เฮลซ์บลูบอย สินค้าที่หน้าตาเดิม ๆ แต่ขายดีทุกปี และมีอัตรากำไรสูง

เฮลซ์บลูบอย สินค้าที่หน้าตาเดิม ๆ แต่ขายดีทุกปี และมีอัตรากำไรสูง

19 ต.ค. 2023
เมืองร้อนอย่างเมืองไทย สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ เมนูหรือเครื่องดื่มหวาน ๆ เย็น ๆ
ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับสร้างสรรค์เมนูเหล่านี้ ที่ตั้งแต่รถเข็นน้ำแข็งไส, ร้านขนมหวานและเครื่องดื่ม, ร้านอาหาร รวมถึงตามบ้านของแต่ละครัวเรือน เลือกใช้กัน ก็คือ เฮลซ์บลูบอย (Hale's Blue Boy)
น้ำหวานเข้มข้น สูตรในตำนาน โดยเฉพาะน้ำหวานสีแดง และสีเขียว ที่เป็นของขึ้นชื่อจากแบรนด์
มากับโลโกเด็กชายใส่หมวก บนขวดแก้ว อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ใคร ๆ แม้เห็นผ่าน ๆ ก็จำได้
แม้รูปลักษณ์ภายนอกของ เฮลซ์บลูบอย จะเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มานานหลายสิบปีแล้ว 
แต่ถึงตอนนี้ ด้วยรสชาติและราคาที่ถูกใจ ชาวไทยอย่างเรา ๆ มาโดยตลอด
ทำให้แบรนด์ยังคงยืนหยัด เป็นผู้นำในตลาดได้ไม่เปลี่ยนแปลง และสร้างยอดขายหลัก 3,000 ล้านบาทต่อปี ได้อย่างต่อเนื่อง..
บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 
ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า เฮลซ์บลูบอย
ปี 2563 มีรายได้ 3,320 ล้านบาท กำไร 1,057 ล้านบาท มีอัตรากำไร 32%
ปี 2564 มีรายได้ 3,563 ล้านบาท กำไร 1,137 ล้านบาท มีอัตรากำไร 32%
ปี 2565 มีรายได้ 3,021 ล้านบาท กำไร 957 ล้านบาท มีอัตรากำไร 32%
ใครจะไปรู้ว่า ธุรกิจขายน้ำหวานบ้าน ๆ ปีหนึ่ง จะมีรายได้เกิน 3,000 ล้านบาท 
แถมยังมีอัตรากำไรที่สูงมาก เพราะโดยปกติแล้ว ธุรกิจเครื่องดื่มหรือของหวาน จะมีอัตรากำไรโดยเฉลี่ย 10-15% เท่านั้น
เช่น ในปี 2565 
อิชิตัน มีรายได้ 6,360 ล้านบาท กำไร 642 ล้านบาท มีอัตรากำไรอยู่ที่ 10%
After You มีรายได้ 954 ล้านบาท กำไร 118 ล้านบาท มีอัตรากำไรอยู่ที่ 12%
แล้วอะไรคือ “จิกซอว์” สำคัญที่ทำให้เฮลซ์บลูบอย ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ ?
จุดสตาร์ตของ เฮลซ์บลูบอย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2502 หรือ 64 ปีที่แล้ว 
โดย 4 พี่น้องตระกูลพัฒนะเอนก ซึ่งเป็นครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน 
ได้เปิดร้านโชห่วยขายของทั่วไป แต่ภายหลังได้เห็นโอกาสในธุรกิจน้ำหวาน 
บวกกับเห็นว่าในช่วงนั้น สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทนี้ ไม่ค่อยมีอยู่ในตลาด
ดังนั้น หากใครทำสินค้าแปลกใหม่ได้ก่อน หรือทำแบรนด์ได้ก่อน ก็มักได้เปรียบคนอื่น
พวกเขาจึงมีความคิดที่จะทำน้ำหวานใส่ขวดขาย โดยลองช่วยกันคิดค้นสูตรน้ำหวานขึ้นมา 
ซึ่งตอนแรก ๆ ก็นำสูตรน้ำหวานที่คิดได้ มาวางขายภายในร้านของพวกเขาก่อน
แต่พอกระแสตอบรับ และยอดขายดีเกินคาด 
จึงตัดสินใจหันมาทำแบรนด์น้ำหวานอย่างจริงจัง และก็กลายมาเป็น “เฮลซ์บลูบอย” ในที่สุด
พร้อมกับสร้างโรงงานผลิตน้ำหวานแห่งแรกขึ้น บนถนนสาทรใต้
หลังจากนั้น เฮลซ์บลูบอย ก็มีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง 
และด้วยความที่ธุรกิจขยายตัวตามประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า กับร้านโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ
ทำให้บริษัทต้องขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น
โดยย้ายโรงงานไปยังนิคมอุตสาหกรรมบางชัน รวมถึงสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ที่ทันสมัย ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน ในปี 2542
ปัจจุบัน เฮลซ์บลูบอย มีสินค้าขายด้วยกันอยู่ 9 กลิ่น ได้แก่
สละ (สีแดง), ครีมโซดา (สีเขียว), องุ่น (สีม่วง), มะลิ (สีออกใส), สตรอว์เบอร์รี (สีแดง), สับปะรด (สีเหลือง), กุหลาบ (สีแดง), ซาสี่ (สีดำ), แคนตาลูป (สีเขียว)
และมีกลุ่มลูกค้าในทุกระดับ ตั้งแต่ร้านค้าขนาดเล็ก, ผู้บริโภคทั่วไป ไปจนถึงร้านอาหาร ร้านของหวานระดับหรู
นอกจากนี้ เมื่อเห็นว่าตลาดในประเทศ เริ่มอิ่มตัวแล้ว
เฮลซ์บลูบอย ก็เริ่มศึกษาและหาโอกาสเติบโตต่อในต่างประเทศทันที
โดยเริ่มจากส่งออกสินค้า ไปยังประเทศเพื่อนบ้านก่อน
จากนั้นจึงขยายฐานลูกค้า ไปยังสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และเอเชีย โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่จีนและอินเดีย
ตอนนี้ เฮลซ์บลูบอย บริหารธุรกิจโดยทายาทรุ่นที่ 2 ซึ่งก็มีด้วยกันทั้งหมด 4 คน
ซึ่งคุณประยุทธ พัฒนะเอนก หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 2 
เคยเล่าถึงตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้เฮลซ์บลูบอย สามารถแจ้งเกิดในตลาดได้ และเป็นผู้นำมาตลอด
—------------------------------------------------------------------
ตัวแปรแรก คือ เฮลซ์บลูบอย เป็นผู้เล่นในตลาดรายแรก ๆ ทำให้ได้เปรียบในการทำตลาด 
—------------------------------------------------------------------
โมเดลธุรกิจของเฮลซ์บลูบอย ที่เป็นสินค้าน้ำหวานเพื่อการบริโภคในครัวเรือนนั้น
ในอดีต ตลาดนี้ยังไม่ใหญ่พอ ทำให้บริษัทใหญ่ ๆ เงินทุนหนา ๆ ไม่ค่อยสนใจมาลงเล่นกัน
ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเล่นในตลาดผลิตน้ำหวาน เพื่อส่งใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือผลิตเครื่องดื่มสำเร็จรูปทั่วไปขายมากกว่า
จึงเป็นโอกาสให้เฮลซ์บลูบอย สามารถสร้างการรับรู้ของแบรนด์แก่ผู้คน และครองส่วนแบ่งการตลาดได้ก่อน โดยที่ไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันมากนัก
ส่วนบริษัทรายเล็ก ๆ หรือผู้เล่นหน้าใหม่ ที่อยากจะเข้ามาแย่งเค้กแข่งกับ เฮลซ์บลูบอย ก็สู้ยาก เพราะเฮลซ์บลูบอย ครองตลาดและครองใจผู้บริโภคอยู่นานแล้ว 
ถ้าทรัพยากรไม่มากพอ ก็ลำบากที่จะดึงฐานลูกค้า จากแบรนด์เจ้าตลาดเดิม
—--------------------------------------------------- 
ตัวแปรต่อมา คือ คุณภาพต้องมาเป็นอันดับ 1
—---------------------------------------------------
สิ่งที่เฮลซ์บลูบอย ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ เรื่องของ “คุณภาพสินค้า” 
แม้จะเป็นแบรนด์เก่าแก่ และติดตลาดแล้ว 
แต่ต้องไม่ลืมรักษาคุณภาพของสินค้าให้ดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร
คุณภาพสินค้าหรือบริการ ถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ
ถ้าคุณภาพตก ก็เหมือนหัวใจของธุรกิจ กำลังเริ่มหยุดเต้น..
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ แนวทางการดำเนินธุรกิจของ เฮลซ์บลูบอย ที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม
โดยบริษัทจะเน้นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กู้หนี้ยืมสิน มาเร่งขยายธุรกิจ
รวมถึงไม่แตกไลน์ ไปทำสิ่งที่ไม่ถนัด
ซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 
บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
มีสินทรัพย์รวม 3,946 ล้านบาท และหนี้สินรวม 306 ล้านบาท
หรือมีหนี้สินรวมคิดเป็นเพียง 8% ของสินทรัพย์รวม เท่านั้น
ข้อดีของธุรกิจที่มีหนี้สินน้อย ก็มีหลายอย่าง เช่น ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจ่าย, ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินมาชำระหนี้ และสามารถจดจ่อกับแผนธุรกิจได้ในระยะยาว, มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ได้ดีกว่าธุรกิจที่มีหนี้เยอะ
โดยคุณประยุทธ พัฒนะเอนก กล่าวว่า
ชีวิตคนเรา ก็เปรียบเหมือนธุรกิจ ถ้าโตขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างแข็งแรง ก็มีความสุขแล้ว
ไม่จำเป็นต้องโตแบบหวือหวา เร่งขยายธุรกิจจนเกินตัว 
เห็นอย่างหลายบริษัท ที่อยากโตเร็ว ๆ ก็ไปกู้หนี้ยืมสินมา
พอเจอวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจก็ล้มละลายไปเลย เพราะหนี้ท่วมหัว 
ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้น..
แต่ไม่ได้หมายความว่า การทำธุรกิจ ต้องไม่มีหนี้เลย 
เพียงแต่ว่า หากจะกู้ ต้องกู้มาขยายกิจการทีละเล็กทีละน้อย ตามความจำเป็น 
และใช้เงินที่กู้มา ไปให้ถูกกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของธุรกิจด้วย..
—------------------------------------------------
หนังสือจิตวิทยาการตลาด 'Marketing Psychology of Great Customer Experience สร้างประสบการณ์ลูกค้า ด้วยจิตวิทยาการตลาด' ที่เหมาะกับทั้งนักการตลาด เจ้าของธุรกิจ รวมถึงผู้บริโภค มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย พร้อมทั้ง Tips และเทคนิคต่าง ๆ ตลอดทั้งเล่ม ในราคาเพียง 295 บาท สนใจสั่งซื้อได้ที่ LINE OA : digitaltips หรือคลิก https://bit.ly/DGTBook_MKT
—------------------------------------------------
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.