เรียนรู้วิธีระดมสมอง ฉบับ Disney ให้สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

เรียนรู้วิธีระดมสมอง ฉบับ Disney ให้สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

28 ธ.ค. 2023
รู้ไหมว่า ครั้งหนึ่งคุณวอลท์ ดิสนีย์ เคยถูกไล่ออกจากบริษัทหนังสือพิมพ์ที่เคยทำงาน
ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่มีไอเดียดี ๆ ในการทำงาน”
แต่ถึงอย่างนั้น ในเวลาต่อมา คุณวอลท์ ก็ได้กลายเป็นชายผู้สร้างโลกแห่งจินตนาการ ด้วยการเป็นผู้ก่อตั้ง “The Walt Disney Company”
และสร้างแอนิเมชันระดับตำนาน อย่าง “Mickey Mouse” หรือเจ้าหนูหูสีแดง ที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ปัจจุบัน The Walt Disney Company เป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 5,800,000 ล้านบาท
และยังเป็นผู้สร้างแอนิเมชัน ที่สร้างรายได้ติด 10 อันดับแรกของโลกอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Frozen, The Lion King และ Toy Story
แล้วจากความล้มเหลวด้านความคิดสร้างสรรค์ในวันนั้น
นำมาสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ได้อย่างไร ?
บทความนี้ MarketThink จะพาไปศึกษากลยุทธ์ที่มีชื่อว่า “The Disney Creativity Strategy” ที่ช่วยให้ The Walt Disney Company เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
โดย The Disney Creativity Strategy เป็นที่พูดถึงครั้งแรกในปี 1994 หรือเกือบ 30 ปีที่แล้ว
เป็นกลยุทธ์ที่เกิดจากคุณ Robert Dilts นักเขียนคนหนึ่ง ที่ศึกษาวิธีการทำงานของ The Walt Disney Company
อธิบายง่าย ๆ The Disney Creativity Strategy เป็นแผนการทำงาน ที่ช่วยให้องค์กรหรือทีมต่าง ๆ สามารถระดมไอเดีย ปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ซึ่งกลยุทธ์นี้ หลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ The Dreamer, The Realist และ The Critic
โดยสิ่งที่ต้องเตรียมในการพัฒนาขั้นตอนต่าง ๆ ก็มีเพียงแค่
- ห้องว่าง 3 ห้อง เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโหมดการพูดคุย ในแต่ละขั้นตอน
- หัวข้อเรื่อง ที่ต้องการระดมสมอง ปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์
เมื่อรู้พื้นฐานของ The Disney Creativity Strategy แล้ว
ทีนี้ลองมาดูกันว่า แล้วใน 3 ขั้นตอนเหล่านี้ มีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อนำไปสู่การปลดล็อกไอเดียใหม่ ๆ
1. ขั้นตอนแรก The Dreamer
เห็นเพียงแค่ชื่อ หลายคนก็คงพอจะเดาได้ว่า ในขั้นตอนนี้คือ ขั้นตอนแห่งการ “ช่างฝัน”
ดังนั้น ห้องแรกที่ทุก ๆ คนจะต้องเข้าไประดมสมอง จึงเป็นห้องที่ทุกคนจะรับบทเป็น “คนช่างฝัน” 
ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็น และเสนอไอเดีย “ได้ตามที่ต้องการ”
โดยไม่มีข้อจำกัดว่า ความคิดเห็นหรือไอเดียเหล่านี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงหรือไม่
หรือจะต้องใช้เงินทุน และกำลังคนมหาศาลมากแค่ไหน เพื่อให้ความคิดเห็นหรือไอเดียเหล่านั้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง
สาเหตุที่ต้องมีห้องนี้ เพราะหลาย ๆ ครั้งเวลาที่เราระดมไอเดีย กลับไม่ได้ความคิดสร้างสรรค์
นั่นก็เพราะ เรามักจะคิดว่าบางไอเดียไม่สามารถทำได้จริง หรือไม่น่าเวิร์ก
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผลงานดี ๆ อาจมาจากสิ่งที่เราคิดว่า ทำไม่ได้มาก่อน หรือคิดว่าไม่เวิร์ก ก็ได้..
2. ขั้นตอนที่ 2 The Realist
เมื่อระดมสมองในขั้นตอนแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นำมาสู่ขั้นตอนที่ 2
ในขั้นตอนนี้ จะเป็นห้องที่เปลี่ยนโหมดจากความฝัน มาสู่ “ห้องแห่งความเป็นจริง”
หลังจากที่ได้หลาย ๆ ไอเดียสุดสร้างสรรค์ หรือแปลกใหม่ จากขั้นตอนแรกมาแล้ว
ขั้นตอนนี้ก็จะนำไอเดียเหล่านั้น มาพูดคุยและพิจารณาร่วมกันว่า ไอเดียไหนเป็นไอเดียที่เป็นไปได้ และเป็นไอเดียที่ดีที่สุด
เมื่อตกลงกันได้แล้วว่า ไอเดียไหนเป็นไอเดียที่ดีที่สุด ต่อมาก็จะมีการร่าง Proposal เพื่อเปลี่ยนจากไอเดีย ให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง เช่น
- เขียน Action Plan หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานว่า ขั้นตอนที่ 1-3 ต้องทำอะไรบ้าง 
- กำหนดระยะเวลาในการรังสรรค์ให้ขั้นตอนต่าง ๆ เกิดขึ้นได้จริง
- ต้องใช้ทีมงานจำนวนเท่าไร ในการพัฒนาขั้นตอนต่าง ๆ
- ต้องใช้งบประมาณเท่าไร
3. ขั้นตอนที่ 3 The Critic
ในขั้นตอนนี้ จะเป็นขั้นตอนแห่ง “การวิพากษ์วิจารณ์”
สิ่งสำคัญของขั้นตอนนี้คือ เน้นการวิพากษ์วิจารณ์ Proposal ที่ออกแบบมา
ว่ามีจุดอ่อนตรงไหนที่ยังต้องพัฒนา มีอะไรที่ยังผิดพลาด ตกหล่น หรือมีอะไรที่ไม่สามารถรังสรรค์ให้เกิดขึ้นได้จริงอีกบ้าง
ซึ่งต้องไม่ใช่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์ไปที่ตัวบุคคล หรือเพื่อนร่วมทีม แต่ให้โฟกัสที่ตัวผลงานหรือไอเดียของแต่ละคน ว่าเป็นอย่างไร
นอกจากจะหาจุดอ่อน และสิ่งที่ต้องพัฒนาแล้ว
ในขั้นตอนนี้ ยังต้องหาทางออกและแนวทางในการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ ที่เตรียมมา ออกมาดูดีที่สุด จากนั้นจึงเข้าสู่การดำเนินงานตามแผนที่วางไว้
มาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า The Disney Creativity Strategy คือขั้นตอนที่ช่วยให้องค์กรหรือทีมต่าง ๆ สามารถระดมไอเดีย ปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า ในการใช้งานกลยุทธ์นี้ อาจไม่ได้เรียงเป็นขั้นตอนที่ 1 ถึง 3 เสมอไป
เพราะบางครั้ง ในขั้นตอนที่ 2 หลังจากที่ได้ไอเดียมาแล้ว แต่ไอเดียต่าง ๆ เหล่านั้นอาจไม่สามารถพัฒนามาสู่ความเป็นจริงได้
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปสู่ขั้นตอนแรก เพื่อระดมสมองใหม่ ๆ อีกครั้ง
หรืออีกกรณีคือ เมื่อพัฒนาขั้นตอนที่ 2 จนได้ Proposal แล้ว
แต่กลับพบ จุดอ่อนในขั้นตอนสุดท้าย ทำให้ไม่สามารถพัฒนา หรือหาทางออกเหล่านั้นได้
กรณีนี้ ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปขั้นตอนที่ 2 เพื่อเขียน Proposal ขึ้นมาใหม่
หรืออาจกลับไปขั้นตอนที่ 1 เพื่อระดมสมองหาไอเดียใหม่ ๆ อีกครั้งก็ได้..
ทั้งหมดนี้คือ กลยุทธ์ระดมสมอง เพื่อหาไอเดีย เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลาของ The Walt Disney Company
หากให้สรุปสั้น ๆ กลยุทธ์นี้ก็คือ การบาลานซ์ระหว่าง “ความฝัน” กับ “ความเป็นจริง” ทำให้ไม่สามารถขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปได้
หากไม่มี The Dreamer ก็คงไม่มีไอเดีย ที่นำมาสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ
หากไม่มี The Realist ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนจากไอเดีย มาสู่แผนงานจริงได้
หากไม่มี The Critic ก็อาจมีจุดอ่อน ทำให้ผลงานที่ออกมา ไม่สมบูรณ์แบบตามที่คาดหวังไว้
เหมือนอย่าง The Walt Disney Company
หากไม่มีกลยุทธ์นี้ หรือขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็คงไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่สร้างโลกแห่งจินตนาการให้กับทุกคนได้อย่างทุกวันนี้..
-------------------------------
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.