กรณีศึกษา เมื่อ Lazada กำลัง “ปรับตัว” ครั้งใหญ่ เพื่อสู้ศึก E-commerce

กรณีศึกษา เมื่อ Lazada กำลัง “ปรับตัว” ครั้งใหญ่ เพื่อสู้ศึก E-commerce

6 มี.ค. 2024
ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา หนึ่งข่าวใหญ่ในวงการบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก คือการที่หลายบริษัทได้ประกาศปลดพนักงานจำนวนมาก  
เหตุผลเพราะบริษัทต่าง ๆ มักโฟกัสไปที่การขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต ด้วยการเพิ่มจำนวนพนักงาน และเพิ่งค้นพบว่า หากยังยึดติดกับการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ธุรกิจอาจไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย ก็คือ Google และ Microsoft โดยเฉพาะ Meta เจ้าของเฟซบุ๊ก ที่เมื่อลดจำนวนพนักงานพร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจ มูลค่าของบริษัทที่กล่าวมา ก็ปรับตัวสูงขึ้นมาในทันที 
เหตุผลเพราะว่า ตลาด และนักลงทุน มองว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจ ส่งผลให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจมีโอกาสที่เปิดกว้างในการทำกำไร 
หนึ่งในตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดเลยในบ้านเรา ก็คือ กรณีของ Lazada ที่ได้ออกมารายงานข่าวว่า มีการปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ในลักษณะเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อ เพิ่มความคล่องตัว และสร้างการเติบโตในธุรกิจ E-commerce
แล้วตลาด E-commerce ในไทย เป็นอย่างไร ? 
ก่อนอื่นเลย E-commerce เป็นตลาดที่ท้าทาย ทั้งในด้านผู้ให้บริการ ที่ต้องอาศัยความเร็วและความคล่องตัว เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงในด้านพฤติกรรม “ผู้ซื้อ” และ “ร้านค้า” ที่มีความต้องการหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
หาก Lazada ต้องการยืนหนึ่งในสมรภูมิ E-commerce ในภูมิภาคอาเซียน ก็ต้องปรับตัวให้รวดเร็ว พร้อมกับยกระดับบริการของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของ “ผู้ซื้อ” และ “ร้านค้า” ได้อย่างครบครัน
จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมา Lazada มีการปรับตัว โดยเริ่มโฟกัสไปที่การสร้างประสบการณ์ที่ดี และลงทุนกับอีโคซิสเต็มอย่างต่อเนื่อง 
ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในเทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้นักช็อปค้นหาสินค้าที่ต้องการได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากผู้ซื้อจะฟิน ในอีกมุมหนึ่ง ก็นับเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้า ไปพร้อม ๆ กัน
ขณะเดียวกัน Lazada ก็ยังให้ความสำคัญกับการคัดกรองสินค้าบนแพลตฟอร์ม เพื่อไม่ให้ผู้ซื้อ ต้องได้รับผลกระทบจากผู้ขายที่หลอกลวง ถือเป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์ม และเป็น Pain Point ของอุตสาหกรรมนี้ 
แพลตฟอร์มไหน ควบคุมกระบวนการนี้ได้ดีเท่าไร แพลตฟอร์มนั้น ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เท่านั้น และลูกค้าก็มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงบนลาซาด้า
โดยหากไปดูบัญชีกลุ่มตลาด ละเมิดลิขสิทธิ์ระดับสูง (Notorious Markets) จากรายงานล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็จะพบว่า ไม่มีชื่อของ Lazada อยู่ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง
อีกหนึ่งด้านที่ลาซาด้า สามารถเพิ่มความได้เปรียบได้ คือ การใช้จุดแข็งด้านเครื่องมือการตลาดที่มีเทคโนโลยีล้ำ ๆ มาพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น ยอดขาย, พฤติกรรมผู้บริโภค จากที่ดีอยู่แล้วให้อัปเกรดไปอีกขั้น เพื่อให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดสร้างรายได้ จนถึงนำไปพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง
การปรับตัวและทำธุรกิจเชิงรุกกว่าเดิมของ Lazada นอกจากเหตุผลด้านการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีคู่แข่งหน้าใหม่ เช่น TikTok Shop เกิดขึ้น
ที่น่าจับตามอง คือ อุตสาหกรรมไหนก็ตามที่มีการแข่งขันรุนแรง นั่นหมายถึง “โอกาสในการเติบโต” 
จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาด E-commerce ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องอีกหลายปี 
สะท้อนจากมูลค่าตลาด E-commerce ของไทยในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วน 16% จากมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมดภายในประเทศ 
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้แพลตฟอร์ม E-commerce ตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างฐานนักช็อปและร้านค้าต่าง ๆ ให้อยู่ในมือมากที่สุด
เช่นเดียวกับทาง Lazada ที่เลือกปรับเกมธุรกิจมาอยู่ในโหมดเชิงรุก เน้นความคล่องตัว พร้อมกับสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้นักช็อปและร้านค้าตลอดเวลา
อาจมองได้ว่า การปรับตัวในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่จะสู้ในระยะยาวเพื่อก้าวสู่การเป็น E-commerce ที่ครองใจนักช้อปไทย 
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่า ผู้เล่นรายอื่นๆ จะเดินเกมอย่างไรต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมนี้ยังคงแข่งขันชนิดไม่มีใครยอมใคร แพลตฟอร์มที่จะอยู่รอดและเติบโต จะต้อง “ปรับตัว” เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 
ส่วนฉากสุดท้าย.. ใครจะเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขันนี้ คงต้องจับตารอดูกันต่อไป
Tag:Lazada
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.