ไทยเบฟ เผยรายได้ 9 เดือนปี 2023 โตเกือบ 4% พาเจาะลึกกลยุทธ์ ของทุกกลุ่มธุรกิจ ในการสร้างการเติบโต

ไทยเบฟ เผยรายได้ 9 เดือนปี 2023 โตเกือบ 4% พาเจาะลึกกลยุทธ์ ของทุกกลุ่มธุรกิจ ในการสร้างการเติบโต

3 ต.ค. 2023
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบริษัทไทยเบฟ
รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023
มีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากปีก่อน
ผลจากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ มีการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ทีนี้มาเจาะในแต่ละกลุ่มธุรกิจ
-ธุรกิจสุรา
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 กลุ่มธุรกิจสุรา มีรายได้จากการขาย 93,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงที่ 3.5%
มี EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 23,763 ล้านบาท และมี EBITDA margin สูงขึ้นจาก 24.7% เป็น 25.4%
โดยการขยายตัวของอัตรากำไร มาจากการขึ้นราคาสินค้า และการเปลี่ยนแปลงส่วนประสมของผลิตภัณฑ์จากการบริโภคสุราสีที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย
สำหรับธุรกิจสุราในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในเมียนมา มีการเติบโตทั้งรายได้ และ EBITDA
ทั้งนี้ ในตลาดไทย บริษัทฯ ได้เดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลัก อย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยความพยายามดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มสามารถคงตำแหน่งผู้นำในตลาดสุราขาวและสุราสีไว้ได้
ในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงรักษาตำแหน่งวิสกี้อันดับ 1 ไว้ได้ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาด
สำหรับตลาดต่างประเทศ ได้เดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียม และเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจ Larsen Cognac และ Cardrona Distillery
โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits)
-ธุรกิจเบียร์
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 ธุรกิจเบียร์ มีรายได้จากการขายรวม 93,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% แม้ว่าปริมาณขายรวมจะลดลง 5.2%
โดยธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย มีการฟื้นตัว เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในขณะที่ธุรกิจในเวียดนาม ยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาค ที่ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว
ซึ่งการลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และแรงกดดันด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลักและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น
ส่งผลให้ EBITDA ลดลง 19.8% เป็น 10,783 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขยายการเติบโตของธุรกิจเบียร์ ในประเทศไทย และก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาด
บริษัทฯ จะขับเคลื่อนธุรกิจผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1) Commercial Leadership
2) Winning Brand Portfolio
3) Cost Competitiveness
เสริมแกร่งทางการค้าให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ช้างผ่านกลยุทธ์ “Commercial Leadership”
โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่ต่อยอดมาจากความรักที่ผู้บริโภคมีต่อตราสินค้า
การถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี” ช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและการมีส่วนร่วมไปจนถึงจุดขาย โดยได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อผนึกกำลังในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการกระจายสินค้า และช่องทางการจำหน่าย
เดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าผ่านกลยุทธ์ “Winning Brand Portfolio” และพัฒนาสินค้าที่โดดเด่นภายใต้ตราสินค้าช้าง โดยในปี 2019 ได้เปิดตัว “ช้าง โคลด์ บรูว์” ซึ่งในปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ตราสินค้าเบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในประเทศไทย
และเมื่อปลายปี 2022 ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เบียร์พรีเมียม ซึ่งได้รับผลลัพธ์เป็นน่าพอใจ
เพิ่มศักยภาพในการผลิตและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลยุทธ์ “Cost Competitiveness” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
1) การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์
2) การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน
3) การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย
4) การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น
-ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขาย 14,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% ซึ่งมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 8.7% ตามการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น
โดยการดำเนินแผนงานเพื่อบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้บางส่วนจากการลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ส่งผลให้ EBITDA เพิ่มขึ้น 3.3% เป็น 1,773 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้เร่งเดินหน้าขยายการเติบโต ภายใต้ 3 แนวทางสำคัญ คือ
1) การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง (Brand Portfolio Management)
2) การเร่งสปีดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในทุกมิติ (Speed for the Growth)
3) การเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)
สร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ด้วยแนวทาง Brand Portfolio Management เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกโอกาส และทุกกลุ่มเป้าหมาย
รวมถึงรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
พร้อมสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมแกร่งตราสินค้าหลักของกลุ่ม
เช่น มุ่งสร้างการเติบโตของ “โออิชิ กรีนที” ด้วยการขยายฐานผู้บริโภค และเพิ่มปริมาณการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงเดินหน้าตอกย้ำการรับรู้ในเรื่องคุณประโยชน์ของชาเขียวที่มีทาเคชิน สารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพ ผ่านแคมเปญ “OISHI Goodness of Tea”
พร้อมเดินหน้าผลักดันการกระจายผลิตภัณฑ์ชาเขียวพร้อมดื่มอัดลม “โออิชิ ชาคูลล์ซ่า” ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานผู้บริโภคและการเติบโต ภายใต้แคมเปญ “โออิชิ ชาคูลล์ซ่า ชาเขียว ซ่ามีดีย์”
คริสตัล ตอกย้ำจุดยืนในการเป็นผู้นำอันดับ 1 ตลาดน้ำดื่มของประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ “พัก…ให้คุณได้เคลียร์ความคิด (Think Clear, Drink Crystal)” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้วยการสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค (Brand Emotional Connection)
โดยเป็นตราสินค้าน้ำดื่มรายแรกที่สนับสนุนให้คิดเชิงบวก ด้วยการสื่อสารถึงประโยชน์ของน้ำดื่มที่นอกจากจะดีต่อสุขภาพกายแล้ว ยังดีต่อสุขภาพใจและอารมณ์ด้วย
เครื่องดื่มอัดลม เอส เดินหน้าขับเคลื่อนตราสินค้าผ่านการพลิกโฉมครั้งใหญ่ เปิดตัวรูปลักษณ์ตราสินค้าใหม่และปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิด “Born to be Awesome เกิดมาซ่า..กล้าเป็นตัวเอง”
นอกจากนี้ ยังได้คนดังในเอเชียจากหลากหลายวงการมาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อเพิ่มความสดใหม่ให้ตราสินค้า และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่
เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินตามแนวทาง “Speed for the Growth เพื่อขยายฐานผู้บริโภค เพิ่มยอดขาย และส่วนแบ่งการตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยการวางรากฐาน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และการกระจายสินค้า
นอกจากนี้ ไทยเบฟ ยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งผลักดันตราสินค้าหลักของกลุ่มบริษัทฯ สู่ตลาดในภูมิภาคผ่านการดำเนินตามแนวทาง “Expand to New Market”
-ธุรกิจอาหาร
จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภายในร้านอาหาร เพราะผู้คนกลับมาทานอาหารนอกบ้านกันอีกครั้ง และนักท่องเที่ยวกลับมา
ประกอบกับการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า เช่น เดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม
ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 ธุรกิจอาหาร มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 19.2% เป็น 14,296 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม EBITDA ลดลง 8.4% เป็น 1,446 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าแรงงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดร้านใหม่
ปัจจุบันไทยเบฟ มีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทย
โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้าน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023
โดยไทยเบฟ ตั้งเป้าหมาย ที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายของร้านสาขาเดิม ด้วยการรังสรรค์เมนูใหม่และจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลายสำหรับทุกร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้งขึ้น
พร้อมกับมุ่งเสริมสร้างพื้นฐานของธุรกิจอาหารให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านบุคลากร การดำเนินงาน เทคโนโลยี การจัดการห่วงโซ่อุปทาน
และเรื่องความยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการลดขยะอาหารจากร้านในเครือ รวมถึงโครงการบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.