ย้อนอดีต 30 ปี ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การสร้างแบรนด์ที่คนไทยทุกคนรู้จัก ของ กฟผ.

ย้อนอดีต 30 ปี ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การสร้างแบรนด์ที่คนไทยทุกคนรู้จัก ของ กฟผ.

21 ก.ย. 2023
ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าคนไทยทุกคน คงคุ้นเคยกับ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ติดอยู่บนเครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิด
ซึ่งหากเปรียบเทียบ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” กับการสร้างแบรนด์ ตามภาษาของการตลาด ก็อาจเรียกได้ว่า กฟผ. ประสบความสำเร็จ ในการสร้างแบรนด์ให้กับฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นอย่างมาก
ในบทความนี้ MarketThink จะขอพาไปเจาะลึก ถึงวิวัฒนาการ ของฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน กว่าจะกลายเป็นแบรนด์ที่คนไทยทุกคน จดจำได้ แบบในทุกวันนี้..
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เกิดขึ้นมาในช่วงที่ ประเทศไทยมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการขยายตัวของสังคมเมือง
ซึ่งปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ รวมถึงลงทุนมหาศาล เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม สำหรับผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการ ของคนทั้งประเทศ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงต้องมีการดำเนินการ จัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management หรือ DSM) เพื่อกระตุ้นให้คนไทย ใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ
และเริ่มต้นโครงการ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2536 เท่ากับว่า ปีนี้ เป็นปีที่ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มีอายุครบ 30 ปี พอดี
ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ก็มีวิวัฒนาการ มาโดยตลอด โดยมีตู้เย็น เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดแรก ที่เริ่มมีการนำฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มาใช้ เพื่อยืนยันว่าตู้เย็นรุ่นใด มีประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่ดี และประหยัดไฟ ตามเกณฑ์การใช้ไฟฟ้าที่ กฟผ. กำหนด
และหลังจากนั้น ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ก็มีการกำหนดมาตรฐาน เพื่อใช้วัดประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลมไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า หลอดไฟ เครื่องทำน้ำอุ่น และเตาไมโครเวฟ เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบัน มีเครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ มากกว่า 20 ชนิด ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
นอกจากนี้ ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ยังมีวิวัฒนาการในด้าน “รูปแบบ” ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ในปี พ.ศ. 2562 กฟผ. ได้มีการปรับปรุง ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จากเดิมที่บ่งบอกเพียงว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใด ผ่านมาตรฐาน มีประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ตามเกณฑ์ที่ กฟผ. กำหนด
ให้สามารถบ่งบอกระดับประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า โดยเพิ่ม “ดาว” ขึ้นมา นอกเหนือจากเบอร์ 5 แบบปกติ ที่คนคุ้นเคยกัน 
ซึ่งจำนวนดาว ก็หมายถึง ประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่ดีขึ้น ยิ่งมีดาวมาก แสดงว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ ยิ่งประหยัดไฟมากขึ้นนั่นเอง โดยสูงสุดที่เบอร์ 5 แบบ 3 ดาว
และล่าสุด ในปี พ.ศ. 2566 นี้ กฟผ. ได้มีการปรับปรุง ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 อีกครั้ง โดยนับว่าเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่สุด ในรอบ 30 ปี
ตั้งแต่การออกแบบ ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นขอบโค้งมน ทำให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น
โดยมีการใช้ชุดสีหลัก อยู่ 3 สี คือ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน ที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมกับสีเขียว เป็นชุดสีเสริม ที่แสดงถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แต่ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ ยังคงเลือกที่จะรักษาเอกลักษณ์สำคัญ อย่าง “หมายเลข 5” ที่คนทั่วไปจดจำได้ ไว้อย่างเดิม
แต่ความเปลี่ยนแปลง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ก็คือ จำนวน “ดาว” ที่เพิ่มขึ้น จาก 3 ดาว เป็น 5 ดาว ทำให้ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับด้วยกัน คือ
- เบอร์ 5 แบบไม่มีดาว
- เบอร์ 5 แบบ 1 ดาว
- เบอร์ 5 แบบ 2 ดาว
- เบอร์ 5 แบบ 3 ดาว
- เบอร์ 5 แบบ 4 ดาว
- เบอร์ 5 แบบ 5 ดาว
โดยจำนวนดาวที่เพิ่มขึ้น ก็ยังหมายถึงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่ดีขึ้น และประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น เช่นเดิม
ส่วนวิธีการอ่าน ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่นั้น ก็ยังสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่นเดิม โดยนอกจากการดูจำนวนดาวแล้ว ยังทำได้จากการดูองค์ประกอบอื่น ๆ บนฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เพิ่มเติม ได้แก่
1. ค่าไฟฟ้า
แสดงค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปี ที่ต้องจ่าย จากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ ซึ่งค่าไฟฟ้านี้ สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นอื่น หรือยี่ห้ออื่น ๆ ขณะเลือกซื้อได้ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายในระยะยาวอย่างชัดเจน
2. ค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ใช้เปรียบเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
3. ข้อมูลผลิตภัณฑ์พื้นฐาน คือ ยี่ห้อ รุ่น และขนาด ใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบ คุณสมบัติเบื้องต้น ของเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น เช่น ยี่ห้อ และรุ่น ของเครื่องปรับอากาศ พร้อมกับความสามารถในการทำความเย็น (ขนาด) ที่มีหน่วยเป็น BTU เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 องค์ประกอบสำคัญ ที่เพิ่งจะเพิ่มเข้ามา ในฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ คือ
1. ค่าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ให้ข้อมูลว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากเพียงใด ตลอดช่วงการใช้งาน โดยมีหน่วยเป็น กิโลกรัมต่อปี
2. สัญลักษณ์กระบวนการผลิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะมีสัญลักษณ์นี้ได้ ต้องได้รับการผลิต ตามเกณฑ์ Circular Economy
3. สัญลักษณ์ QR Code ใช้สแกน เพื่อให้ข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม เกี่ยวกับฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ หลายคนคงเข้าใจประโยชน์ของการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ของ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ทำให้ผู้บริโภค ซึ่งเป็นคนทั่วไป ได้รับประโยชน์โดยตรง
นั่นคือ การได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่ดี ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ไม่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
และยังช่วยให้การตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ในแต่ละครั้ง ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยข้อมูลที่มีอยู่อย่างครบถ้วน บนฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะสังคม และประเทศชาติ ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน..
นั่นคือ การใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมหาศาล
และเมื่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศลดลง ก็หมายความว่า ประเทศของเราสามารถประหยัดต้นทุนทางด้าน “ความมั่นคงทางพลังงาน” ที่ต้องใช้ในการจัดหาเชื้อเพลิง และทรัพยากรธรรมชาติ ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตไฟฟ้า ให้เพียงพอกับความต้องการของคนทั้งประเทศ
และทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” ซึ่งเป็นแบรนด์ ที่คนไทยแทบทุกคนจดจำได้ ตลอดช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้หรือไม่ว่า เสื้อผ้า ก็มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เช่นเดียวกัน..
โดยเสื้อผ้า ที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 คือเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ทันที โดยไม่ต้องรีด หรือรีดด้วยการใช้ความร้อนต่ำ ทำให้ประหยัดไฟฟ้ามากกว่าเสื้อแบบปกติ นั่นเอง
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เราจะได้เห็นฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ เริ่มติดฉลากบนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ เพื่อวางจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.