การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกในปีนี้อย่างไร

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกในปีนี้อย่างไร

7 เม.ย. 2020
ตลาดการเงินโลกกำลังผันผวนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สร้างความตื่นกลัวให้กับนักลงทุนในระดับที่ใกล้เคียงกับวิกฤติการเงินปี 2008 ก่อให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ทุกประเภท จนตลาดหุ้นตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และนี่คือมุมมองต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันจาก KBank Private Banking ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย
เศรษฐกิจโลกจะป่วยนานแค่ไหน
เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบอย่างหนัก และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในไตรมาสสอง ทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หรือ Technical Recession[1] ในครึ่งแรกของปี 2020KBank Private Banking และ พันธมิตรลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) ผู้ให้บริการไพรเวทแบงค์ระดับสากล ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 220 ปี และผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินมาแล้วกว่า 40 ครั้ง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การควบคุมการแพร่ระบาด การกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงิน และการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังการคาดการณ์แนวโน้มสภาพเศรษฐกิจโลก จึงตั้งอยู่บน 2 คำถามสำคัญคือ โลกจะควบคุมการแพร่ระบาดภายในครึ่งปีแรกได้หรือไม่ และมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังจะมีประสิทธิภาพในการประคับประคองเศรษฐกิจได้แค่ไหนและนานเพียงใด
ในกรณีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ก่อนครึ่งหลังของปี 2020 เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะช็อกชั่วคราวเพียงในครึ่งปีแรก และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง แม้จะไม่กลับไปขยายตัวได้ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกทั้งปีจะติดลบประมาณ 0.3%[2] ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองตั้งแต่ปี 1945 ที่ GDP โลกติดลบกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ต้องยืดเยื้อไปถึงไตรมาสสี่ ผลกระทบที่ตามมา คือ การว่างงานพุ่งขึ้น ธุรกิจอาจขาดสภาพคล่องหรือล้มละลาย คาดว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำต่อเนื่อง และจะติดลบได้สูงถึง 3%[3]
ตลาดทุนจะผันผวนต่อไปนานแค่ไหน
ตลาดทุนโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยทิศทางตลาดทุนในปีนี้แบ่งได้เป็น 2 กรณี เช่นเดียวกัน
ในกรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด หากมาตรการการควบคุมโรคได้ผล คาดว่านักลงทุนอาจต้องทนอึดอัดกับภาวะตลาดผันผวนอีก 2-3 เดือน แต่ในระยะยาว ราคาสินทรัพย์มีโอกาสเพิ่มขึ้น ด้วยแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกและราคาน้ำมันที่ลดลงในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อ อาจเกิดวิกฤติสถาบันการเงิน ทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับลดลงได้อีก 20-25% หรือมากกว่า[4] ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ในตราสารเอกชนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ทองคำ จะเป็นสินทรัพย์ที่ยังคงได้ประโยชน์
3 กลยุทธ์การลงทุนในภาวะวิกฤติ
1.    อยู่กับความเสี่ยงให้ได้ เพื่อรอวันตลาดฟื้นตัว
2.    จัดพอร์ตโดยเน้นการกระจายความเสี่ยงสินทรัพย์ทางการเงินในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ และเงินสด
3.    ตั้งสติให้มั่นและแยกแยะว่า อะไรเป็นเรื่องชั่วคราว อะไรเป็นเรื่องระยะยาว
ทั้ง 3 กลยุทธ์ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปได้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.