สรุปเรื่อง Gigafactory โรงงานยักษ์ของ Tesla ที่ใหญ่กว่า ทั้งเขตราชเทวี

สรุปเรื่อง Gigafactory โรงงานยักษ์ของ Tesla ที่ใหญ่กว่า ทั้งเขตราชเทวี

2 เม.ย. 2024
ไม่นานมานี้มีข่าวใหญ่ว่า Tesla หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก กำลังพิจารณามาเปิดโรงงานในประเทศไทย
โดยตามข่าวบอกว่า Tesla มีเงื่อนไข คือต้องการพื้นที่ทั้งหมด 2,000 ไร่ และกำลังเล็งพื้นที่ในย่านลาดกระบังอยู่
เรื่องนี้ถ้าลองวิเคราะห์ดู เหตุผลที่ Tesla ต้องการพื้นที่มากถึง 2,000 ไร่
มันก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าโรงงานที่ Tesla จะมาเปิดในไทย
อาจจะเป็น “Gigafactory”
แล้ว Gigafactory คืออะไร ?
Gigafactory สรุปเร็ว ๆ ก็คือ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ และประกอบรถยนต์ของ Tesla ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ
ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็อาจหมายถึงทั้งเงินลงทุนและตำแหน่งงานอีกมากจะเกิดขึ้นในประเทศของเรา คิดเป็นรายได้ที่จะเข้าประเทศแบบมหาศาล
- ต้นกำเนิดของ Gigafactory
อย่างที่เราทราบกันดีว่าชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่คิดเป็นต้นทุนเยอะมาก เมื่อเทียบกับราคารถ
เช่น ถ้าเราจ่ายเงิน 1,000,000 บาท ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน
บางแบรนด์ เงินมากกว่า 500,000 บาทของเรา จะจ่ายไปกับค่าแบตเตอรี่
ดังนั้นถ้าอยากได้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่มีราคาถูก
Tesla เลยจำเป็นต้องสร้างโรงงานที่ใหญ่พอจะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดให้ได้
จึงเกิดเป็นคอนเซปต์ตั้งต้นของ Gigafactory โรงงานที่สามารถผลิตแบตเตอรี่
ลิเทียมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ “ภายใต้หลังคาเดียว”
โดย อีลอน มัสก์ เคยบอกว่าโรงงาน Gigafactory
จะทำให้ราคาของแบตเตอรี่ถูกลงถึง 30% จากการผลิตทีละมาก ๆ
แถมการไปสร้างในประเทศต่าง ๆ ยังเป็นการลดต้นทุน ค่าขนส่ง รวมไปถึงภาษีนำเข้าได้อีกเยอะ
โดย Gigafactory แห่งแรก ถูกสร้างขึ้นที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2557
บนพื้นที่กว่า 2,900 เอเคอร์ ด้วยงบประมาณกว่า 128,800 ล้านบาท
ซึ่งถ้าหากเอาโรงงานดังกล่าวมาตั้งในกรุงเทพมหานคร มันจะใหญ่เท่ากับเขตราชเทวีทั้งเขตพอดี
โดยพื้นที่เขตราชเทวี เท่ากับ 7.126 ตารางกิโลเมตร
และ 1 เอเคอร์ = ประมาณ 0.004047 ตารางกิโลเมตร
เพราะฉะนั้น Gigafactory ที่เนวาดา มีพื้นที่ประมาณ 11.7 ตารางกิโลเมตร
โดย Gigafactory ที่เนวาดา จะรับหน้าที่ในการผลิตแบตเตอรี่ และมอเตอร์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
รวมไปถึงมีแผนในการผลิต Tesla 18-wheeler Semi ที่เป็นรถบรรทุกรุ่นบุกเบิกของ Tesla อีกด้วย
และนอกจากที่เนวาดาแล้ว Tesla ก็ยังมีโรงงานขนาดยักษ์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Gigafactory อีก 4 แห่ง
โดยแต่ละแห่งจะมีหน้าที่ในการผลิตสินค้าที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
- Gigafactory ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี รับหน้าที่ในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ และผลิตรถยนต์ Tesla Model Y
- Gigafactory ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน รับหน้าที่ในการผลิต Tesla Model 3 และ Tesla Model Y
- Gigafactory ที่เท็กซัส เป็นสำนักงานใหญ่ของ Tesla รับหน้าที่ผลิต Tesla Model Y
และมีแผนจะผลิต Tesla Cybertruck ที่เป็นรถกระบะไฟฟ้าในอนาคต
- Gigafactory ที่นิวยอร์ก รับหน้าที่ในการผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ ของสถานีชาร์จไฟ Superchargers

ทีนี้ในส่วนของกำลังการผลิตของ Gigafactory นั้น ใหญ่ขนาดไหน ?
เนื่องจาก Tesla เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า เราเลยอยากนำสถิติของโรงงาน
Gigafactory เซี่ยงไฮ้ ที่ผลิตรถยนต์ให้ Tesla ปีละกว่า 500,000 คัน มายกตัวอย่างให้ดู
โรงงาน Gigafactory ที่เซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 168 วันเท่านั้น เรียกได้ว่าเจ๋งตั้งแต่ก่อสร้าง
ในส่วนของนวัตกรรมการผลิต Tesla จะมีเทคนิคการผลิตเฉพาะตัวที่เรียกว่า “Giga Casting”
ที่จะลดชิ้นส่วนของรถยนต์ต่อคันให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มความเร็วในการผลิตและลดต้นทุน
และในขั้นตอนการผลิต ที่โรงงานแห่งนี้จะมีการใช้หุ่นยนต์กว่า 446 ตัว มาช่วยมนุษย์ในการประกอบรถยนต์
จนทำให้ Tesla ใช้เวลาเพียง 40 วินาทีเท่านั้น ในการผลิตรถยนต์แต่ละคัน
เทียบกับ Toyota ที่ใช้เวลาเฉลี่ย 66 วินาที ในการผลิตรถยนต์ 1 คัน
รวมไปถึง Ford ที่ใช้เวลาเฉลี่ย 53 วินาที ต่อรถยนต์ 1 คัน..
นอกจากการผลิตรถยนต์แล้ว การผลิตแบตเตอรี่ของ Tesla ก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน
เพราะ Gigafactory ที่เนวาดา มีรายงานว่าสามารถผลิตแบตเตอรี่ ได้ปีละกว่า 37 GWh หรือ 37,000 เมกะวัตต์ต่อปี
ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมันมากกว่าความต้องการในการใช้พลังงานของคนไทย
ทั้งประเทศไทยทั้งปี ที่ 32,254 เมกะวัตต์เสียอีก..
(อ้างอิงจากความต้องการไฟฟ้าของคนไทยปี 2565)
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ Gigafactory
อย่างเช่น เรื่องของสวัสดิการพนักงาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ค่อนข้างต่างกับโรงงานที่มีอยู่ในไทยตอนนี้อยู่พอสมควร
สุดท้ายนี้แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า Tesla จะมาตั้งโรงงานที่ไทยจริงไหม
แต่ถ้าอ้างอิงตามที่ อีลอน มัสก์ เจ้าของ Tesla เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า
ในอนาคต Tesla ต้องการจะผลิตรถให้ได้ปีละ 20 ล้านคัน
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี Gigafactory ทั้งหมดประมาณ 10-12 แห่งทั่วโลก เพื่อให้ไปถึงจุดนั้นได้
ก็หมายความว่า ไทยอาจมีลุ้นเป็นผู้โชคดี ที่จะได้เกาะกระแสการเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ไปด้วยนั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.