อาเซียนอาจเป็นศูนย์กลาง การระบาดแห่งใหม่

อาเซียนอาจเป็นศูนย์กลาง การระบาดแห่งใหม่

23 เม.ย. 2020
ตอนนี้ภูมิภาคอาเซียนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงกว่า 32,000 คน
และต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าทางสาธารณสุขของอาเซียนนั้น
ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับประเทศในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกา
จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า อาเซียนอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ของโลก
โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอาเซียนกว่า 70% อยู่ใน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับสิงคโปร์
เพราะในช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19
สิงคโปร์ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกในเรื่องการควบคุมการระบาด
เพราะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ต่ำมาก และยังมีมาตรการรับมือและดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง
แต่ในตอนนี้เรื่องราวกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน
เพราะสิงคโปร์ได้ครองตำแหน่งประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในอาเซียนไปแล้ว
โดยมีผู้ติดเชื้อรวมกว่า 10,000 คน ทั้งๆ ที่ปลายเดือนมีนาคมยังมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 1,000 คน
สิงคโปร์ทำอะไรผิดพลาดไป?
เคสผู้ป่วยในการระบาดระลอกใหม่ของสิงคโปร์นั้น
เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติ เช่น อินเดีย และบังคลาเทศ
ซึ่งพวกเขาต้องอยู่ด้วยกันอย่างแออัดถึง 12 คนต่อหนึ่งห้อง
และต้องใช้ห้องน้ำห้องครัวร่วมกัน
ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้แรงงานเหล่านี้ทำ Social distancing
ตอนนี้รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องกักตัวแรงงานต่างชาติกว่า 24,000 คน
ก่อนหน้านี้รัฐบาลยังปล่อยให้โรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กเปิดอยู่
ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ กระจายเชื้อต่อไปสู่คนในครอบครัว
ส่วนคนทำงานกว่า 20% ก็ยังคงต้องเดินทางไปทำงาน
เพราะเป็นงานที่ Work from home ไม่ได้
อีกเรื่องที่น่าเหลือเชื่อคือ
มีชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่เคารพการ Social distancing
โดยมีการตักเตือนจากเจ้าหน้าที่กว่า 6,200 ครั้งและปรับอีกกว่า 1,000 ครั้ง
ในเรื่องการฝ่าฝืนมาตรการ Social distancing ของรัฐบาล
ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของอาเซียน
ซึ่งทั้งสองประเทศยังไม่มีความพร้อมในด้านสาธารณสุขมากนักเมื่อเทียบกับสิงคโปร์
และเรื่องนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญที่สุด
คือความสามารถและกำลังในการตรวจหาเชื้อ
ถ้าหากเราเทียบความสามารถในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน
สิงคโปร์ตรวจได้ 16,200 ราย
ฟิลิปปินส์ตรวจได้ 500 ราย
ส่วนอินโดนีเซียตรวจได้แค่ 154 รายเท่านั้น..
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูง
ว่าสองประเทศนี้ยังมีผู้ติดเชื้อที่ยังตรวจไม่พบหรือไม่ได้รับการตรวจ
และพวกเขาอาจจะกำลังแพร่เชื้ออยู่ในหมู่คนทั่วไป..
ที่น่าสนใจคือ
อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีประชากรมากกว่าประเทศที่เหลือในอาเซียนรวมกันเสียอีก
ซึ่งความหนาแน่นของประชากรนี้จะทำให้การแพร่กระจายของโรคเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น
รู้หรือไม่ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก
โดยมีประชากรมุสลิมกว่า 229 ล้านคน
ในวันที่ 23 เม.ย. 2020 จะเป็นวันเริ่มต้นเดือนรอมฎอนอันเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม
ซึ่งปกติแล้วชาวมุสลิมจำนวนมากจะเดินทางไปสวดภาวนากันที่มัสยิด
ร่วมกันทานอาหารหลังพระอาทิตย์ตกดิน พูดคุย สวมกอด จับมือ จับแก้ม
ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้ออกคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางกลับบ้านหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน
รวมถึงแนะนำให้สวดภาวนากันที่บ้าน เพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19
แต่ก็ยังไม่แน่ว่าประชาชนจะยอมทำตามมาตรการนี้หรือไม่
เพราะจากผลสำรวจ มีประชากรกว่า 24% ต้องการที่จะเดินทางกลับบ้านหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน..
สำหรับประเทศไทยแล้ว ถือว่าทำได้ดีทีเดียวในหมู่ชาติอาเซียน
เพราะยอดผู้ติดเชื้อรายวันก็ลดลงมาก
อัตราการเสียชีวิตก็มีเพียง 1.7% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี
แต่ถ้าหากเราชะล่าใจ ผ่อนปรนมาตรการ Social distancing และควบคุมได้ไม่ดีพอ
เราอาจจะเจอปัญหาผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนในสิงคโปร์ก็เป็นได้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.