ก้าวต่อไปของ BAFS Intech สู่ผู้ผลิต รถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า จิกซอว์ขับเคลื่อนการเติบโต ของ BAFS Group

ก้าวต่อไปของ BAFS Intech สู่ผู้ผลิต รถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า จิกซอว์ขับเคลื่อนการเติบโต ของ BAFS Group

11 ต.ค. 2023
บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (บาฟส์)
สำหรับคนทั่ว ๆ ไป อาจไม่คุ้นหูชื่อนี้เท่าไร แต่สำหรับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบิน หรือนักลงทุนในตลาดหุ้น ต้องรู้จักบริษัทนี้กันดี
เพราะคนที่จะเติมน้ำมันให้เครื่องบินทุกลำ ที่ลงจอดที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ก็คือ BAFS
หรือเปรียบให้เห็นภาพ BAFS ก็เสมือน “เด็กปั๊ม” ของทุกสนามบิน นั่นเอง
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากการเป็นผู้ให้บริการเติมนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยาน หรือเครื่องบิน แบบครบวงจรแล้ว
BAFS ยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีก ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อยในเครือ
หนึ่งในบริษัทที่น่าสนใจ และ BAFS กำลังผลักดันให้เป็นอีกธุรกิจสำคัญ ในการสร้างการเติบโตของกลุ่มบริษัทในระยะยาว
นั่นคือ บริษัท บาฟส์ อินเทค จํากัด หรือ BAFS Intech (BI)
แล้วบริษัทนี้ทำอะไร และน่าสนใจแค่ไหน
MarketThink จะพาไปเจาะรายละเอียดของบริษัทนี้กัน..
จุดเริ่มต้นในการก่อตั้ง BI ขึ้นมา เกิดจากการมองว่า หากธุรกิจโฟกัสไปที่การให้บริการเติมน้ำมันท่าอากาศยาน เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะเสี่ยงเกินไป..
เลยต้องการกระจายความเสี่ยงโครงสร้างรายได้ของ BAFS ให้ไม่ไปพึ่งพิงธุรกิจใดจนเกินไป
แต่การก้าวเข้าไปทำธุรกิจใหม่ ๆ ก็ต้องสอดคล้องกับสิ่งที่ BAFS ถนัดด้วย คือมีความรู้ และความเชี่ยวชาญ
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของรถเติมน้ำมันอากาศยาน BAFS สั่งสมองค์ความรู้มา 30 ปี และรู้ว่าอุปกรณ์ประเภทไหน เหมาะสมกับบริบทของตลาดไทยมากที่สุด
บวกกับ ต้องการลดการพึ่งพิงการนำเข้าด้วย เพราะในอดีตรถเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ก็นำเข้าจากเยอรมนี และถ้าเทียบค่าเงินในปัจจุบัน ก็รวม ๆ คันละ 30 ล้านบาท เลยทีเดียว ซึ่งสูงมาก
จึงเป็นที่มาของการลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานของตัวเอง และก่อตั้งบริษัท BI ขึ้นเมื่อปี 2561 เพื่อดำเนินธุรกิจ
1) ออกแบบ ผลิต ประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยาน
2) รวมถึงรถให้บริการภาคพื้นภายในสนามบิน เช่น รถแทรกเตอร์ลากจูงสัมภาระ
โดยฐานลูกค้าที่สั่งซื้อรถเติมน้ำมันอากาศยาน จาก BI มีทั้งภายในประเทศไทย ก็คือ BAFS และ OR
รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว, เมียนมา, กัมพูชา
และปัจจุบันกำลังมีคำร้องขอจาก สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, มาเลเซีย ที่สนใจอยากจะสั่งซื้อรถเติมน้ำมันอากาศยาน ของ BI ด้วย
ถ้าเจาะไปที่ข้อมูลจำนวนคันที่ส่งมอบไปแล้ว
ตอนนี้จะมีรถเติมน้ำมันอากาศยาน ของ BI วิ่งที่
- สนามบินสุวรรณภูมิ 43 คัน
- สนามบินดอนเมือง 38 คัน
- สนามบินอื่น ๆ ในภูมิภาค 8 คัน
ซึ่ง BI ครอง Market Share ในไทย ได้ประมาณ 75-80%
แล้วรถของ BI มีจุดเด่นอะไร ถึงทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำของตลาดได้ ?
1) ราคาต่ำกว่าคู่แข่ง แต่คุณภาพระดับสากล
ราคารถเติมน้ำมันอากาศยานของ BI จะอยู่ระหว่าง 8-16 ล้านบาทต่อคัน
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของลูกค้า ว่าต้องการติดตั้งอุปกรณ์สเป็กแบบไหน
ซึ่งราคานี้ถือว่าต่ำกว่าราคารถจากในประเทศยุโรป ที่มีรถสเป็กใกล้เคียงกัน เฉลี่ยอย่างน้อย 40%
โดยที่คุณภาพของรถ BI ก็ไม่ด้อยไปกว่ารถจากยุโรปเลย และมีมาตรฐานในระดับสากล
2) องค์ความรู้ และประสบการณ์
BI ได้สั่งสมองค์ความรู้ และมีความเชี่ยวชาญในการประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยาน มาอย่างยาวนาน
อีกทั้งยังมีอีโคซิสเต็ม ที่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า
เพราะว่า BI มีบริษัทแม่อย่าง BAFS เป็นลูกค้า ซึ่งให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบิน มากว่า 30 ปี
BI จึงแตกต่างจากผู้ประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานทั่วโลก ตรงที่ว่า มีพื้นที่หรือห้องทดลองของจริง ให้สามารถทดลองได้เลยว่า รถที่ BI ประกอบ มันดีหรือไม่ดีอย่างไร และได้รับฟีดแบ็กทันที ว่าควรพัฒนาตรงไหนบ้าง
แถมยังมีข้อดีเวลาที่ลูกค้าบินมาดูผลิตภัณฑ์ ก็จะเห็นสภาพการใช้งานจริง ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพของรถจาก BI ด้วย
แต่ถึงจะครองตำแหน่งผู้นำได้แล้ว BI ก็มีโจทย์ใหญ่ที่กำลังเผชิญ..
นั่นคือ เทรนด์การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงาน
จากรถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน สู่รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
และเรื่องนี้ก็ส่งผลต่อธุรกิจรถเติมน้ำมันอากาศยานด้วย
ซึ่งก็มีทั้งความท้าทาย และโอกาส ในเวลาเดียวกัน
BI จึงไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองเทรนด์ของตลาด และสร้างการเติบโตใหม่ ๆ
โดยในปี 2563 BI ได้เปิดตัวรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า รุ่น EV-HDC17LPM ซึ่งเป็นรถเติมน้ำมันอากาศยานแบบ Electric Hydrant Cart ที่ทำงานด้วยไฟฟ้าทั้งระบบ 100%
และได้เริ่มนำรถรุ่นนี้ มาให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
ปลายปี 2564 ได้เปิดตัวรถเติมน้ำมันอากาศยานขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% หรือ EV Hydrant Dispenser แบบ Low Flow คันแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งการพัฒนาและเริ่มเปลี่ยนผ่านจากรถเติมน้ำมันอากาศยาน ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล สู่ระบบไฟฟ้านี้ ก็สอดคล้องกับทิศทางของกลุ่ม BAFS ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อย 20% ในปี 2573 และมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2593
อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนับสนุนโครงการ Airport Carbon Accreditation มุ่งสู่การเป็น Green Airport ของท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติแห่งอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วย
ที่น่าสนใจคือ แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะประสบกับสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึง BI มียอดการขายรถลดลง
แต่ BI ก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ให้มันตอบโจทย์โลกมากขึ้น
จึงมีการไปเจรจาทำสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ITURRI จากประเทศสเปน
ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลก ในการผลิตรถไฟฟ้า (EV) ประเภท Special Truck หรือรถที่ใช้เป็นการเฉพาะกิจ เช่น รถเติมน้ำมันอากาศยาน, รถดับเพลิง, รถพยาบาล
เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และ Know-how ในการประกอบรถ EV ที่โรงงาน BI
เป็นการยกระดับการประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า สำหรับเจาะตลาดทั้งไทย และประเทศในอาเซียน
และที่ BI ต้องหันมาโฟกัสรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
แต่รถประเภทนี้ ยังตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่า ในด้านการใช้งานและการประหยัดต้นทุน
เพราะการใช้งานในสนามบิน รถเติมน้ำมันอากาศยาน ต้องวิ่ง ๆ จอด ๆ ตลอดเวลา
รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
อีกทั้งไม่ต้องมีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ แถมประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถามว่า
แล้วต้นทุนในการผลิตรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า ต่างกับ รถแบบดีเซล แค่ไหน ?
ต้องบอกว่า “แทบไม่ต่างกันมาก..”
เพราะปกติแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล เช่น รถเก๋ง, รถ SUV
รถไฟฟ้าจะแพงกว่าเยอะ เนื่องจาก 2 ใน 3 ของราคารถ มาจากต้นทุนแบตเตอรี่
แต่พอเป็นรถเติมน้ำมันอากาศยาน กลายเป็นว่า 2 ใน 3 ของความแพง อยู่ที่อุปกรณ์ข้างหลังแทน
ซึ่งอุปกรณ์ข้างหลัง สามารถสเป็กได้ เช่น ต้องการมิเตอร์แบบนี้ ต้องการถังใส่แบบนี้
และพอเป็นแบบนี้ ตัวรถไฟฟ้าของ BI จึงไม่ได้แพงไปกว่า รถดีเซล เท่าไรเลย
ดังนั้น เวลาที่ลูกค้าจะตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า แทนรถดีเซล
ปัจจัยหลัก ๆ จะไม่ใช่เรื่องราคา แต่เป็นจุดชาร์จแบตเตอรี่ ที่สนามบิน..
ว่าสนามบินนั้น ๆ มีจุดชาร์จรองรับหรือยัง และเพียงพอหรือไม่
ซึ่งสนามบินในประเทศไทยเอง ทาง AOT ก็ผลักดันชัดเจนเรื่องของ Green Airport จึงขยายจุดชาร์จอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนามบินในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ก็เริ่มมีจุดชาร์จแล้ว
จึงเป็นเรื่องง่าย ที่ลูกค้าของ BI จะหันมาสั่งซื้อรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้าแทน เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนรถใหม่ หรือรองรับการปฏิบัติงานที่เพิ่มขึ้น เช่น มีการขยายสนามบิน ซึ่งล่าสุดสนามบินสุวรรณภูมิ ก็เพิ่งเปิดอาคารผู้โดยสารใหม่ SAT-1
แต่บางสนามบิน ที่ยังไม่มีจุดชาร์จ ยังไม่ได้มีนโยบายเรื่อง Green Airport ชัดเจน ลูกค้าก็อาจจำเป็นต้องใช้รถดีเซลอยู่
แล้วเป้าหมายธุรกิจ และทิศทางของ BI ในอนาตต จะเดินไปทางไหน ?
ทาง BI เผยว่า ปีหน้าคาดว่า จะมียอดขายประมาณ 200 ล้านบาท และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จนในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามียอดขายที่ 800 ล้านบาท
จากปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การตีตลาดต่างประเทศมากขึ้น และการเติบโตของตลาดรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า
ปัจจุบัน BI มีสัดส่วนยอดขายในประเทศคิดเป็น 70% และต่างประเทศ 30%
โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายต่างประเทศเป็น 50%
พร้อมกับหวังครอง Market Share ในอาเซียน ให้ได้อย่างน้อย 50% ภายใน 5 ปีข้างหน้า..
แล้ว BI จะใช้กลยุทธ์อะไร ในการรุกตลาดต่างประเทศ ?
หนึ่งในนั้นคือ การนำรถไปโชว์ที่ยุโรป..
BI ได้มีการนำรถ EV Hydrant Dispenser แบบ High Flow คันแรกในประเทศไทย และในอาเซียน
ไปจัดแสดงที่งาน Inter Airport Europe 2023 เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี วันที่ 10-13 ตุลาคม 2566
ซึ่งงานนี้คือ งานแสดงสินค้าและอุปกรณ์สนับสนุนของธุรกิจสนามบิน ที่ใหญ่สุดในโลก
ดังนั้น การที่ BI เอารถไปโชว์ที่มิวนิก ก็เพื่อต้องการสื่อสารว่า รถของ BI ซึ่งเป็นรถของคนไทย มีมาตรฐานระดับโลก
และจะช่วยให้รถของบริษัท เป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีโลกมากขึ้น โดยผลที่ตามมาหลังจบงาน บริษัทก็อาจมีออร์เดอร์วิ่งเข้ามามากขึ้น ทั้งรถไฟฟ้าและรถดีเซล
ที่สำคัญ ยังส่งเสริมให้ BI สามารถเจาะตลาดในอาเซียน รวมถึงเอเชีย ได้ง่ายขึ้น
จากภาพลักษณ์ในระดับสากล, คุณภาพรถมาตรฐานระดับโลก ในราคาที่เข้าถึงได้มากกว่า
รวมไปถึงเรื่องของ ระยะเวลาในการส่งมอบรถ ที่สั้นกว่า
หากสั่งรถจาก BI จะรอรถเพียงประมาณ 7 เดือน เมื่อเทียบกับการสั่งรถจากยุโรป ที่ต้องรอนานเกือบปี เพราะต้องเจอเรื่องของระยะเวลาการขนส่งอีก
นอกจากกลยุทธ์ การรุกตลาดต่างประเทศแล้ว
BI ยังวางแผนสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวให้กับบริษัท และ BAFS Group ด้วยกลยุทธ์อื่น ๆ เช่น
- ทางทีมวิศวกรของ BI กำลังพูดคุยกับกลุ่มบริษัทในจีน ในการพัฒนาแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพื่อให้รถมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดต้นทุนลงมาอีก
- โจทย์ระยะยาว จะทำให้รถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า เป็นรถที่ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ทั้งวิ่งเอง และมีแขนกลเติมน้ำมันให้เอง โดยใช้ AI และระบบเซนเซอร์ในการควบคุม
เพื่อให้ตอบรับกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ที่จะหาคนหนุ่ม ๆ มาทำงานด้านนี้ได้ยากขึ้น
- ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ สู่รถเฉพาะทางประเภทอื่น ๆ เช่น รถบัส, รถพยาบาล, รถดับเพลิง ที่เป็นแบบ EV
โดย BI มีพาร์ตเนอร์อย่าง ITURRI ที่มี Know-how เรื่องนี้นานแล้ว
บริษัทจึงมีศักยภาพในการผลิต และประกอบรถประเภทนี้ ออกมาสู่ตลาดในอนาคต นั่นเอง
และทั้งหมดนี้ ก็คือเบื้องหลังความเป็นมา ความสามารถในการแข่งขัน และแผนธุรกิจของ BAFS Intech หรือ BI
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในจิกซอว์สำคัญ สำหรับขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ของ BAFS Group.. 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.