SIP แบรนด์น้องใหม่ ในเครือ Swensen's การจับตลาดใหม่ ที่ไม่ใช่ไอศกรีม

SIP แบรนด์น้องใหม่ ในเครือ Swensen's การจับตลาดใหม่ ที่ไม่ใช่ไอศกรีม

16 มิ.ย. 2023
ในมุมของการทำแบรนด์ Swensen's นับว่าเป็นแบรนด์ไอศกรีม ที่อยู่ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ขั้น “อิ่มตัว (Maturity)” แล้ว
เพราะปัจจุบัน Swensen's ทำธุรกิจในประเทศไทยมานาน 37 ปี เริ่มต้นจากไอศกรีมซันเดย์ ขยายไลน์เมนูสู่บิงซู และกาแฟร้อน รวมถึงมีสาขาทั้งหมด 330 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ซึ่งต่อให้ขยายสาขา และเพิ่มเมนูเฉพาะฤดูกาล (Seasonal Menu) ถี่ขึ้นเท่าไร การเติบโตก็จะยังคงอยู่ในระดับคงที่ ไม่หวือหวา
ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ คือการ “คิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ” หรือ “แตกแบรนด์ใหม่” นั่นเอง
โดยโมเดลธุรกิจใหม่ Swensen's ได้เปิดตัว Region Flagship Store สาขาที่ 6 เป็นที่เรียบร้อย
และล่าสุด ก็ได้มีการแตกแบรนด์น้องใหม่ นั่นคือ “SIP” แบรนด์เครื่องดื่ม ที่ชูจุดเด่นด้วยท็อปปิง “ครีมไข่ (Egg Cream)”
ซึ่งแบรนด์ SIP เป็นแบรนด์ใหม่ ในเครือ Swensen's ที่ได้ทดลองตลาดจริง ด้วยการสร้าง Pop-Up Store สาขาแรก ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว โซนร้านอาหารชั้น 4
คุณอนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
กว่าจะมาเป็นแบรนด์ SIP นั้นค่อนข้างมีความท้าทาย เพราะใช้เวลาในการหาไอเดียตั้งต้นและพัฒนาสูตรนานถึง 8 เดือน
ในช่วงแรก เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า กลุ่มตลาดไหน ที่เราควรจะลงไปเล่น ?
เรามองว่าตลาดเครื่องดื่มที่เป็นร้าน มันมาแล้วหายไป แต่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน จะเป็นแบรนด์พรีเมียมซะส่วนใหญ่
และเหตุผลที่เลือกลงมาเล่นในตลาดเครื่องดื่ม ก็เพราะว่ากินได้ทุกวัน ต่างจากไอศกรีม ที่อาจจะกินได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
แต่โจทย์ที่สำคัญที่สุด คือ จะหาจุดให้แปลกใหม่และแตกต่าง อย่างไร ?
เราเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปหาแรงบันดาลใจ และมองหาซิกเนเชอร์อะไรสักอย่าง เพื่อให้แผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) กลับมาต่อยอด
สิ่งที่เราไปเจอ แล้วคิดว่ามีความน่าสนใจ คือ 
โดยปกติแล้ว วัฒนธรรมการกินกาแฟของคนเวียดนามจะทานคู่กับไข่ ทำให้ผิวสัมผัสของกาแฟ มีความเข้มข้นไม่เหมือนใคร
พอได้ไอเดียตั้งต้นแล้ว จึงนำมาเป็นองค์ประกอบหลัก ในการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 
โดยได้ปรับให้ถูกจริตกับความชอบของคนไทย
นอกจากนั้น ยังกลับมาดูเมนูขายดีในไทย แล้วพบว่า
อันดับ 1 คือ เมนูที่มีเบสเป็น ชา
อันดับ 2 คือ เมนูที่มีเบสเป็น นม
อันดับ 3 คือ เมนูที่มีเบสเป็น กาแฟ
เราเลยสร้างเมนูทั้งหมด 28 เมนู ด้วยเมนูที่มีเบสเป็น ชาและนม ราคาเริ่มตั้นตั้งแต่ 99 ไปจนถึง 139 บาท
ซึ่ง “ครีมไข่ (Egg Cream)” จะเป็นซิกเนเชอร์ท็อปปิง ที่อยู่บนทุกเมนูของ SIP นั่นเอง
แบรนด์ SIP เริ่มต้นด้วยการทดลองตลาด ผ่าน Pop-Up Store สาขาแรก ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว
โดยจะเปิดให้บริการเป็นเวลา 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม
หากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ จะทำการขยายสาขาทั้งหมด 100 สาขาให้ได้ ภายในสิ้นปี 2566
แต่หากไม่สำเร็จ ก็จะยุบร้าน แล้วนำเมนูขายดีที่สุดของร้าน ไปบรรจุอยู่ในเมนูของ Swensen’s
คุณอนุพนธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า
การสำรวจ (Survey) เพื่อถามอินไซต์ของผู้บริโภค บางครั้งคำตอบที่ได้ อาจบิดเบือน เพราะผู้ตอบแบบสอบถามไม่ได้ลองชิม สัมผัส หรือมีประสบการณ์ร่วมกับสินค้านั้นจริง ๆ
แต่การทำรีเสิร์ชด้วยการทำร้าน Pop-Up Store จริง ลองจริง เจ็บจริง จะทำให้เราเจ็บตัวน้อยที่สุด
แล้วถ้าถามว่า ตัวชี้วัดไหน ที่บ่งบอกได้ว่า โมเดลนี้สำเร็จ ?
อย่างแรกคือ ยอดขายจะต้องได้ตามเป้า และลูกค้าต้องซื้อซ้ำ
จากกรณีศึกษานี้ ทำให้เราเห็นว่า ก่อนจะขยายธุรกิจให้มีหลายสาขา เราต้องทำยอดขายให้ได้ตามเป้าก่อน และสินค้าต้องถูกปากลูกค้า เพื่อให้เกิดการบอกต่อและกลับมาซื้อซ้ำ
ซึ่งคุณอนุพนธ์ มองว่า โลเกชันที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว น่าจะเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดี” เพราะมีทั้งทราฟิก และคนที่มีกำลังซื้อ เป็นจำนวนมาก
อ้างอิง:
-สัมภาษณ์โดยตรง กับคุณอนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.