กรณีศึกษา รถยนต์ MG ที่เติบโต แต่ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย

กรณีศึกษา รถยนต์ MG ที่เติบโต แต่ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย

14 มี.ค. 2020
ปี 2560 MG มียอดขาย 12,013 คัน
ปี 2561 MG มียอดขาย 23,740 คัน
ปี 2562 MG มียอดขาย 26,516 คัน
ในเวลา 2 ปี ยอดขายรถยนต์ MG เติบโตถึง 121%
และหากเราย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้วในวันที่รถ MG เปิดตัว MG 6 รถยนต์คันแรกในไทย
โดยบอกในโฆษณาว่าเป็น ยนตรกรรมสายพันธ์ุอังกฤษ
ซึ่งเป็นการนำจุดกำเนิดมาใช้เป็นจุดขาย เพราะหากย้อนอดีตไป 99 ปีที่แล้ว
บริษัทที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ MG คันแรกคือบริษัท เอ็มจี คาร์ คอมแพนี จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศอังกฤษ
แต่ด้วยประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องก็เปลี่ยนมือเจ้าของมาโดยตลอด
จนมาถึงในปี 2550 บริษัทจีน Nanjing Automobile Group ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น SAIC Motor
ได้เข้าซื้อกิจการพร้อมกับผลิตรถ MG ขายในจีนและในต่างประเทศ
เพราะฉะนั้น ณ วันนี้แบรนด์ MG ได้เปลี่ยนสัญชาติจากอังกฤษ
เป็นรถยนต์แบรนด์จีนอย่างเต็มตัว
ส่วนจุดกำเนิดในประเทศไทยก็คือบริษัท SAIC Motor ประกาศจับมือกับ CP
ร่วมทุนกันก่อตั้งบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เพื่อผลิตและขายรถยนต์ MG ในไทยและอาเซียน
โดยลงทุนถึง 9,000 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตที่จังหวัด ชลบุรี
โดยเปิดตัวรถยนต์คันแรกรุ่น MG 6 เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ที่มีราคาขาย 988,000 บาท
ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นราคาขายที่ใกล้เคียงกับแบรนด์ญี่ปุ่นในสเป็กรถที่ไล่เลี่ยกัน
ที่สำคัญการเป็นแบรนด์ใหม่ในตลาด คนยังไม่เชื่อมั่น ทำให้ยอดขายไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ซึ่งทั้งหมด MG ก็รู้ดีว่าเป็น “จุดอ่อน” ที่ทำให้ตัวเองล้มเหลวกับรถคันแรกในตลาด
การเพิ่มระยะเวลาประกันจาก 4 ปีเป็น 5 ปี
และใน 5 ปีเพิ่มศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่าย 140 แห่งทั่วประเทศ
เป็นกลวิธีที่ MG ใช้สร้างความเชื่อมั่นให้คนกล้าตัดสินใจซื้อรถตัวเอง
ขณะเดียวกัน MG ก็เลือกที่จะผลิตรถยนต์ที่ดีไซน์สปอร์ตโฉบเฉี่ยวเท่ๆ ที่มีราคาเข้าถึงมากขึ้น
ปี 2558 เปิดตัวรุ่น MG 3 ราคาเริ่มต้น 519,000 บาท
ปี 2560 เปิดตัวรุ่น MG ZS ราคาเริ่มต้น 679,000 บาท
ปี 2562 เปิดตัว MG HS ราคาเริ่มต้น 919,000 บาท
และเมื่อค่อยๆ ลบจุดอ่อนของตัวเอง MG ก็มียอดขายเติบโตต่อเนื่อง
มาถึงตรงนี้ ดูเหมือนเส้นทางบนถนนอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทยของ MG กำลังไปได้สวย
แต่รู้หรือไม่ว่า ก็ยังมีลูกค้าอีกจำนวนไม่น้อยที่คลางแคลงใจในมาตรฐานของ MG
เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้ใช้รถ MG จำนวนหนึ่งเกิดปัญหากับการใช้รถพร้อมโพสต์ลงในโลกออนไลน์
ซึ่งอย่าลืมว่าหากนิ่งเฉยและไม่แก้ไขสถานการณ์ให้หมดไปในเร็ววัน MG อาจต้องเจอปัญหาความศรัทธาของผู้บริโภค
เหมือนอย่าง เชฟโรเลต ที่ต้องเลิกผลิตรถที่นั่งเหลือแต่รถกระบะและรถ SUV
และสุดท้ายก็ต้องพบจุดจบเลิกผลิตและขายรถยนต์ในเมืองไทยไปในที่สุด
หรือแม้แต่ Ford ก็เคยเจอปัญหานี้จนลูกค้ารวมตัวกันฟ้องร้อง
สุดท้ายต้องเลิกขายรถรุ่น Fiesta และ Focus ไปในที่สุด
ซึ่งเราก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่า MG จะแก้ไขปัญหาที่ค้างคาเหล่านี้ได้ดีแค่ไหน
หากทำสำเร็จยอดขาย MG ก็น่าจะยังเติบโตต่อเนื่องทุกๆ ปี
แต่หากล้มเหลว.. ก็น่าเป็นห่วงอนาคต
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.