ชาตรามือ ร้านชาที่โตไม่หยุด

ชาตรามือ ร้านชาที่โตไม่หยุด

4 เม.ย. 2020
ชาตรามือ ชื่อนี้ทำให้นึกถึงหน้าร้านสีแดงสะดุดตา ที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติยืนต่อคิว
แต่รู้ไหม ถ้าถามคนสมัยก่อน ชาตรามือจะไม่ได้มีภาพลักษณ์แบบนี้
ชาตรามือ เคยเกือบถูกลืมไปจากตลาด
แต่ก็กลับมาได้อย่างโดดเด่น ด้วยฝีมือทายาทรุ่นที่ 3 คุณพราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช
จุดเริ่มต้นของ ชาตรามือ ก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ในรุ่นอากง
ผู้อพยพชาวจีน ที่ได้เปิดร้านชาจีน “ลิมเมงกี” แถวเยาวราช
ร้านจำหน่ายชาร้อน ใบชาและอุปกรณ์ชงชา ซึ่งนำเข้ามาจากเมืองจีน
ก่อนจะหันมาปลูกชาเองที่จังหวัดเชียงราย
ต่อมารุ่นพ่อของคุณพราวนรินทร์
ก็ได้เปิดโรงงานแปรรูปที่เชียงราย เพราะอยากให้ใกล้แหล่งวัตถุดิบ
โดยดำเนินธุรกิจขายส่งอย่างเดียว ไม่มีหน้าร้าน
รับซื้อใบชาจากเกษตรกรในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง
มาแปรรูป บรรจุหีบห่อ และจำหน่ายให้กับร้านขายชา กาแฟ ร้านขายเครื่องดื่ม
ซึ่งตอนนั้น สินค้ายังไม่มีชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการ
มีเพียงโลโก้ ที่เป็นรูปยกนิ้วโป้ง
โดยรูปโลโก้นี้ หลายสินค้าในสมัยก่อนนิยมใช้กัน
เพราะต้องการสื่อว่า เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ
พอไม่มีชื่อแบรนด์ คนสมัยนั้นก็เลยชอบเรียกชื่อกันเอง
เช่น ชาตรามือ ชาตราหัวแม่โป้ง
สุดท้ายในปี พ.ศ. 2488 ก็ได้ข้อสรุปว่า จะให้มีชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการว่า “ชาตรามือ”
ถ้านับจากตอนนี้ แบรนด์ก็มีอายุกว่า 75 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ชาตรามือเพิ่งจะมาโด่งดังจริงๆ ในยุคคุณพราวนรินทร์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3
คุณพราวนรินทร์ จบบัญชีจาก ม.ธรรมศาสตร์
และเคยทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะมารับช่วงต่อกิจการที่บ้าน
ซึ่งตอนที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ คำถามแรกที่เธอถามตัวเองคือ
ทำไม ชาตรามือ ถึงไม่เป็นที่รู้จักของผู้คน แม้อยู่ในวงการมานาน ?
เพื่อต้องการให้แบรนด์ชาตรามือ เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
เธอเลยเริ่มไปออกบูทงานแสดงอาหารและเครื่องดื่ม
พร้อมสาธิตการชงชาให้ลูกค้าดื่ม
ซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่า ได้กระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า
และนั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดีย “เปิดร้านชาตรามือ” เป็นของตัวเอง
การมีหน้าร้าน เป็นอีกกลยุทธ์การตลาดที่ดี
นอกจากจะเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าแล้ว
ยังทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก จดจำ และใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น
โดยร้านชาตรามือจะขายเครื่องดื่มที่เราคุ้นเคยกัน เช่น ชาเย็น ชาดำเย็น ชามะนาว
ซึ่งจริงๆ เหตุการณ์ที่ทำให้ ร้านชาตรามือ โด่งดังเป็นพลุแตก
คือปี พ.ศ. 2560 ที่มีการเปิดตัวชากุหลาบ ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์
ชาที่มาพร้อมสรรพคุณ ทั้งบำรุงผิวพรรณ ปรับสมดุลฮอร์โมน
และช่วยในการขับถ่าย..
ด้วยความแปลกใหม่ เลยทำให้สินค้านี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนรุ่นใหม่
เกิดเป็นไวรัลบนโลกโซเชียล ทั้ง Facebook, Twitter ที่คนพูดถึงกัน
และสร้างปรากฏการณ์ชากุหลาบฟีเวอร์
ผู้คนต่างอยากไปลิ้มลองชากุหลาบ
จนหน้าร้านชาตรามือ มีลูกค้าต่อแถวร้านยาวเหยียด และขายดีจนสินค้าหมดสต็อก
ซึ่งหลังจากชากุหลาบ ทางร้านก็ได้นำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ
รสชาไทย ชาเขียว ชากุหลาบ มาวางจำหน่าย
สิ่งที่ชาตรามือให้ความสำคัญในการทำธุรกิจก็คือ
“โลเคชัน” และ “คุณภาพสินค้า”
โลเคชันที่ดี จะทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น
ส่วนคุณภาพสินค้า จะช่วยมัดใจลูกค้าให้กลับมาอุดหนุน
นอกจากนี้ ร้านชาตรามือ ยังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
ไม่ว่าจะซื้อทานที่หน้าร้าน หรือหิ้วสินค้าเป็นของฝากกลับประเทศ
ด้วยการที่ชาตรามือมีสาขาตามสนามบิน และแหล่งท่องเที่ยว
เลยทำให้ชาวต่างชาติรู้จักแบรนด์เป็นอย่างดี
และในคู่มือท่องเที่ยวเอง ก็มีแนะนำว่า หากมาเมืองไทย
ต้องลองดื่ม CHA-YEN ของชาตรามือ..
บริษัท สยาม เอฟ บี โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชาสำเร็จรูป-ใบชา
ปี 2560 มีรายได้ 422 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 481 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 485 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้มาจาก จำหน่ายในประเทศ 60%
และต่างประเทศ 40% เช่น สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย จีน กัมพูชา
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพย์ธารี ดำเนินกิจการร้านเครื่องดื่มชา-กาแฟ
ปี 2560 มีรายได้ 216 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 376 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 538 ล้านบาท
ปัจจุบัน ร้านชาตรามือมีอยู่ 102 สาขาทั่วประเทศไทย
และมีแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ได้แก่
พม่า, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, จีน, กัมพูชา และบรูไน รวม 33 สาขา
ถ้าดูจากรายได้ของชาตรามือ ก็จะเห็นชัดเจนว่า มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกตอนนี้
ก็นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ ชาตรามือ
เพราะลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีน
ที่ปกติจะมารอต่อคิวหน้าร้าน เพื่ออุดหนุนเครื่องดื่ม
ก็จะน้อยลงอย่างมาก หรืออาจหายไปทั้งหมด
ส่วนสาขาภายในห้างสรรพสินค้า ก็ต้องปิดให้บริการลงตามคำสั่งรัฐฯ
ทำให้รายได้กลายเป็นศูนย์..
และบริษัทยังมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศถึง 40%
ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่า
ต่างประเทศก็จะสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทน้อยลงเช่นกัน
สรุปว่าปีนี้ ชาตรามือ ต้องลำบากหน่อย
รายได้ของบริษัทจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
ซึ่งอาจทำให้รายได้ไม่เติบโตเหมือนกับปีก่อนๆ
หรือกรณีที่แย่ที่สุด ถ้าสถานการณ์ COVID-19 ไม่ดีขึ้นโดยเร็ว
รายได้ของบริษัท ก็อาจลดลง..
รู้หรือไม่ คาเฟ่ อเมซอน ก็เป็นลูกค้าของชาตรามือ
โดยสั่งซื้อชาจาก ชาตรามือเดือนละ 88.5 ตัน เพื่อเอามาเป็นวัถตุดิบ
อ้างอิง :
http://www.thaismescenter.com
https://prop-a-lot.com/chatramue/
https://www.peerpower.co.th/blog/
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.