ในวันที่คนเดินทางมากขึ้น.. แต่ BAFS บริษัทเติมน้ำมันให้เครื่องบิน ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยง

ในวันที่คนเดินทางมากขึ้น.. แต่ BAFS บริษัทเติมน้ำมันให้เครื่องบิน ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยง

1 ส.ค. 2023
หากเราใช้รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ คนที่จะเติมน้ำมันให้เรา ก็คือสถานีบริการน้ำมันแบรนด์ต่าง ๆ เช่น PTT Station, PT หรือ บางจาก
แต่หากเป็นเครื่องบิน คนที่จะเติมน้ำมันให้เครื่องบินทุกลำ ที่ลงจอดที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ก็คือบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS
หรือถ้าพูดให้เข้าใจแบบง่าย ๆ BAFS ก็เปรียบเสมือน “เด็กปั๊ม” ของทุกสนามบิน นั่นเอง
เพราะลักษณะการทำธุรกิจของ BAFS จะเป็นแค่ “คนกลาง” ในการอำนวยความสะดวก การซื้อขายน้ำมันระหว่างบริษัทผู้ค้าน้ำมัน กับสายการบิน เท่านั้น
แล้วงบการเงินของ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างไร ?
ปี 2563 รายได้ 1,894 ล้านบาท ขาดทุน 374 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,679 ล้านบาท ขาดทุน 785 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 2,410 ล้านบาท ขาดทุน 281 ล้านบาท
จากตัวเลขจะเห็นว่า ธุรกิจเติมน้ำมันให้เครื่องบิน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในช่วงที่คาบเกี่ยวกับวิกฤติโรคระบาด เพราะหลายประเทศประกาศไม่ให้มีการเดินทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศ ด้วยเครื่องบินเป็นการชั่วคราว 
ทำให้ BAFS จากที่เคยเติมน้ำมันให้เครื่องบินได้ 800-900 ไฟลต์ต่อวัน ก็เหลือเพียงแค่ 10 ไฟลต์ต่อวัน..
แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยปี 2022 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยรวม 11,153,026 คน รวมถึงการเปิดประเทศของจีน ในช่วงต้นปี 2023 ก็ทำให้รายได้ของ BAFS ค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวและจำนวนไฟลต์บินจะเพิ่มขึ้น 
แต่ BAFS กลับมองว่า หากธุรกิจ โฟกัสไปที่การให้บริการเติมน้ำมันท่าอากาศยาน เพียงอย่าเดียว ก็อาจจะเสี่ยงเกินไป..
เพราะโครงสร้างรายได้หลัก ๆ BAFS ประกอบไปด้วย
1) รายได้ค่าบริการ จากการให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบิน 65.2%
2) รายได้การให้บริการ จากการขนส่งน้ำมันทางท่อ 25.7%
3) รายได้จากบริการธุรกิจ 0.1%
4) รายได้อื่น ๆ 9%
ปัจจุบันธุรกิจหลักของ BAFS จะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ
1) กลุ่มธุรกิจการบิน (Aviation) 
เป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท จากการให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบิน ประกอบไปด้วย 3 บริษัทย่อย
- บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จํากัด (TARCO) 
บริษัทย่อยที่ได้รับสิทธิขยายการลงทุน และดําเนินการโครงการให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณูภูมิ จาก ทอท.
- บริษัท บาฟส์ อินเทค จํากัด (BI) 
บริษัทย่อยที่ประกบอธุรกิจหลัก คือ การประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานไฟฟ้า สำหรับการส่งขายภายในและภายนอกประเทศ 
- บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด (GAA)
บริษัทย่อย ทำท่อขนส่งน้ำมัน ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ณ ท่าอากาศยาน นานาชาติอู่ตะเภา โดยจะเปิดให้บริการในต้นปี 2568
โดยปัจจุบัน BAFS มีบริการที่เกี่ยวข้องกับการเติมน้ำมันเครื่องบินแบบครบวงจร ใน 5 สนามบิน ได้แก่ 
สนามบินดอนเมือง
สนามบินสุวรรณภูมิ
สนามบินสมุย
สนามบินสุโขทัย
สนามบินตราด
2) กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงาน (Utilities & Power)
เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับบริษัทรองลงมา จากการขนส่งน้ำมันทางท่อ ประกอบไปด้วย 2 บริษัทย่อย
- บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) โดย BAFS ถือหุ้นใน บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด หรือ FPT อยู่ทั้งหมด 71%
โดยท่อส่งน้ำมันของ FPT มีความยาวมากถึง 576 กิโลเมตร
และเป็นท่อที่ต่อจากกรุงเทพมหานคร (อำเภอบางปะอิน) ไปยังจังหวัดลำปาง ภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นท่อส่งน้ำมัน ที่ยาวที่สุดในอาเซียนเลยทีเดียว
โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 FPT ได้ขนส่งน้ำมันไปแล้วกว่า 2,112 ล้านลิตร ซึ่งก่อนเกิดโรคระบาด เคยส่งน้ำมันได้สูงสูด 6,000 ล้านลิตร
นอกจากนั้น BAFS ยังทำธุรกิจพลังงานทดแทน ภายใต้บริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จํากัด (BC) อย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ที่ใช้ในพื้นที่สนามบินดอนเมือง อีกด้วย
3) กลุ่มธุรกิจด้านการบริหารจัดการ และบริการธุรกิจ (Business Solutions & Services) 
เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้บริษัทในสัดส่วนที่น้อยที่สุด แต่ หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่า 
เป็นธุรกิจที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ แต่ยังไม่ได้โฟกัสอย่างจริงจัง และมองว่าจะเป็นการกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจได้ดีอีกด้วย
ซึ่งลักษณะของธุรกิจดังกล่าว จะเป็นธุรกิจด้านการบริการดิจิทัลแบบครบวงจร ที่ครอบคลุม ด้านซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มสําหรับการบริหารภายในองค์กร (Corporate Workflow Management)  
เช่น การสรรหาบุคลากร การจ้างงานในพื้นที่ การบริหารงาน HR และงานเอกสาร งานดูแลระบบอาคารสำนักงาน และดิจิทัล โซลูชัน
โดยจะออกแบบให้บริษัทคนไทยเข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่แพงเท่ากับของต่างประเทศ
ส่วนในเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม ได้มีการวางแผนที่จะลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทำท่อขนส่งน้ำมัน  เป็นต้น ซึ่งจะอยู่ภายในงบลงทุน 10,000 ล้านบาท
โดยเป้าหมายรายได้ ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท
แบ่งเป็นโครงสร้างรายได้ ที่มาจาก
- ธุรกิจการบิน 50%
- ธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงาน 40%
- บริการภาคธุรกิจ 10%
สิ่งที่น่าสนใจ คือ การลงทุนของ BAFS ในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศมองโกเลีย
เหตุผลที่เลือกประเทศมองโกเลีย เพราะลักษณะภูมิอากาศมีแดดมากกว่า 300 วัน จึงเหมาะที่จะทำไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่น่าจับตามอง ในปี 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ยังมองว่า ท่าอากาศยานชีวภาพ จะเป็น “เทรนด์ของอนาคต”
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาจจะต้องใช้เวลา
เพราะสาเหตุที่ท่าอากาศยานชีวภาพยังไม่เกิด เพราะผลผลิต (Supply) ยังไม่มากพอ
แต่ความต้องการน้ำมันชีวภาพ (Demand) ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว เพราะมีกฏหมายบังคับใช้อย่างจริงจังว่า
ภายในปี 2050 ธุรกิจการบิน 65-70% จะต้องใช้น้ำมันชีวภาพ
รวมถึงในปี 2024 กระทรวงพลังงานจะเริ่มใช้กฏหมายในรูปแบบเดียวกัน และในปี 2027 ประเทศไทยจะถูกบังคับโดยองค์กรระหว่างประเทศ ให้เติมน้ำมันเครื่องบินด้วยน้ำมันชีวภาพ ซึ่งถ้าหากไม่ปฏิบัติตามกฏ ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มเติม
ทั้งหมดคือแนวคิดการทำธุรกิจของ BAFS ที่ยึดหลักการกระจายความเสี่ยง 
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า วิกฤติในวันข้างหน้า จะมีอะไรมาดิสรัปต์ธุรกิจของเราได้ เหมือนกับที่ผ่าน ๆ มาหรือเปล่า..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.