ทำไม ร้าน “หม่าล่าสายพาน” ถึงผุดขึ้น เป็นดอกเห็ด..

ทำไม ร้าน “หม่าล่าสายพาน” ถึงผุดขึ้น เป็นดอกเห็ด..

27 ต.ค. 2023
วันนี้ ถ้าลองเดินไปตามตรอกซอกซอย เชื่อว่าหนึ่งในร้านที่ทุกคนสามารถเห็นได้บ่อยไม่แพ้ 7-Eleven เลย นั่นก็คือ “ร้านหม่าล่าสายพาน”
จนมีคำพูดติดตลกว่า ในแต่ละวัน จะมีร้านหม่าล่าสายพานเปิดใหม่ ไม่ต่ำกว่า 1 ร้าน เลยทีเดียว
ปรากฏการณ์แบบนี้ ถ้าจะบอกว่า ธุรกิจร้านหม่าล่าสายพาน ในบ้านเรา
กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด จนมีสภาพไม่ต่างจาก “ทะเลสีแดง” (Red Ocean) ก็คงจะไม่เกินไปแล้ว
แล้ววงการนี้ มีอะไรดี ทำไมคนถึงแห่กันไปเปิด ?
แล้วร้านหม่าล่าสายพาน ที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จะไปหยุดที่ตรงไหน ?
ในบทความนี้ MarketThink จะสรุปให้ฟัง..
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสร้านหม่าล่าสายพานในไทย มีที่มาจากความสำเร็จอันงดงาม
ของ “สุกี้จินดา” ที่ไม่ว่าจะเปิดกี่สาขา คนก็ยอมรอคิวเป็นชั่วโมงเพื่อที่จะได้ทาน
ซึ่งจุดเริ่มต้นของสุกี้จินดา ก็คือห้องแถวคูหาเดียว ขนาดแค่ 26 ตร.ม. เท่านั้น
สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจนี้มี “Barrier to Entry” ที่ต่ำมาก
หรือก็คือ ไม่ค่อยมีต้นทุนหรืออุปสรรค ที่ป้องกันไม่ให้มีคู่แข่งหน้าใหม่ เข้ามาทำธุรกิจแข่งด้วย
เพราะใครก็ตาม ที่อยากเปิดร้านประเภทนี้บ้าง
ไม่จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่เยอะ แถมใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก
โดยการลงทุนหนัก ๆ ของธุรกิจนี้ จะไปกองอยู่ที่สายพาน (สุกี้จินดา มีต้นทุน 1 ใน 3 คือสายพาน)
ที่มีทั้งโต๊ะนั่ง และหม้อส่วนตัว ติดมาด้วยอยู่แล้ว
แถมปัจจุบัน ก็มีธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์สายพานหม่าล่า แบบครบวงจร เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ
ตั้งแต่ฐานรองเตา ที่เป็นโลโกร้าน, สายพาน ที่เลือกขนาดได้ตามงบประมาณ
รวมถึง ชุดหม้อ และอุปกรณ์อื่น ๆ
พูดง่าย ๆ คือ เพียงแค่คิดโลโกแบรนด์ กับลงเงิน
ก็แทบจะเปิดร้านพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าได้ทันที
เรื่องต่อมาคือ ร้านหม่าล่าสายพาน เป็นธุรกิจที่ “กำไรดี”
สุกี้จินดาใช้เงินลงทุนครั้งแรก 1.5 ล้านบาท
ก่อนจะคืนทุนได้ใน 3 เดือน หลังจากนั้นก็คือ กำไรล้วน ๆ
ในมุมธุรกิจ นี่คือสายพานผลิตเงิน ที่มีอัตรากำไรงามมาก ๆ
ที่เป็นแบบนี้ได้เพราะ โมเดลธุรกิจแบบนี้ ใช้พนักงานน้อยมาก
มีสายพานคอยทำหน้าที่แทนให้หมดแล้ว
และโมเดลแบบนี้ ยังมีการแยกวัตถุดิบกันขาย
ทำให้ร้านสามารถใช้กลยุทธ์พลิกแพลงได้หลายแบบ
ซึ่งหลาย ๆ ร้านที่พบมา จะมีการใช้กลยุทธ์คล้าย ๆ กับ Razor and Blades Model
คือกลยุทธ์การขายสินค้าหลัก ในราคาถูก แต่ขายของเสริม ในราคาแพง เพื่อเพิ่มอัตรากำไร หรือ Margin
ยกตัวอย่างเช่น ขายเนื้อในราคาถาดละ 25 บาท แต่ขายข้าวเปล่า หรือน้ำจิ้ม ถ้วยละ 50 บาท
นอกจากนี้ ด้วยความที่ร้านมี Operating Cost หรือต้นทุนการดำเนินงานต่ำ
จากการที่ใช้พนักงาน และพื้นที่น้อย
ยังทำให้ร้านสามารถเปิดให้บริการได้นานตามเท่าที่ต้องการ เช่น เปิดได้ทั้งวัน ทั้งคืน จนดึกดื่น
และเมื่อเปิดร้านได้นานขึ้น ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มเวลาสร้างรายได้ แบบสบาย ๆ
โดยร้านแทบจะไม่มีต้นทุนเพิ่มเลย หรือเพิ่มน้อยมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหารประเภทอื่น ๆ
และอย่างสุดท้ายคือ อาหารประเภทหม่าล่า ยังมี “ดีมานด์” แน่น ๆ คอยรองรับ
กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ตลาดธุรกิจหม่าล่าในประเทศไทย จะมีมูลค่าอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ภายในปีนี้
ตัวเลขดังกล่าว มากพอ ๆ กับ มูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งประเทศรวมกัน..
ต่างกันตรงที่ “ตลาดนี้ยังไม่มีเจ้าตลาดที่แข็งแกร่งแบบมาม่า” คอยป้องกันอยู่
ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ก็สามารถเข้ามาท้าชิงในตลาด ที่มีมูลค่าสูง และกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ได้
และที่สำคัญ ใครที่เข้าไปแข่งก่อน ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะจดจำแบรนด์ได้ก่อน และชิงส่วนแบ่งการตลาด มาได้ก่อนไม่ยาก
แถมถ้าเราดูยอดของการพูดถึงอาหารประเภทหม่าล่า บนโลกออนไลน์
จะเห็นได้ว่าในช่วง 3 ปีมานี้ คนไทยพูดถึงหม่าล่า มากกว่า ชาบูและหมูกระทะ เข้าไปแล้ว..
อ่านมาถึงตรงนี้ สรุปก็คือ ธุรกิจหม่าล่าสายพาน เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่เยอะ เริ่มต้นได้ไม่ยาก, กำไรดี, มีความต้องการของผู้บริโภครองรับ
จึงดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ นานา เข้ามาลงเล่นในตลาดนี้
และคำตอบของคำถามที่ว่า ศึกหม่าล่าสายพาน จะเดือดไปอีกนานแค่ไหน ?
มันก็คงต้องยกทฤษฎีคลาสสิก อย่างเรื่อง “ดีมานด์ & ซัปพลาย” ขึ้นมาพูด
ว่าตราบใด ที่ยังมีความต้องการซื้อ (ดีมานด์) ก็จะมีคนทำของมาขายเสมอ (ซัปพลาย)
แต่หากมีคนทำของออกมาขายมากเกินไป จนสินค้าล้นตลาด เพราะกำลังซื้อไม่เพียงพอ
เมื่อนั้น คนขาย ก็ทำทุกวิถีทาง เช่น ลด แลก แจก แถม เพื่อแย่งลูกค้ากัน
และจะเริ่มมีหลายคน ที่ขาดทุน และทยอยออกจากตลาดไป..
ดังนั้น หลังจากนี้ ถ้าร้านหม่าล่าสายพาน เพิ่มขึ้นจนพอดีกับความต้องการของผู้บริโภคเมื่อไร
เราก็อาจจะไม่เห็นภาพ ที่คนต่อแถวกันจนล้นหน้าร้านเพื่อรอทาน กันอีกต่อไปแล้ว
แต่เห็นภาพที่ร้านเหล่านี้ งัดทุกกลยุทธ์ อัดโปรโมชัน มาแข่งกัน
เพื่อรักษาฐานลูกค้า และชิงลูกค้าจากคู่แข่งกันมากกว่า
จนในที่สุด ก็จะไม่ค่อยมีคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ อยากเข้ามาเล่นในตลาดนี้
และจะเหลือเพียง “ตัวจริง” เท่านั้น ที่อยู่รอดในตลาด..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.