเซตของ Nvidia กลายเป็นหัวใจสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังการประมวลผล ใน Data Center ที่ทั้ง AI และ Cloud จำเป็นต้องใช้
ทำให้ล่าสุด Nvidia กลายเป็นบริษัทเพียงไม่กี่แห่งบนโลก ที่มีมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34 ล้านล้านบาท) สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และหากใครจินตนาการไม่ออก ว่า Nvidia ใหญ่แค่ไหน ก็ต้องบอกว่า Nvidia เป็นบริษัทที่มีมูลค่าเป็นรองเพียง Apple, Microsoft, Saudi Aramco, Alphabet และ Amazon เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ Nvidia จะเป็นบริษัทที่ “ประสบความสำเร็จ” มากขนาดนี้ แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คน อาจยังไม่รู้จักบุคคลที่เป็นผู้ก่อตั้งของ Nvidia กันเท่าไรนัก
ในบทความนี้ MarketThink จะขอพาไปทำความรู้จักกับเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ ของ “เจนเซน หวง” ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ที่บุกเบิก และเป็นหัวเรือใหญ่ ของ Nvidia นับตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ จนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามหาศาล แบบในทุกวันนี้
เจนเซน หวง เป็นชาวเมืองไถหนาน ของไต้หวัน เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1963 ปัจจุบันมีอายุ 60 ปี
แม้ว่า เจนเซน จะมีไต้หวันเป็นบ้านเกิด แต่เขาและครอบครัว ก็เคยอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ในช่วงเวลาหนึ่ง
แต่ด้วยความที่ในขณะนั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง และสงครามเวียดนามที่กำลังคุกรุ่น 
ทำให้พ่อแม่ของเจนเซน จำเป็นต้องตัดสินใจส่งเจนเซน ในวัย 9 ขวบ พร้อมกับพี่น้องคนอื่น ๆ ไปยังสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งมีลุงและป้าของเขา อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่นก่อนหน้านั้น
แม้สหรัฐอเมริกา จะเป็นดินแดนแห่ง “โอกาส” ที่ผู้อพยพจำนวนมากใฝ่ฝัน แต่ชีวิตในช่วงแรก ๆ ของเจนเซน กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
เพราะลุงและป้าของเจนเซน ส่งเขาไปเรียนในโรงเรียนปรับพฤติกรรม สำหรับเด็กที่มีปัญหา ด้วยความไม่ตั้งใจ แทนที่จะเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กทั่ว ๆ ไป 
ทำให้เจนเซน มีปัญหาด้านการปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ เป็นอย่างมาก เพราะภายในโรงเรียนแห่งนี้ เต็มไปด้วยเด็ก ๆ ที่ใช้ความรุนแรง ถึงขนาดที่เจนเซนเล่าว่า เด็กบางคนพกมีดไว้ในกระเป๋า 
แต่โชคดีที่เจนเซน เป็นเด็กที่แข็งแกร่งมากพอ ที่จะผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นไปได้
หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้น เจนเซนก็ได้ย้ายไปเรียนมัธยมปลาย และได้ไปอยู่กับพ่อแม่อีกครั้ง ที่รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา
รวมถึงทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านอาหารสำหรับครอบครัว ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ ที่มีชื่อว่า Denny’s อีกด้วย
ก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ Oregon State University ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จนกระทั่งจบการศึกษาในปี 1984
ซึ่งในช่วงเวลาที่เขาเรียนจบนั้น เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ถูกจังหวะอย่างพอดิบพอดี เพราะโลกเพิ่งจะก้าวเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) 
ทำให้เจนเซน เริ่มทำงานที่แรก ที่ AMD ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปเซตชื่อดัง ในตำแหน่งวิศวกรออกแบบ Microprocessor อยู่ราว ๆ 2 ปี
ก่อนจะย้ายงาน ไปอยู่กับ LSI Logic บริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ ที่เขาได้ทำงานในหลายตำแหน่ง ตั้งแต่การตลาด วิศวกร ไปจนถึงผู้จัดการทั่วไป
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเจนเซน เกิดขึ้นในปี 1993 หลังจากทำงานกับ LSI Logic มานานหลายปี
ในปี 1993 เขากับเพื่อน ๆ อีก 2 คน คือ Chris Malachowsky และ Curtis R. Priem อดีตพนักงานของบริษัท Sun Microsystems ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Nvidia ขึ้นมา ขณะกำลังพูดคุยกันอยู่ที่ร้าน Denny’s ที่เจนเซนเคยทำงานพาร์ตไทม์ในสมัยเรียนมัธยมปลาย
โดยใช้เงินลงทุนก้อนแรก 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 ล้านบาท) 
ซึ่งทั้ง 3 คน มีความเห็นตรงกันว่า Nvidia จะเป็นบริษัทที่พัฒนาชิปเซตประมวลผลกราฟิก ซึ่งกำลังมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครื่องเล่นเกมคอนโซล ในช่วงเวลานั้น
และโลกจะมีความต้องการอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมวลผลกราฟิกโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในช่วงแรก ๆ Nvidia ก็เป็นเหมือนธุรกิจสตาร์ตอัปทั่วไป ที่เช่าห้องเล็ก ๆ ไว้เป็นสำนักงาน ไม่มีแม้แต่เครื่องปรับอากาศ
แถมก่อนที่ Nvidia จะออกผลิตภัณฑ์รุ่นแรกของบริษัทได้ ในปี 1995 Nvidia ต้องประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่อง จนเกือบล้มละลายอยู่หลายครั้ง
แม้แต่แม่ของเจนเซน ยังไม่เห็นด้วยที่ลูกชายของตัวเอง ลาออกจากงานมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง และบอกให้ลูกชาย กลับไปหางานทำ
อย่างไรก็ตาม Nvidia ก็รอดพ้นจากอุปสรรคมาได้ทุกครั้ง และค่อย ๆ ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ได้ในปี 1999 หรือหลังก่อตั้งบริษัทเพียง 6 ปี
และที่สำคัญที่สุดคือ Nvidia กลายเป็นบริษัทที่มีชื่อชั้น ในแวดวงชิปเซต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การ์ดจอ”
และหากตัดภาพมาที่ปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่ Nvidia มีอายุครบ 30 ปี และเจนเซน มีอายุครบ 60 ปี 
Nvidia กลายเป็นบริษัทผู้พัฒนาชิปเซต ที่ก้าวข้ามจากชิปเซตที่อยู่แค่ในกลุ่มการ์ดจอ สำหรับนักเล่นเกม ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพราะในปัจจุบัน สิ่งที่ Nvidia ทำ มีความหลากหลายกว่านั้นมาก
ซึ่งหากเจาะลึกไปที่สัดส่วนรายได้ของ Nvidia ในปัจจุบัน จะพบว่า 
Nvidia มีรายได้จากธุรกิจ Data Center มากถึง 60% ของรายได้ทั้งหมด
ตามมาด้วย รายได้จากธุรกิจเกม ในสัดส่วน 32% 
รายได้จากธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับ Metaverse ในสัดส่วน 4%
และรายได้จากธุรกิจชิปเซตสำหรับรถยนต์ ในสัดส่วนอีก 4%
ซึ่งจากสัดส่วนรายได้ข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า Nvidia มีบทบาทหลัก ๆ คือ การเป็นผู้พัฒนาชิปเซตสำหรับ Data Center ที่อยู่เบื้องหลังการประมวลผลของ AI และ Cloud ที่กำลังมีความต้องการอย่างมหาศาล ในตอนนี้และอนาคต 
หรือเรียกได้อีกอย่างว่า AI และ Cloud ได้นำพา Nvidia ไปสู่ “ยุคทอง ยุคใหม่” นั่นเอง
และนี่ก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจทั้งหมดของ เจนเซน หวง ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ ของ Nvidia อีกบริษัทในประวัติศาสตร์ ที่สามารถมีมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34 ล้านล้านบาท) ได้สำเร็จ
โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นชาวไต้หวัน ที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก่อนที่จะอพยพย้ายถิ่นฐาน ไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และสร้าง Nvidia บริษัทผู้พัฒนาชิปเซต แนวหน้าของโลก.. 
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.