UNICODE องค์กรผู้อยู่เบื้องหลัง EMOJI ของโลกนี้

UNICODE องค์กรผู้อยู่เบื้องหลัง EMOJI ของโลกนี้

18 เม.ย. 2020
นอกจากตัวอักษรแต่ละภาษาบนคีย์บอร์ด ก็จะมีอักษรภาพที่เรียกกันว่า “Emoji”
ถ้าเปรียบง่ายๆ Emoji ก็เหมือนอีกหนึ่งภาษาสากล
ที่คนทั่วโลกเข้าสามารถเข้าใจได้โดยอัตโนมัติ
ปัจจุบัน Emoji ถูกใช้อย่างแพร่หลายผ่านการสื่อสารบนโลกดิจิทัล
โดยจากข้อมูลพบว่า แค่เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ เพียงแพลตฟอร์มเดียว
ก็มีการส่ง Emoji คุยกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านตัวต่อวัน
ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ จะพบว่า Emoji บนคีย์บอร์ดของเราจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
แล้วสงสัยหรือไม่ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเรื่องนี้?
ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ แข่งกันแย่งผู้ใช้งาน
และการเป็นผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มหนึ่ง
ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะใช้งานแฟลตฟอร์มอื่นด้วย
ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทุกคน ก็อาจไม่ได้ใช้งานทวิตเตอร์
หรือในทางกลับกัน ผู้ที่ใช้งานทวิตเตอร์ ก็อาจไม่ได้ใช้งานเฟซบุ๊ก
แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์
ทุกคนย่อมต้องมี Emoji บนอุปกรณ์สื่อสารเหมือนกันหมด
แปลว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง Emoji ก็น่าจะมีอำนาจสูงกว่าทุกแพลตฟอร์มเสียอีก
และผู้ที่มีอำนาจควบคุม และเป็นผู้กำหนดการปล่อย Emoji ในแต่ละปี คือ “Unicode Consortium”
ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐอเมริกา
Unicode ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสำหรับสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้อุปกรณ์สื่อสารทุกประเภทแสดงผลเหมือนกัน
แม้ว่าจะมีผู้พัฒนาระบบคนละคน หรือใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ในการเขียนโปรแกรมคนละภาษา
Unicode ก่อตั้งขึ้นใน ปี 1995 โดยตอนนั้นมีการกำหนดสัญลักษณ์ภาพมาตรฐานเพียง 76 แบบเท่านั้น
ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่เรามี Emoji ให้เลือกใช้กันมากกว่า 3,000 แบบ
จริงๆ แล้ว Emoji ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน เกิดขึ้นในปี 1999
โดยนักออกแบบอินเตอร์เฟซ ชาวญี่ปุ่นชื่อ คุณชิเกตากะ คูริตะ
คุณคูริตะ ทำงานในบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า NTT DoCoMo
ซึ่งในเวลานั้น NTT DoCoMo กำลังพัฒนา i-mode ระบบโทรศัพท์ที่สามารถดูข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้รายแรกๆ ของโลก
พร้อมลักษณะพิเศษอีกอย่างคือ สามารถส่งข้อความผ่านทางมือถือ
แต่มีข้อจำกัดคือ ข้อความจะต้องยาวไม่เกิน 250 ตัวอักษร
คุณคูริตะ จึงนำไอเดียการสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ภาพแทนการใช้ตัวหนังสือไปเสนอ
เพื่อลดอุปสรรคในการพิมพ์ข้อความยาวๆ
ที่น่าสนใจคือ คุณคูริตะได้ไอเดียนี้มาจากการสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว เช่น
จากการดูรายการพยากรณ์อากาศ ที่มีการใช้สัญลักษณ์ในการอธิบายสภาพอากาศ
จากการที่เขาอ่านหนังสือการ์ตูน ที่ใช้ภาพในการแสดงอารมณ์ของตัวการ์ตูน
รวมไปถึงการสังเกตสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏบนท้องถนน
หลังจากนั้นไม่นาน Emoji จำนวน 176 แบบก็ถูกพัฒนาและบรรจุใน i-mode
และก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานอย่างรวดเร็ว
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้บริษัทโทรคมนาคมอื่นเริ่มให้ความสนใจ Emoji
และออกแบบ Emoji เป็นของตัวเองบ้าง
เริ่มจากความนิยมในญี่ปุ่น ก่อนจะค่อยๆ แพร่หลายไปยังประเทศฝั่งตะวันตก
อย่าง MSN หรือ ICQ โปรแกรมสนทนายอดฮิตในอดีต ก็มีการนำ Emoji มาใช้งานเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม พอมีผู้พัฒนา Emoji หลายๆ รายเข้า
ทำให้ Emoji ที่ส่งจากเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่งมีโอกาสที่จะเป็นคนละรูป
ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างผู้ส่งและผู้รับได้
ในปี 2010 Unicode จึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการกำหนดมาตรฐานของ Emoji เพื่อลดปัญหาดังกล่าว
ทำให้ในปีนั้น Unicode มีการประกาศใช้งาน Emoji ใหม่กว่า 1,000 แบบ
หนึ่งในนั้นก็คือ ตัวใบหน้าที่แสดงการหัวเราะจนน้ำตาไหล ที่กลายเป็น Emoji ที่ถูกใช้งานมากสุดบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้แต่วงการ Emoji ก็ยังได้รับผลกระทบจาก COVID-19
โดยล่าสุด Unicode ได้ประกาศว่า ในปี 2021 จะไม่มี Emoji ชุดใหม่
เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้ ทำให้ Unicode ต้องเลื่อนการกำหนดมาตรฐานประจำปีออกไปในช่วงเดือนกันยายน 2021
ทำให้คนพัฒนาโปรแกรม มีเวลาไม่เพียงพอในการสร้าง Emoji ใหม่
ซึ่งปกติแล้ว ทุกปี Emoji ใหม่จะได้รับการอนุมัติในเดือนมกราคม
ออกเป็นมาตรฐานในเดือนมีนาคม และปล่อย Emoji ใหม่ให้ผู้ใช้งานประมาณเดือนกันยายน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เราจะยังได้เห็น Emoji ใหม่อยู่ เพราะมีการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี
ไม่ว่าจะเป็น ธงของกลุ่มคนข้ามเพศ ซานตาคลอสที่ไม่ระบุเพศ และอื่นๆ รวม 117 ตัว
ซึ่งที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า Unicode มีการสนับสนุนประเด็นทางสังคมอยู่เรื่อยๆ
ผ่านการกำหนด Emoji แบบใหม่ๆ
อย่างในปี 2014 Unicode ร่วมกับ Ad Council
องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำเกี่ยวกับการโปรโมตแคมเปญเพื่อสังคม
ออกแบบ Emoji ที่สนับสนุนการต่อต้านการบูลลี (Bully)
เป็นรูป “Eye in speech bubble” หรือดวงตาในกล่องคำพูด
เพื่อบ่งบอกว่า ถ้าเราเห็นเหตุการณ์การข่มเหงเหล่านี้ เราจะพูดแสดงความไม่เห็นด้วยออกมา
หรือในปี 2015 ที่ Unicode มีการให้เลือกสีผิวและสีผมของ Emoji รูปคน
เพื่อแสดงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ก็น่าคิดว่า
ถ้าเกิด Unicode คิดจะใช้ Emoji เป็นเครื่องมือในการหารายได้ขึ้นมา
เช่น เปิดให้แบรนด์ต่างๆ มาซื้อ Emoji เป็นของตัวเองอาจจะทำรายได้ได้มหาศาลก็เป็นได้
เพราะอย่าลืมว่า ไม่ว่าผู้ใช้คนนั้นจะอยู่บนแพลตฟอร์มไหน หรือระบบปฏิบัติการอะไร
Emoji ก็จะปรากฏให้เห็นอยู่ในสายตาของทุกคน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.