DEAN & DELUCA ในสหรัฐฯยื่นล้มละลาย แล้วสาขาในไทยจะเป็นอย่างไร

DEAN & DELUCA ในสหรัฐฯยื่นล้มละลาย แล้วสาขาในไทยจะเป็นอย่างไร

1 เม.ย. 2020
“ดีน แอนด์ เดลูก้า” ทั้งในไทยและสหรัฐฯ มีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน
คือ PACE บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของไทย อดีตเจ้าของตึกมหานคร
เรื่องราวของแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า เริ่มต้นในปี 2520
จากการเป็นร้านขายของชำพรีเมียมในสหรัฐฯ
เมื่อธุรกิจได้ผลตอบรับที่ดี ก็เริ่มมีการขยายสาขา และเพิ่มส่วนของร้านกาแฟเข้าไป
ต่อมาในปี 2538 Leslie Rudd ก็ได้เข้าซื้อกิจการ
และตั้งเป้าว่าจะพาแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า สู่ระดับประเทศ
แต่เรื่องจริงมันกลับไม่เป็นเหมือนที่ฝันไว้
เมื่อ ดีน แอนด์ เดลูก้า ขาดทุนติดต่อกันหลายปี
จากการขยายสาขา และการเพิ่มไลน์สินค้าทั้งเบเกอรี และอาหารแช่แข็ง
การขยายสาขา และการเพิ่มสินค้าที่จำหน่ายทำให้ต้นทุนของ ดีน แอนด์ เดลูก้า เพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่รายได้กลับวิ่งตามไม่ทัน..
ดีน แอนด์ เดลูก้า จึงต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมเรื่อยมา
ซึ่งไม่ว่าแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า จะพยายามจัดหาเงินทุนเพิ่มมากแค่ไหน
เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดทุน และขยายกิจการต่อไป
แต่ฝันของ Leslie Rudd ก็ยังดูไกลเกินความเป็นจริง
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้เอง PACE ก็ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ ดีน แอนด์ เดลูก้า
ด้วยเงิน 140 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.6 พันล้านบาท
ทำให้ตอนนี้สิทธิ์การบริหาร และหนี้สินทั้งหมดตกอยู่ในมือของ PACE
ซึ่งความท้าทายหลักของ PACE คือ สาขาในสหรัฐฯ ที่ไม่ทำกำไร และสร้างแต่หนี้
จนในที่สุด ดีน แอนด์ เดลูก้า ในสหรัฐฯ จำใจต้องยื่นล้มละลาย
เพราะปัญหาหนี้สินกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท
ทั้งๆ ที่บริษัทมีสินทรัพย์เพียง 1.7 พันล้านบาทเท่านั้น
นั้นแปลว่า ดีน แอนด์ เดลูก้า มีหนี้คิดเป็น 10 เท่าของสินทรัพย์
แล้ว ดีน แอนด์ เดลูก้า ในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป?
เมื่อดูจากโครงสร้างของธุรกิจ จะพบว่าสาขาในสหรัฐฯ จะถูกแยกออกจากสาขาในไทย
ดังนั้นการยื่นล้มละลายในสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสาขาในไทยเท่าไร
แต่ก็ใช่ว่าการดำเนินธุรกิจในไทยจะราบรื่น
เมื่อเราดูจากผลประกอบการของบริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
จะพบว่า
ในปี 2559 บริษัทมีรายได้ 240 ล้านบาท แต่กลับขาดทุนถึง 115 ล้านบาท
ส่วนปี 2560 มีรายได้ 334 ล้านบาท ขาดทุน 130 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ดีน แอนด์ เดลูก้า ก็สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้
โดยมีกำไร 16 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนของ ดีน แอนด์ เดลูก้า 2 สาขาที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ซึ่งเคยอยู่ภายใต้บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า แอร์พอร์ต
ในปี 2560 ก็ทำรายได้ไปกว่า 137 ล้านบาท และมีกำไร 5.9 แสนบาท
แม้ว่ากำไรอาจจะน้อย แต่ก็ยังดีกว่าขาดทุน
จุดนี้เองที่อาจจะทำให้ PACE หันมาจับกลุ่มลูกค้าในสนามบินมากขึ้น
โดยในปี 2561 PACE ได้ให้สิทธิ์แฟรนไชส์ ดีน แอนด์ เดลูก้า แก่บริษัท Lagardère Travel Retail ในการเปิดสาขาตามสนามบิน สถานีรถไฟ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
และในปีเดียวกันนี้ PACE ยังได้ให้สิทธิ์แฟรนไชส์ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในจีน แก่บริษัท Kinghill
ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเครือเจริญโภคภัณฑ์
นอกจากนี้ PACE ก็ได้ให้สิทธิ์แฟรนไชส์ในไทยแก่บริษัท NPPG เป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ก็ดูเหมือนว่าปี 2563 จะเป็นปีที่ดีของ ดีน แอนด์ เดลูก้า
เพราะมีคนมาช่วยบริหาร และขยายกิจการกันมากขึ้น
แต่.. เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเช่นกัน
COVID-19 ส่งผลให้ผู้ใช้บริการในสนามบินหายไปในพริบตา
สาขาในสนามบินที่ดูเหมือนจะมีศักยภาพ กลับได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
ส่วนการสั่งปิดห้างฯ ก็อาจทำให้ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในไทย ต้องกลับไปขาดทุนอีกครั้ง
ดังนั้นปัญหาใหญ่ของ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในไทยอาจจะไม่ได้มาจากการยื่นล้มละลายในสหรัฐฯ
แต่อาจจะมาจาก COVID-19 และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของ PACE
จนทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562
PACE ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ดีน แอนด์ เดลูก้า มีหนี้สะสมสูงถึง 20,099 ล้านบาท
ในขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ 262 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนหนี้ต่อทุนถึง 77 เท่า..
ซึ่งถือว่าสูงมาก และเสี่ยงมาก เพราะจะทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินมหาศาล
ดังนั้น ดีน แอนด์ เดลูก้า อาจจะต้องรับความเสี่ยงไปพร้อมๆกับ PACE ด้วย
หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด PACE ก็คงขายกิจการ ดีน แอนด์ เดลูก้า ทั้งหมดให้กับใครสักคน
ซึ่งเราอาจจะได้เห็น ไมเนอร์ หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้ามาซื้อกิจการก็เป็นได้
แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง หนทางรอดของ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในไทย เหมือนจะไม่ได้มืดมนไปซะทีเดียว
เพราะตัวแบรนด์ยังมีโอกาสทำกำไรได้อยู่
และยังมีลูกค้าที่ชื่นชอบในตัวแบรนด์อยู่เป็นจำนวนมาก
เพียงแต่ ดีน แอนด์ เดลูก้า ต้องอดทนผ่านช่วงนี้ไปให้ได้
และนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของ PAEC และ ดีน แอนด์ เดลูก้า
ก็หวังว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ธุรกิจจะสามารถผ่านพ้นความท้าทายนี้ไปได้
เพราะการอยู่รอดของธุรกิจ ยังหมายถึง ความอยู่รอดของพนักงานอีกหลายชีวิต..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.