ห้างปิด ธุรกิจอะไรจะได้ประโยชน์ ?

ห้างปิด ธุรกิจอะไรจะได้ประโยชน์ ?

26 มี.ค. 2020
พอมีคำสั่งประกาศให้ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้ มอลล์ ทั่วกรุงเทพ
ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารเฉพาะสั่งกลับบ้าน และธนาคาร
ปิดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม - 12 เมษายน 2563
คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และเจ็บหนักคือ ภาคธุรกิจและพนักงานที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนธุรกิจที่เสียหายก็คือ ผู้ให้เช่า หรือเจ้าของห้าง เช่น
เซ็นทรัล, พารากอน, ไอคอนสยาม, เดอะมอลล์, เอ็มโพเรียม, โรบินสัน, เมกาบางนา, เทอร์มินอล21, ฟิวเจอร์พาร์ค, ซีคอนสแควร์
และอีกกลุ่มคือ ผู้เช่า หรือธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงห้าง เช่น ร้านหนังสือ, โรงหนัง, ร้านเสื้อผ้า, ร้านอาหาร, ร้านขายอุปกรณ์ไอที, ร้านเครื่องเขียน, ร้านเครื่องสำอาง
ซึ่งพอห้างถูกสั่งปิดให้บริการ
แสดงว่ารายได้ของร้านค้าต่างๆ ตลอด 22 วันนี้ จะหายไปทั้งหมด
ถ้าสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ก็มีความเป็นไปได้ที่คำสั่งปิดห้างอาจลากยาว มากกว่า 22 วัน..
พอมองแบบนี้ ก็รู้สึกว่ามีแต่คนเสียประโยชน์เต็มไปหมด
อย่างไรก็ตาม ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเลวร้ายขนาดไหน
เมื่อผู้เสียประโยชน์ ย่อมมีผู้ได้รับประโยชน์
ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ไม่เว้นเช่นกัน
แล้วใครล่ะ ที่ได้ประโยชน์จากการที่ห้างปิด ?
คำตอบคือ ธุรกิจที่สามารถจัดหาสินค้า บริการ หรือกิจกรรมต่างๆ แทนห้างสรรพสินค้า..
เราลองหลับตา แล้วนึกภาพตาม
ถ้าเราจะไปห้าง เราจะทำอะไร แวะร้านอะไร แล้วจ่ายเงินให้ผลิตภัณฑ์ไหน
ซึ่งถ้าห้างปิดให้บริการ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทั้งกิจกรรม และเม็ดเงิน ก็จะไหลออกจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็น
หรือไหลไปหาธุรกิจที่สามารถทดแทนสินค้าและบริการนั้นๆ ได้
เริ่มตั้งแต่ สตาร์ตรถออกจากบ้าน เพื่อไปห้าง
เมื่อไม่ได้ไปห้าง ความถี่ในการใช้รถก็จะน้อย
ธุรกิจที่เสียประโยชน์ ก็พวกศูนย์บริการรถ, ศูนย์ขายยางรถ, ปั๊มน้ำมัน
ส่วนธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ก็อย่างเช่น ประกันภัยรถยนต์
เพราะเมื่อคนใช้รถน้อยลง ก็เกิดอุบัติเหตุลดลงตามไปด้วย จึงไม่ต้องจ่ายค่าเคลมประกัน
พอถึงห้างแล้ว หาที่จอด ลงจากรถ แล้วมุ่งไปที่ร้านอาหาร
เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านฟาสต์ฟู้ด เพื่อหามื่อเที่ยงแสนอร่อยทาน
แต่พอห้างปิด ถ้าเราอยากทานเมนูในดวงใจ ก็ต้องสั่งผ่านบรรดาแอป Food Delivery
อย่าง Grab, Foodpanda, GET, Line Man แทน
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ช่วงนี้จะมีออเดอร์ล้นมือ และเห็นท้องถนนเต็มไปด้วยคนขับ Food Delivery..
นอกจากเจ้าของแอป Food Delivery แล้ว
ร้านอาหารที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มนี้ ก็น่าจะได้ประโยชน์ หรือลดผลกระทบจากการปิดห้างลงได้
ต่อมา พอทานอาหารจนอิ่ม เราอาจแวะร้านหนังสือ ดูหนังสือออกใหม่ หรือ Bestseller
ซึ่งเมื่อไม่มีร้านหนังสือในห้างให้แวะเข้าไปเยี่ยมชม
เราก็จะมีตัวเลือกเดียวคือ สั่งซื้อหนังสือผ่านทางออนไลน์
หรือไม่ก็ซื้อหนังสือแบบอีบุ๊กผ่านแอป MEB, Ookbee, Amazon
พอดูหนังสือเสร็จ เรารู้สึกอยากชอปปิงสักหน่อย
เลยแวะร้านเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ไอที เครื่องสำอาง
แต่ตอนนี้ร้านในห้างปิด
เมื่อเกิดความคิดหรือรู้สึกว่า ของมันต้องมี
เราก็จะเปิดแอป Shopee, Lazada เพื่อสนองความต้องการแทน
เมื่อเดินเล่นในห้างจนใกล้มืด เราก็อาจอยากดูหนังรอบดึกสักเรื่อง
ซึ่งความเป็นจริง ตอนนี้เรากำลังอยู่ที่บ้าน หรือในห้อง
ถึงอยากเสี่ยง COVID-19 ไปดูหนังในโรงยังไง ก็เป็นไปได้ไม่ เพราะห้างปิด..
จึงต้องเสพคอนเทนต์ผ่าน Netflix, Youtube, Line TV, Viu แทน
จากคนที่ไม่เคยเป็นสมาชิก ก็อาจหันมาสมัครดูแก้ขัดไปก่อน
ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นว่า ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องออนไลน์
ดังนั้น เมื่อคนอยู่บ้าน แล้วใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น
อีกธุรกิจที่ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ก็คือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
เช่น AIS, True, Dtac, 3BB, TOT
สรุปแล้วว่า ในทุกสถานการณ์ ทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสแอบแฝงอยู่เสมอ
ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือผู้ที่มองเห็น และปรับตัวก่อนใคร..
และจากสถานการณ์นี้ หลายคนอาจคิดว่า โรคระบาดในตอนนี้ไม่ต่างอะไรกับฝันร้าย
ที่ขังเราไว้ ไม่ให้ออกไปไหนมาไหน
แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามองอีกมุม
คนในยุคนี้ถือว่าโชคดีกว่าคนในยุคก่อนมาก
เพราะถึงแม้เราจะไม่มีห้างให้เดิน จะออกไปข้างนอกก็เสี่ยง
แต่ในยุคดิจิทัลนี้ ยังมีกิจกรรมอะไรหลายๆ อย่างให้เราทำได้ไม่เบื่อ แม้จะอยู่ที่บ้าน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.