กรณีศึกษา SMOOTO ปรับมุมมองธุรกิจ สู่ครีมซอง 500 ล้าน

กรณีศึกษา SMOOTO ปรับมุมมองธุรกิจ สู่ครีมซอง 500 ล้าน

19 มี.ค. 2020
ถ้าใครนิยมซื้อของตามร้านสะดวกซื้อ จะพบสินค้าประเภทครีมซอง 
ซึ่งมีราคาไม่แพง วางขายอยู่เป็นจำนวนมาก
สกินแคร์หลายยี่ห้อมีราคาค่อนข้างสูง ปัจจัยหนึ่งมาจากรูปแบบ Packaging ที่หรูหรา
แต่การมี Packaging ที่หรูหราก็แฝงมาด้วยต้นทุนที่ไม่จำเป็น
หลายๆ แบรนด์จึงเลือกทำเป็นรูปแบบซอง เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่า Packaging แล้ว ยังสามารถวางขายได้ในราคาที่ไม่แพง ผู้บริโภคหยิบซื้อได้ง่าย
ซึ่งถ้าพูดถึงครีมซองแล้ว แบรนด์ที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือ SMOOTO แบรนด์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากการซื้อซ้ำและบอกต่อของผู้ใช้จริงและเหล่าบล็อกเกอร์ชื่อดัง ที่นอกจากปัจจุบันจะมีวางขายและเป็นที่นิยมในประเทศไทยแล้ว ยังมีส่งออกไป อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกงอีกด้วย
SMOOTO จึงถือเป็นกรณีศึกษาให้เราได้เป็นอย่างดี 
ว่าแบรนด์นี้มีอะไรดี ถึงยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ตลาดครีมซองในปัจจุบันจะมีผู้เล่นหลายเจ้า
เจ้าของสินค้า SMOOTO คือ บริษัท โกลบอล เมดดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด
มีจุดเริ่มต้นมาจากเภสัชกร 2 คน คือ เภสัชกรหญิง อัญชลี ชุติไพจิตร และ เภสัชกรหญิง นิษฐกานต์ ภัทรกานต์
ซึ่งก็แน่นอนว่า ด้วยพื้นฐานความเป็นเภสัชกร ก็ทำให้ทั้งคู่มีความรู้และประสบการณ์ทำงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยาและเครื่องสำอาง และยังมีประสบการณ์จากโรงงานผลิตยามา ก่อนที่จะออกมาทำแบรนด์ของตัวเอง
โดยตอนแรกได้เคยเสนอสกินแคร์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งมี Packaging สวยงาม เพื่อวางขายใน 7-11 ในราคาชิ้นละ 700 บาท แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากมีราคาแพงเกินไปสำหรับการวางขายในร้านสะดวกซื้อ
ผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คน จึงได้คิดแผนใหม่ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแบบครีมซอง เพื่อลดต้นทุนจากการทำ Packaging และนำเงินมาเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิตยา มาพัฒนาเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่มาจากสารสกัดจากธรรมชาติ เห็นผลได้จริงและปลอดภัยต่อลูกค้า
ซึ่งโรงงานผลิตนี้ ก็เป็นของ SMOOTO เอง ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าและกระบวนการผลิตเองได้ และยังเป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ที่ในปัจจุบันมีเพียงแค่ 200 แห่งในประเทศไทยเท่านั้น
โดยมีซีรีส์แรกเริ่มคือ SMOOTO ซีรีส์ผลไม้ ที่มีซองตัดเป็นรูปมะเขือเทศ และเลม่อน 
เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบสินค้าประเภทที่เป็นเหมือนซองเทสเตอร์ เพราะราคาไม่แพง ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก จึงทำให้สินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
นอกจากนี้ SMOOTO มีทีมเลือกเฟ้นหาเทรนด์สารสกัดใหม่ๆ มาทดลองหาผลลัพธ์ตลอด
โดยมีความได้เปรียบสำคัญคือ มีทีมเภสัชกรของตัวเองคอยค้นคว้าวิจัย และพัฒนาสูตร จนสามารถพัฒนาสินค้าออกมาเป็นซีรีส์ต่างๆ
ต่อมา SMOOTO เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากซีรีส์มะเขือเทศ ที่ 1 ซอง มีสารสกัดเทียบเท่ามะเขือเทศ 10 ลูก 
หลังจากนั้นก็เป็นซีรีส์ว่านหางจระเข้ ที่มีสารสกัดว่านหางจระเข้ 99.5% และตัวซองมีขนาดใหญ่บรรจุเยอะกว่าเดิม
พอคนซื้อไปทดลองใช้ได้ง่าย และใช้แล้วดี มีการรีวิวจากผู้ใช้จริงและกลุ่มบล็อกเกอร์ จึงทำให้เกิดการบอกต่อในโลกออนไลน์ 
รายได้และกำไรของ SMOOTO จึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
บริษัท โกลบอล เมดดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2559 รายได้ 350.9 ล้านบาท กำไร 14.3 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 417.5 ล้านบาท กำไร 19.9 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 515.8 ล้านบาท กำไร 30.1 ล้านบาท
การวิจัยและพัฒนาสินค้าของ SMOOTO ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินค้าใหม่เป็นกลุ่มซีรีส์ Vit-C และ Makeup ซอง
ทุกการดำเนินธุรกิจย่อมมีปัญหา
แต่สิ่งสำคัญคือ การเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค เข้าใจสินค้า และปรับเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหานั้นๆ
และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การเข้าใจว่าจุดแข็งของตัวเราเองคืออะไร
เหมือนอย่าง SMOOTO จากจุดเริ่มต้นที่มี Packaging เป็นปัญหา 
แต่ SMOOTO ก็ใช้ความถนัดและจุดเด่นเรื่องการค้นคว้าพัฒนาสูตร และมาตรฐานการผลิตแบบการผลิตยาที่ตัวเองมี
ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นข้อได้เปรียบ
และพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพมากที่สุด
เมื่อสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม
ถึงจุดนั้น ลูกค้าก็จะตามมาเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.