ครั้งหนึ่ง Isuzu เคยเอาดีเรื่องรถซิ่ง ก่อนผันตัวมาทำรถกระบะ

ครั้งหนึ่ง Isuzu เคยเอาดีเรื่องรถซิ่ง ก่อนผันตัวมาทำรถกระบะ

26 ส.ค. 2023
เชื่อไหมว่า Isuzu แบรนด์รถกระบะขวัญใจสายซิ่ง ครั้งหนึ่งก็เคยเอาดีเรื่องของรถสปอร์ต
ไปจนถึงรถซูเปอร์คาร์ ที่มีสมรรถนะสูงมาก่อน
แถมยังจริงจังถึงขนาดที่ว่า เคยขอไปผลิตเครื่องยนต์ให้แบรนด์รถซูเปอร์คาร์ อย่าง McLaren มาแล้ว..
แล้วเรื่องราวเป็นอย่างไร ทำไมอยู่ ๆ แบรนด์ที่ตั้งใจพัฒนารถไปจนถึงระดับซูเปอร์คาร์ 
ถึงกลายมาเป็น แบรนด์ที่มีภาพจำเป็นรถกระบะ เหมือนทุกวันนี้ได้ ?
บทความนี้ MarketThink จะสรุปให้ฟัง
ในช่วงเริ่มต้น Isuzu ก็ไม่ต่างจากแบรนด์รถยนต์ทั่วไป ที่ผลิตรถออกมาหลายประเภท 
ตั้งแต่รถเก๋ง ไปจนถึงรถบรรทุกเชิงพาณิชย์
แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ Isuzu เริ่มหันมาจริงจังกับรถยนต์สมรรถนะสูง
ก็มาจากการที่ GM ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 34%
นั่นทำให้ GM มีส่วนในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของบริษัทเป็นอย่างมาก
รวมไปถึงการพา Isuzu ไปจับมือกับ Lotus แบรนด์รถสปอร์ตจากอังกฤษ 
มาร่วมพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกวางจำหน่าย
ยกตัวอย่างก็เช่น Isuzu Gemini ในปี 1974 ที่ตัวรถจะมีการใส่ช่วงล่างของ Lotus ออกมาทำตลาดในหลายประเทศ รวมถึงตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา
ความร่วมมือของ Isuzu และ Lotus ฝันไกลไปถึงการพัฒนาเครื่องยนต์
เพื่อลงแข่งในรายการ F1 ที่เป็นเหมือนกับจุดสูงสุดของวงการมอเตอร์สปอร์ตในตอนนั้น
โดยตอนนั้น Isuzu ได้มีการพัฒนาเครื่อง V12 ขนาด 3.5 ลิตร รุ่น P799WE 
มาใส่ในรถของ Lotus รุ่น 102C
แต่ก็เหมือนว่าฝันของทั้งคู่ จะวิ่งไปถึงทางตัน เพราะเครื่องยนต์ของ Isuzu 
เมื่อนำไปทดสอบ กลับทำเวลาแพ้รถที่ใช้เครื่องยนต์จาก Honda มากถึง 6 วินาที
จน Lotus ตัดสินใจกลับรถ ไม่ไปต่อกับ Isuzu ในที่สุด..
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าเครื่องยนต์ของ Isuzu จะไม่ดี 
แต่แค่ตอนนั้นเครื่องยนต์ของ Honda มันโดดเด่นมากจริง ๆ
ซึ่งถ้าจะถามว่าโดดเด่นขนาดไหน ? ก็ขนาดที่ว่า McLaren แบรนด์ซูเปอร์คาร์ในฝันของใครหลายคน
ยังต้องขอให้ Honda มาช่วยพัฒนาเครื่องยนต์ให้เลยทีเดียว
แม้จะต้องแยกทางกับ Lotus แต่ความฝันของ Isuzu ในเส้นทาง F1 ยังต้องไปต่อ
ทำให้หลังจากรู้ข่าวว่า Honda ปฏิเสธจะไม่ผลิตเครื่องยนต์ให้ McLaren 
Isuzu จึงไม่รอช้า และเข้าไปขอผลิตเครื่องยนต์ให้ McLaren แทน Honda
ก่อนจะถูกปฏิเสธมาแบบเจ็บ ๆ ว่า 
“คนที่จะผลิตเครื่องยนต์ให้ McLaren ต้องมีชื่อเสียงในสนามแข่งเท่านั้น”
ก่อน McLaren จะหันไปเอาเครื่องยนต์ V12 ของ BMW มาใช้งานแทน
และทิ้งให้เส้นทางรถซิ่งของ Isuzu จบลงตั้งแต่ตอนนั้น..
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 1991 ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบกับวิกฤติด้านการเงินอยู่พอดี
ทำให้การจะฝืนสนับสนุนวงการมอเตอร์สปอร์ต ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงต่อไป
ก็ดูจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไรนัก
ประกอบกับตอนนั้นทาง GM ที่ถือหุ้นของ Isuzu อยู่ถึง 34% ก็ได้ออกมาบอก
ให้ Isuzu เลิกผลิตรถเก๋ง
เพราะถ้าพูดกันตามตรง รถเก๋งของ Isuzu นั้น ทำยอดขายไม่ค่อยดีเท่าที่ควร 
โดยรายได้ของบริษัท มีสัดส่วนมาจากรถเก๋ง เพียงแค่ 10% เท่านั้น
แถมทาง GM ก็ทำรถเก๋งขายเองอยู่แล้ว ดังนั้นเลิกทำไปดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาแย่งลูกค้ากันเอง
ส่งผลให้ Isuzu ต้องปรับตัวไปหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอด
ซึ่งก็คือตลาดรถกระบะ และรถยนต์ SUV ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงนั้นพอดี
ทำให้ตั้งแต่วันนั้น Isuzu กลายเป็นแบรนด์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของรถกระบะ, รถยนต์ SUV ไปจนถึงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง..
อ่านมาถึงตรงนี้ ขอปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
เชื่อไหมว่า ครั้งหนึ่ง Honda กับ Isuzu เคยทำข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนกัน
เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยนต์ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า OEM (Original Equipment Manufacturing)
พูดง่าย ๆ คือ แลกรถกันขาย
สำหรับตลาดประเทศไทย Isuzu ได้นำรถเก๋งของ Honda 
มาแปะแบรนด์ของตัวเอง แล้วขายในชื่อรุ่น Isuzu Vertex
ส่วน Honda เอง ก็เคยนำรถ SUV ของ Isuzu 
มาแปะแบรนด์ของตัวเอง แล้วขายในชื่อรุ่น Tourmaster เช่นกัน.. 
อ้างอิง: 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.