การปรับตัวของ WORKPOINT ในยุควิกฤติสื่อทีวี

การปรับตัวของ WORKPOINT ในยุควิกฤติสื่อทีวี

6 เม.ย. 2020
ย้อนกลับไปเกือบ 3 ปีที่แล้ว WORKPOINT เคยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 34,000 ล้านบาท
แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2,781 ล้านบาท ลดลงไปถึง 92% เลยทีเดียว
ขณะที่ในปี 2562 บริษัทมีรายได้ 2,835 ล้านบาท ลดลง 22% หากเทียบกับปีก่อน
ส่วนกำไรอยู่ที่ 159 ล้านบาท ลดลง 54%
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้รายได้และกำไรหดหายมาจากเรตติ้งรายการต่างๆ ลดน้อยลง
ผลร้ายที่ตามมาก็คือ รายได้หลักอย่างขายโฆษณาทีวีที่คิดเป็น 77% จากรายได้ทั้งหมด ลดลงตามลงไปด้วย
ซึ่งในปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายโฆษณาทีวี 2,193 ล้านบาท ลดลง 26% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา
รายได้และกำไรที่หายไป หลายคนอาจคิดว่า WORKPOINT กำลังเดินเกมธุรกิจผิดพลาด
แต่จริงๆ แล้วหากเรามองให้กว้างไปถึงภาพใหญ่ก็จะพบว่า
ณ วันนี้ 5 ช่องที่มีอันดับเรตติ้งสูงสุดในอุตสาหกรรมทีวีเมืองไทย
จะมีเพียงช่อง 7 กับ WORKPOINT เท่านั้นที่ยังมีกำไรในธุรกิจนี้
ความจริงที่โหดร้ายนี้ กำลังจะบอกอะไรกับเรา?
ณ วันนี้ใช่ว่าการทำธุรกิจทีวีแล้วมีเรตติ้งดี จะการันตี “กำไร” เป็นกอบเป็นกำ เหมือนอย่างในอดีต
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือช่อง 3 แม้เรตติ้งปีที่ผ่านมาจะอยู่อันดับ 2 รองจากช่อง 7
แต่ก็ยังขาดทุน 397 ล้านบาท
ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ช่อง 3 ก็มีเรตติ้งอันดับ 2 เช่นกัน แต่ก็ยังมีกำไรถึง 1,218 ล้านบาท
เพราะเวลานี้ สื่อทีวีไม่ได้ทรงอิทธิพลเหมือนอย่างในอดีต
ด้วยการที่มีสื่อออนไลน์มาแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อทีวี
ซ้ำร้ายก็ยังมีช่องทีวีเพิ่มมากขึ้นจากยุคอนาล็อกที่มีแค่ 6 ช่อง แต่ปัจจุบันมีถึง 18 ช่อง
อธิบายง่ายๆ ก็คือ เค้กโฆษณาที่ชื่อว่าทีวีชิ้นเล็กลง แต่กลับมีคนแย่งชิงเค้กมากขึ้น
ซึ่งเรื่องทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่ทีมผู้บริหาร WORKPOINT รู้ดี
เพราะต่อให้อนาคต ตัวเองมีเรตติ้งขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมทีวี
ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะมีกำไรในธุรกิจนี้หรือไม่
จึงทำให้ WORKPOINT มีการปรับตัวในการทำธุรกิจ
โดยหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดก็คือการลดต้นทุนตัวเอง
ซึ่งในปีที่ผ่านมา WORKPOINT มีต้นทุนในการผลิตรายการทั้งของช่องตัวเอง
และรับจ้างผลิตรายการให้คนอื่นอยู่ที่ 1,754 ล้านบาท
ซึ่งลดลงมากถึง 21% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา
แต่เท่านี้ดูจะไม่เพียงพอ เพราะหากเราอยู่ในสถานการณ์เหมือน WORKPOINT
ที่รายได้หลักมีแนวโน้มพร้อมที่จะลดลงเรื่อยๆ ในทุกๆปี
เราก็ต้องไปเพิ่มรายได้ในส่วนอื่นๆ เข้ามาทดแทนรายได้หลักที่หายไป
แรกสุดอย่างที่เรารู้กันดีก็คือ WORKPOINT มีสื่อออนไลน์ของตัวเอง
ทั้งใน Facebook และ Youtube
แต่ที่หลายคนยังไม่รู้ และกำลังเป็นความหวังใหม่ในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัท
ก็คือธุรกิจใหม่ด้วยการเป็นช่องทีวี ที่มีแบรนด์สินค้าความงาม 2 แบรนด์เป็นของตัวเอง
คือ “Let Me In BEAUTY” ที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้ และแบรนด์ “Me Vio”
ซึ่งหากสังเกต WORKPOINT กำลังจริงจังกับธุรกิจนี้มาก
เมื่อขยายเวลาขายสินค้ามาเป็น 80 นาที/วัน ในช่องของตัวเอง
พร้อมกับเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้นจากแต่เดิมคือขายผ่าน 1346 Hello Shop ที่เป็นรายการประเภท TV Shopping แต่เวลานี้มีการเปิดรับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ
ซึ่งก็ดูเหมือน WORKPOINT จะมาถูกทางเพราะเมื่อมาดูรายการจากธุรกิจนี้
ก็กำลังค่อยๆ สร้างเม็ดเงินเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จนในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 217 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นถึง 23% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ซึ่งใครจะไปรู้ ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็น คุณปัญญา นิรันดร์กุล เจ้าของ WORKPOINT
ให้ดาราในสังกัดช่องตัวเองจนไปถึง แก๊งสามช่า มาช่วยขายสารพัดสินค้าผ่านหน้าจอทีวี และในออนไลน์
เหมือนอย่างที่เฮียฮ้อ เจ้าของอาณาจักร RS เคยทำมาแล้ว
ก็ในเมื่ออยากให้ช่องทีวีตัวเองยังมีลมหายใจอยู่ เวลานี้จะคิดแบบเดิมๆ คือผลิต Content คุณภาพ แล้วหวังแต่จะขายโฆษณาจากแบรนด์สินค้า อย่างเดียวคงอาจไม่เพียงพอ
การเป็นเจ้าของช่องทีวีในยุคนี้ อาจต้องมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองด้วยถึงจะ “เอาอยู่”
อ้างอิง :
รายงานประจำปีและคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการสิ้นปี 2562 บริษัท WORKPOINT
นีลเส็น ประเทศไทย
https://www.tvdigitalwatch.com/cate…/tv-rating/rating-anual/
ตลาดหลักทรัพย์ฯ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.