สรุป 8 ข้อ มาตรการ “Easy E-Receipt” ช็อป 50,000 ลดหย่อนภาษี แบบเข้าใจง่าย ๆ

สรุป 8 ข้อ มาตรการ “Easy E-Receipt” ช็อป 50,000 ลดหย่อนภาษี แบบเข้าใจง่าย ๆ

3 ม.ค. 2024
ตอนนี้กำลังมีมาตรการช็อปลดหย่อนภาษีตัวใหม่ ชื่อว่า Easy E-Receipt
ให้กับเรา ๆ ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถช็อปสูงสุด 50,000 บาท แล้วเอาไปลดหย่อนภาษีได้ คล้าย ๆ กับ ช้อปดีมีคืน ของเมื่อต้นปีที่แล้ว
รายละเอียดสำคัญ ๆ ของ Easy E-Receipt มีอะไรต้องทำความเข้าใจ เรามาดูกันเป็นข้อ ๆ
1. มาตรการนี้ มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
2. e-Tax Invoice & e-Receipt ที่สามารถเอามาคำนวณลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็น ใบกำกับภาษีหรือใบรับ “ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น” ไม่สามารถใช้รูปแบบกระดาษแทนได้
3. เราไม่ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษี เพราะข้อมูลจะถูกส่งเข้าฐานข้อมูลของกรมสรรพากรอัตโนมัติ ตามหมายเลขผู้เสียภาษีของเรา
4. ต้องเป็นการซื้อ สินค้าและบริการ จากผู้ประกอบการที่เข้าตามเงื่อนไขมาตรการ คือ
- เป็นผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt
- สามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ ในรูปของ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt
ซึ่งเราสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้ที่
https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/#/index/registered#top
และ https://interapp3.rd.go.th/signed_inter/publish/register.php
5. ยอด 50,000 บาท หมายถึง “ยอดซื้อ” สินค้าหรือบริการ ที่สามารถเอามาคำนวณลดหย่อนภาษีได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อสินค้าหรือบริการที่เข้าเงื่อนไข แบบเต็ม MAX 50,000 บาท
คนที่เสียภาษีในอัตรา 5%
จะสามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2,500 บาท
คนที่เสียภาษีในอัตรา 10%
สามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 5,000 บาท
คนที่เสียภาษีในอัตรา 15%
สามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 7,500 บาท
คนที่เสียภาษีในอัตรา 20%
สามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 10,000 บาท
6. ยอดช็อปตรงนี้ จะถูกเอาไปลดหย่อนในการยื่นภาษีตอนปี 2568 หรือปีหน้า
7. สินค้าหรือบริการบางอย่าง ที่ไม่เข้าเงื่อนไขลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ เช่น
-สุรา, เบียร์, ไวน์, ยาสูบ
-ซื้อรถยนต์, จักรยานยนต์
-น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
-ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
-ค่าบริการสัญญาณมือถือ-บริการอินเทอร์เน็ต
-ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
8. ตัวอย่างสินค้าสินค้าบริการน่าสนใจ ที่สามารถซื้อจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมรายการ แล้วนำมาลดหย่อนภาษีตามมาตรการได้
เช่น สินค้าไอที, ค่าอาหารในโรงแรม, ค่าซ่อมรถ, ค่ากำเหน็จทอง, แพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ, สินค้า OTOP
รวมถึงสินค้าของร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น Lazada, Shopee และเว็บไซต์ CENTRAL
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.