รู้จัก Spork นวัตกรรม ช้อน+ส้อม สิ่งประดิษฐ์อายุ 150 ปี ที่ KFC ไทย เพิ่งนำมาใช้

รู้จัก Spork นวัตกรรม ช้อน+ส้อม สิ่งประดิษฐ์อายุ 150 ปี ที่ KFC ไทย เพิ่งนำมาใช้

15 ม.ค. 2024
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ถ้าใครได้เข้าไปที่ร้านอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดังอย่าง KFC น่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง
นั่นก็คือ KFC หลาย ๆ สาขา ได้มีการเปลี่ยนจากการแจกช้อนส้อมพลาสติก มาเป็นการแจกสิ่งที่เรียกว่า “Spork”
ที่ทำหน้าที่เป็นได้ทั้ง ช้อนและส้อม ในคันเดียว เหมือนในรูปประกอบบทความนี้
ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้นำไปสู่ “เสียงบ่น” ของลูกค้าชาวไทยหลายคน เพราะ Spork นั้น ใช้งานไม่สะดวก และทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าช้อนส้อมแบบธรรมดา
แต่รู้ไหมว่า ความจริงแล้ว Spork ที่หลายคนกำลังบ่น ๆ กันอยู่นี้ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีอายุนับย้อนกลับไป ได้ถึง 150 ปี เลยทีเดียว
แล้วถ้าถามว่า Spork เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจอย่างไร เรามาดูกัน..
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า Spork เป็นคำที่เกิดจากการนำคำว่า Spoon ซึ่งแปลว่าช้อน และคำว่า Fork ซึ่งแปลว่าส้อม
ทำให้พอมารวมกันแล้ว Spork ก็เลยทำหน้าที่เป็นได้ทั้งช้อนและส้อม ในคันเดียว
ส่วนจุดกำเนิดของ Spork นั้น อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การกินของคนทั่วโลก มาตั้งแต่ในยุคโบราณ
เพราะเคยมีการจดบันทึกข้อมูล ในช่วงยุคกลาง (Middle Ages) ของยุโรป
ที่พบว่าคนในช่วงเวลานั้น มีการใช้อุปกรณ์การกิน ที่มีลักษณะคล้ายกับ Spork คือ ด้านหนึ่งเป็นส้อม ส่วนอีกด้านเป็นช้อน สำหรับการกินผลไม้อบแห้งชิ้นเล็ก ๆ
รวมถึงในช่วงยุคสมัยจักรวรรดิโรมัน ก็มีการใช้ Spork เช่นเดียวกัน
แต่หากนับเฉพาะ หลักฐานทางด้านสิทธิบัตร
จะพบว่า Spork ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสิทธิบัตรครั้งแรก กับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1874 หรือเมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเจ้าของสิทธิบัตร คือคุณหมอชนชั้นสูง ที่ชื่อว่า Samuel W. Francis
โดยมีการระบุคำอธิบายของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เอาไว้ว่า เป็นอุปกรณ์สำหรับกินอาหาร ที่รวมเอาช้อน ส้อม และมีด เข้าไว้ด้วยกันในคันเดียว เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย สะดวกในการพกพา
ซึ่งรูปร่างหน้าตา Spork ของ Samuel W. Francis มีลักษณะคล้าย ๆ กับ Spork ในยุคปัจจุบัน
ที่น่าสนใจคือ นอกจาก Spork แล้ว Samuel W. Francis ยังมีการจดสิทธิบัตรของตัวเองเอาไว้มากถึง 12 รายการ ตลอดช่วงชีวิตของเขา ตัวอย่างเช่น
- แปรงสีฟันที่มีขนแปรงทำจากยาง
- เครื่องประทับตราจดหมาย
- เครื่องพิมพ์ดีดที่มีลักษณะคล้ายเปียโน
- ไม้เท้าที่ด้านในมีช่องเก็บเหรียญ เอาไว้สำหรับจ่ายค่ารถเมล์โดยเฉพาะ
แต่สิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา ก็คงหนีไม่พ้น Spork อย่างแน่นอน
ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีบุคคลอื่น ๆ นำ Spork ไปดัดแปลง และจดสิทธิบัตร ในเวอร์ชันของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ
จนในที่สุด คำว่า Spork จึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียกอุปกรณ์การกินในรูปแบบนี้ ไปโดยปริยาย และถูกนำไปบรรจุไว้ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Century Dictionary ในปี 1909 ด้วย
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน Spork กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในร้านอาหารฟาสต์ฟูดทั่วโลก
โดย KFC ในต่างประเทศหลายประเทศ มีการนำ Spork มาใช้ เป็นระยะเวลาหลายสิบปีมาแล้ว
นั่นหมายความว่า แม้ KFC ในประเทศไทย เพิ่งจะมีการเปลี่ยนมาใช้ Spork ได้ไม่กี่เดือน แต่ KFC ในต่างประเทศ กลับเป็นผู้บุกเบิก ในการนำ Spork มาใช้ในร้านอาหารฟาสต์ฟูด
คำถามคือ ทำไมร้านอาหารฟาสต์ฟูดทั่วโลก จึงนิยมแจก Spork ให้กับลูกค้าแทนช้อนส้อม ?
เรื่องนี้ตอบได้ไม่ยากเลย ว่าการแจก Spork แทนช้อนส้อม น่าจะช่วยเรื่องของการลดต้นทุนได้
ลองคิดตามง่าย ๆ แบบไม่ซับซ้อน
ปกติในร้าน KFC หลายสาขา จะมีอุปกรณ์สำหรับการกินให้เราหยิบหลัก ๆ 3 อย่าง คือ ช้อน ส้อม และมีด
แต่หากเปลี่ยนมาเป็น Spork ทางร้านก็สามารถรวบ ช้อนกับส้อม ให้เหลือเป็นแค่ Spork ได้
และน่าจะช่วยลดจำนวนการแจกอุปกรณ์เหล่านี้ลงได้
คำนวณแบบคร่าว ๆ ต้นทุนที่ต้องใช้ในส่วนการแจกอุปกรณ์นี้ ก็อาจลดลงในทันทีเกือบครึ่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของลูกค้าทั่วโลก กลับไม่ได้ชอบใช้ Spork มากนัก
เพราะแม้ Spork จะเป็นได้ทั้งช้อนและส้อมในคันเดียวกัน แต่กลับใช้งานได้ไม่ดีเท่าช้อนส้อมแบบปกติ
จนคนทั่วโลกต่างมองว่า Spork เป็นของที่ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง แต่กลับไม่สามารถทำหน้าที่ใด ๆ ให้ดีได้เลยแม้แต่อย่างเดียว
จะเป็นช้อน ก็ตักอาหารได้ไม่ดี หรือจะเป็นส้อม ก็จิ้มอาหารไม่ค่อยได้
แต่ถ้าถามว่า Spork เป็นอุปกรณ์การกินอาหารที่ไม่มีใครชื่นชอบเลยหรือไม่ ?
เรื่องนี้ก็คงต้องตอบว่า “ไม่ใช่” เพราะ Spork นั้น ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ หรือคนที่ออกไปตั้งแคมป์
ที่ต้องการความสะดวกสบาย สามารถพกพา Spork ไปใช้ได้ในที่ต่าง ๆ แทนที่จะต้องพกช้อนส้อมแบบธรรมดาไปใช้
รวมถึงในโรงเรียน และเรือนจำบางแห่ง ในต่างประเทศ ก็มีการเลือกใช้ Spork แทนช้อนส้อมเช่นกัน เพื่อป้องกันการนำส้อมซึ่งมีความแหลมคมมากกว่า Spork มาใช้เป็นอาวุธ
นอกจากนี้ ข้อดีของการใช้ Spork อีกอย่างหนึ่งก็คือ
เหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะจากการคาดการณ์ของ Forbes พบว่า ในแต่ละปีมีช้อนส้อมพลาสติกราว 40 ล้านคัน ถูกทิ้งลงในทะเล
ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ Spork ก็อาจมีส่วนช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลได้ไม่น้อย
จากที่อ่านมาทั้งหมดนี้ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากเรื่องของ Spork ?
สินค้าบางอย่าง อาจไม่ได้เหมาะกับการใช้งานของลูกค้าทุกคนบนโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าชิ้นนั้น จะไม่มีข้อดีเลย
เหมือนกับที่ Spork อาจไม่ใช่อุปกรณ์การกินอาหารที่ดี สำหรับลูกค้าของร้านอาหารฟาสต์ฟูด
แต่กลับเป็นอุปกรณ์การกินอาหารที่ดี สำหรับคนที่ต้องการความสะดวก หรือคนที่ไม่ต้องการพกช้อนส้อมไปตั้งแคมป์ ให้หนักกระเป๋า
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สินค้าแต่ละชิ้น มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
และถ้าอยากจะขายสินค้าให้ได้ ก็ต้องหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้เจอ..
ส่วนใครที่ไปกิน KFC แล้วเจอ Spork แบบที่ว่านี้
ชอบกันไหม ?..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.