มูลค่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์ในไทยหายไป 22% ใน 20 ปีข้างหน้า หลังการเติบโตรถยนต์ไฟฟ้าและการปรับโครงสร้างค่ายรถญี่ปุ่น (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

มูลค่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์ในไทยหายไป 22% ใน 20 ปีข้างหน้า หลังการเติบโตรถยนต์ไฟฟ้าและการปรับโครงสร้างค่ายรถญี่ปุ่น (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

18 ก.ค. 2019
กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากยุคที่รถยนต์ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงอย่างเดียว (ICE)
ไปสู่ยุคที่ รถยนต์ใช้ระบบผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบไม่เสียบปลั๊ก (HEV) และแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) จนถึงการเข้ามาของรถยนต์ใช้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวโดยรับพลังงานจากแบตเตอรี่ (BEV)
ซึ่งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรถยนต์ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เราจะได้เห็นทิศทางการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะของค่ายรถญี่ปุ่นที่จะนำกลยุทธ์การกระจายห่วงโซ่อุปทานในแนวนอน (Horizontal Specialization)
มาใช้แทนที่กลยุทธ์การรวมห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่ง (Vertical Integration) หรือที่ในการทำธุรกิจแบบญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า Keiretsu ซึ่งเป็นแนวทางที่ค่ายรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้กันในการบริหารจัดการธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตนมาอย่างยาวนาน
โดยผลกระทบต่อชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆใน ตลาดโลกน่าจะยังไม่มากในระยะ 10 ปีนับจากนี้เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ทั้งรถยนต์ ICE รถยนต์ HEV รวมถึงรถยนต์ PHEV
อย่างไรก็ตาม จากสัดส่วนรถยนต์ BEV ที่มีแต่จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นปัจจัยเร่งให้การลงทุนพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆของค่ายรถจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมเพื่อการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่น ที่หากจะยังใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ทำมาอย่างยาวนานด้วยการรวมห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่ง แบบ Keiretsu ต่อไป ก็อาจจะไม่สามารถคงความสามารถในการแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้
เนื่องจาก Keiretsu มีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ความล่าช้าของการพัฒนาเทคโนโลยีและต้นทุนที่สูง
เป็นเหตุให้ค่ายรถญี่ปุ่นต้องปรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างเร่งด่วน นำมาสู่การใช้กลยุทธ์ การกระจายห่วงโซ่อุปทานในแนวนอนในกลุ่มพันธมิตรค่ายรถญี่ปุ่นและผู้ผลิตชิ้นส่วน
ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประหยัดเชิงขนาดมากขึ้นในการผลิต รวมถึงลดต้นทุนการวิจัยและพัฒนา
นอกจากนี้ ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า
จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของค่ายรถญี่ปุ่น
โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดโลกในอนาคตนั้น
ทำให้มีการวางแผนจัดกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปริมาณสูงในไทย เพื่อรองรับต่อความต้องการตลาดที่จะเติบโตขึ้นในระยะยาว ซึ่งทิศทางดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์อย่างไม่อาจเลี่ยงได้
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในช่วง 10 ปีแรกนี้จะยังไม่มาก อย่างไรก็ตามเมื่อถึงปีที่ 20 นับจากนี้ รถยนต์ BEV จะเริ่มเข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้น
ซึ่งจะกดดันต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ทั้งในกลุ่มระบบส่งกำลังและระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจากความต้องการชิ้นส่วนที่ลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะยาวกว่า 20 ปีนับจากนี้มูลค่าชิ้นส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์จะหายไปกว่าร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีรถยนต์ BEV ในตลาด
สรุปแล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดคือ ชิ้นส่วนเกี่ยวเนื่องกับเครื่องยนต์
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ค่ายรถญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังในปริมาณที่สูงนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังน่าจะเป็นโอกาสที่ดีต่อไทยในการดึงดูดการลงทุนชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติมได้ในอนาคต
ที่มา - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.