ไทยแอร์เอเชีย ผู้นำสายการบินต้นทุนต่ำ ก็เหนื่อยเหมือนกัน

ไทยแอร์เอเชีย ผู้นำสายการบินต้นทุนต่ำ ก็เหนื่อยเหมือนกัน

19 มี.ค. 2020
ปี พ.ศ. 2561 มูลค่า 29,800 ล้านบาท คือมูลค่าบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV
บริษัทแม่ของสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย”
แต่ตอนนี้มูลค่าของบริษัท คือ 5,000 ล้านบาท
ภายใน 2 ปีกว่าๆ มูลค่าบริษัทหายไปถึง 24,800 ล้านบาท หรือลดลง 83%
ซึ่งถ้านับเฉพาะต้นปี 2563 จนถึงวันนี้ มูลค่าบริษัทได้หายไปแล้วกว่า 54%
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสายการบิน เจ้าของสโลแกน
“ใคร ใคร… ก็บินได้” ?
บทความนี้จะขอแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ช่วงเวลา
ช่วงแรกคือ ก่อนต้นปีนี้ หรือก่อนเหตุการณ์ระบาดของโรค COVID-19
ช่วงที่สองคือ ปีนี้ ที่มีเหตุการณ์ COVID-19 และสงครามราคาน้ำมัน
อย่างที่รู้กัน ในธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำเมืองไทย
ไทยแอร์เอเชีย ถือว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้
ไม่ว่าจะเป็นด้านมูลค่าบริษัท
ด้านรายได้และกำไร
ด้านความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพบริการ
แต่ถึงจะเป็นผู้นำในตลาด ก็ต้องบอกว่า
ในช่วงที่ผ่านมาและตอนนี้ ไทยแอร์เอเชีย ก็เหนื่อยไม่แพ้เพื่อนๆ สายการบินอื่น
อันดับแรก มาประเมินสถานการณ์ในช่วงก่อนต้นปีนี้กัน
ลองมาดูสถิติจำนวนนักท่องเที่ยว และผู้โดยสารย้อนหลัง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย
ปี 2560 มีจำนวน 35.6 ล้านคน
ปี 2561 มีจำนวน 38.3 ล้านคน
ปี 2562 มีจำนวน 39.8 ล้านคน
จำนวนผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเชีย
ปี 2560 มีจำนวน 19.8 ล้านคน
ปี 2561 มีจำนวน 21.6 ล้านคน
ปี 2562 มีจำนวน 22.2 ล้านคน
จะเห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเชียที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ก็มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่ง
และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากคนในประเทศ ที่มีค่านิยมเดินทางด้วยเครื่องบินกันมากขึ้น
เมื่อจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น รายได้ค่าบริการ หรือตั๋วเครื่องบินก็ต้องเพิ่มเป็นเงาตามตัว
ทีนี้ลองมาดูผลประกอบการของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น
ปี 2560 มีรายได้ 37,282 ล้านบาท กำไร 1,477 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 40,200 ล้านบาท กำไร 70 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 41,553 ล้านบาท ขาดทุน 474 ล้านบาท
รายได้มีการเพิ่มขึ้นทุกปี สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร
แต่.. สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ปี 2561 บริษัทมีกำไรลดลงมหาศาล และปี 2562 ก็ขาดทุนในที่สุด
สาเหตุที่ปี 2561 บริษัทกำไรลดลง
ก็เพราะว่า ราคาน้ำมันดิบโลกดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ม.ค. 2561 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ต.ค. 2561 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เลยทำให้สายการบินต้องแบกรับต้นทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้น
ซึ่งค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของสายการบิน
โดยคิดเป็นประมาณ 37% ของต้นทุนทั้งหมด
ต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เลยไปกดกำไรให้ต่ำลงนั่นเอง
และปี 2562 ที่บริษัทขาดทุน ก็เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าปกติ เช่น ค่าใช้จ่ายพนักงาน, ค่าใช้บริการสนามบิน, ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าซ่อมบำรุง
รวมถึงมาตรฐานการบัญชีเรื่องผลประโยชน์พนักงาน
ที่ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองมากขึ้น ตามกฎหมายแรงงาน
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การแข่งขันที่สุดจะรุนแรงในอุตสาหกรรม ทั้งสงครามหั่นราคาค่าตั๋ว
การแข่งขันขยายเส้นทางการบิน
การออกโปรโมชันส่งเสริมการขาย และสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์
ผลกระทบเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ส่งผลให้รายรับจากเส้นทางบินระหว่างประเทศ
ภายหลังแปลงค่าเป็นสกุลเงินบาทลดลง
ซึ่งหลายๆ ปัจจัยที่ถาโถมเข้ามานี้ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุน
สายการบินก็เริ่มควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆไม่อยู่
ทำให้ผลประกอบการบริษัทออกมาน่าผิดหวังสำหรับนักลงทุน
มูลค่าบริษัทจึงลดลงเรื่อยๆ ตามผลประกอบการ
แต่.. ฝันร้ายนี้ก็ยังไม่จบ สำหรับไทยแอร์เอเชีย รวมสายการบินอื่นๆ
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เริ่มจากประเทศจีน
และระบาดไปทั่วโลก
เป็นดั่งพายุฟ้าคะนอง ที่ฉุดรั้งไม่ให้สายการบินได้ขึ้นบิน
ผู้คนต่างพากันไม่อยากออกเดินทางไปไหนมาไหน โดยเฉพาะทางเครื่องบิน เพราะกลัวเสี่ยงติดโรค
และหลายคนที่จองตั๋วแล้ว ก็เลือกยกเลิกเที่ยวบิน
ซึ่งในหลายๆ ประเทศ ก็เริ่มปิดเมืองหรือประเทศกันแล้ว
และสายการบิน เช่น ไทยแอร์เอเชีย ก็งดให้บริการเส้นทางในประเทศกลุ่มเสี่ยง
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชียมียอดผู้โดยสารลดลงประมาณ 30%
สังเกตว่า สถานการณ์ COVID-19 เริ่มรุนแรงขึ้นจริงๆ คือตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้
ซึ่งก็เป็นไปได้สูงว่า ยอดผู้โดยสารของไทยแอร์เอเชีย อาจลดลงมากกว่า 50% ในเดือนนี้ หรือเดือนถัดไป
เมื่อผู้โดยสารน้อยลง สายการบินก็ขาดรายได้
แต่สายการบินยังมีต้นทุนคงที่ ที่ต้องจ่ายทุกเดือนอยู่ แม้จะไม่ได้ให้บริการก็ตามที
เช่น ค่าพนักงาน, ค่าเช่าเครื่องบิน รวมถึงหนี้สินที่กู้ยืมมา และดอกเบี้ย
ถ้าวิกฤตนี้ ไม่มีท่าทีว่าจะจบโดยเร็ว
ก็อาจทำให้สายการบิน ประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ
และถึงแม้สายการบิน จะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลง
เนื่องจากการทำสงครามราคาน้ำมัน ระหว่างซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย
แต่ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะตอนนี้
ถึงตั๋วเครื่องบินจะถูกลงแค่ไหน ก็คงไม่มีใครอยากเสี่ยงบิน..
สรุปแล้ว ความท้าทายทั้งหมดนี้ ก็ต้องบอกว่า
เหนื่อยหน่อยนะ ไทยแอร์เอเชีย..
อ้างอิง :
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ตลาดหลักทรัพย์ฯ
บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.