โรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากโควิด-19

โรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากโควิด-19

7 เม.ย. 2020
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ตอนนี้
ไม่ว่าจะเป็นคนทำธุรกิจหรือเป็นลูกจ้างก็ได้รับผลกระทบกันหมด
เพราะต้องปิดร้านค้าตามมาตรการของรัฐ
เงินไม่หมุนเวียน เศรษฐกิจหยุดชะงักเป็นลูกโซ่
ขณะเดียวกันหลายๆ คนอาจจะมีความคิดว่าโรงพยาบาลน่าจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์จากการระบาดของโควิด-19 และมีรายได้สูงขึ้นจากค่ารักษาพยาบาล ค่าตรวจโรค
เพราะคนป่วยจากโรคโควิด-19 มีเป็นจำนวนมาก
และหลายคนก็เกิดความกังวลใจ เลยไปตรวจเพื่อความอุ่นใจ
แต่นั่นก็ยังเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องสักทีเดียว
รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนักอย่างสหรัฐอเมริกา
มีผู้ป่วยจำนวนมากรอการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล
แต่ด้วยทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอและอุปกรณ์ป้องกันที่ขาดแคลน
ทำให้การรักษาคนไข้นั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก
นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์หลายแห่งในสหรัฐฯ กำลังจะถูกจะลดเงินเดือน ไม่ได้โบนัส ลดสวัสดิการ รวมถึงมีการพักงานด้วย
โดยอย่างน้อยจะลดเงินเดือนบุคลากรลงถึง 20%
ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรที่ต้องต่อสู้กับโรคโควิด-19 แนวหน้าอย่างทีมในห้องฉุกเฉิน
ทำไมในช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทำงานที่หนักหนาสาหัสมากสำหรับทีมแพทย์
ยังมีการลดเงินเดือนบุคลากรเหล่านี้อีก?
เราต้องอย่าลืมข้อเท็จจริงว่าโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้มีอยู่โรคเดียว
โรงพยาบาลเองก็มีการลงทุนสร้างแผนกต่างๆ มารองรับโรคมากมาย
แต่โรคระบาดอย่างโควิด-19 สร้างความแตกต่างออกไป
คือมีผู้ป่วยเฉพาะโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก
แต่ในทางกลับกันแผนกอื่นนั้นไม่มีคนไข้เลย
คนไข้ไม่กล้ามาที่โรงพยาบาลเพราะต่างกลัวที่จะไปที่ที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยโควิด-19
ดังนั้นถ้าไม่ฉุกเฉินจริงๆ หรือมีเหตุเร่งด่วน ในเวลานี้คงไม่มีใครอยากจะไปหาหมอสักเท่าไร
โดยเฉพาะการผ่าตัดบางอย่างที่ไม่เร่งด่วนก็ถูกเลื่อนออกไปก่อน
ซึ่งส่วนนี้เป็นรายได้สำคัญของทางโรงพยาบาลเลยทีเดียว
รายได้ที่หายไปของโรงพยาบาลจึงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่มีอยู่
อย่างในออสเตรเลียเองก็มีโรงพยาบาลบางแห่งต้องปิดทำการชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่ายออกไปก่อนในช่วงนี้
มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่โควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปในทุกธุรกิจ
แต่ที่แปลกคือ แม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลและสาธารณสุขที่มีไว้จัดการโรคโดยเฉพาะก็ยังหนีไม่พ้น
หลักฐานอีกอย่างคือ อัตราการจ้างงานทางด้านสาธารณสุขกำลังลดลง
โดยเฉพาะแผนกอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนกฉุกเฉิน หรือการดูแลคนไข้วิกฤติ
นอกจากนี้โรงพยาบาลในไทยเองก็ได้รับผลกระทบในเรื่องผู้ป่วยชาวต่างชาติ
ประเทศไทยถือเป็น Medical Hub ที่สำคัญของอาเซียน
แต่ในตอนนี้การเดินทางระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก
เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางของแต่ละประเทศช่วงโควิด-19
และสายการบินหลายแห่งก็ระงับเที่ยวบิน
แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติย่อมหายไปเป็นจำนวนมาก
อย่างลูกค้าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็เป็นชาวต่างชาติ 66%
ส่วน BDMS ก็มีลูกค้าต่างชาติกว่า 30%
อีกไม่นานเราอาจจะเริ่มเห็นโรงพยาบาลในประเทศไทยมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายออกมาบ้าง
แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ของเราน้อยที่สุด
เพื่อเป็นการรักษาขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของพวกเราทุกคน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.