สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ 11 อาชีพ ถกปรับตัวรับยุค “New Normal” อาชีพแพทย์ - ทนายความ - สถาปนิก - วิศวกร ต้องปรับตัวแน่ๆ

สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ 11 อาชีพ ถกปรับตัวรับยุค “New Normal” อาชีพแพทย์ - ทนายความ - สถาปนิก - วิศวกร ต้องปรับตัวแน่ๆ

12 พ.ค. 2020
สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ผนึก 11 อาชีพ ร่วมถกข้อสรุปแนวทางการประกอบอาชีพยุค New Normal หลังโควิด-19 จบ
อาทิ ทักษะและกระบวนการทำงานที่ต้องปรับ, ความต้องการจ้างงาน, สวัสดิการฉุกเฉิน, กฎระเบียบมาตรฐานอาชีพใหม่ การใช้เทคโนโลยี, ฯลฯ
พร้อมเผย 4 อาชีพที่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ได้แก่ แพทย์, ทนายความ, สถาปนิก และวิศวกร
ทั้งนี้ สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสภาวิชาชีพ 11 แห่ง ได้แก่ แพทยสภา, สภาการพยาบาล, สภาทนายความ, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา, สภาวิศวกร, สภาสถาปนิก, สัตวแพทยสภา, สภาเทคนิคการแพทย์, สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชีฯ
จากงานเสวนาหัวข้อ “การเตรียมตัวรับ New Normal หลังวิกฤตไวรัสโควิด-19”
พบว่ามี 4 แนวทางในการปรับตัวสำหรับการประกอบวิชาชีพหลัง New Normal สรุปได้ดังนี้
- แพทย์ยุคใหม่ใส่ใจเฮลท์เทค (Health Tech)
ด้วยพฤติกรรม New Normal ของผู้คนที่เลือกใช้ชีวิตประจำวันที่บ้านมากขึ้น แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพต่อเนื่อง
ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือระบบสุขภาพออนไลน์ อาทิ Telenursing Telemedicine Telepharmacy
เพื่อนำมาสนับสนุนการทำงาน และพร้อมเสิร์ฟความรู้สุขภาพถึงบ้านประชาชน ที่ครอบคลุมการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ, การจัดส่งใบสั่งยา, การนัดหมาย และติดตามอาการผู้ป่วย
เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง
- ทนายความยุคใหม่ ต้องพร้อมรับ e-Filing
สภาทนายความ ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีการปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมา ศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้พัฒนาระบบ e-Filing System ระบบยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความ
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้สามารถยื่นฟ้องร้อง, ยื่นเอกสารสำคัญ, สืบพยาน รวมถึงพิจารณาคดีความผ่านระบบ VDO Conference โดยไม่ต้องเดินทางไปขึ้นศาล
นอกจากนี้ สภาทนายความ ยังมีสายด่วน 1167 พร้อมให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย มาตรการ ข้อควรปฏิบัติ และสิทธิที่ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการพึงได้
- สถาปนิกต้องจัด Criteria งานออกแบบใหม่ ด้วยเงื่อนไขของการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
สถาปนิกยุค New Normal จะต้องให้ความสำคัญกับเกณฑ์ออกแบบใหม่ใน 6 ด้านสำคัญ
คือ ความหนาแน่น, การเว้นระยะห่างทางสังคม, การจัดโซนนิ่ง, การสัญจร, ระบบถ่ายเทอากาศ และการลดการสัมผัส
(ข้อมูล: ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
สู่การทำงานร่วมกับวิศวกรในการปรับปรุงโครงการงานออกแบบสถานที่ต่างๆ ในอนาคต เช่น ร้านค้าแผงลอย, ตลาดอาหาร, ศูนย์อาหาร, ฯลฯ ที่ผู้คนสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย และไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- วิศวกรไทยต้องปรับตัว ต่อยอดความรู้พัฒนาเทคโนโลยี
เพราะเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม ถือเป็นกลไกหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาในหลากมิติ
ดังนั้น วิศวกรยุคใหม่ ต้องพร้อมปรับตัว เรียนรู้ และบูรณาการความรู้สู่การประดิษฐ์นวัตกรรมสู้โควิด-19
ตลอดจนรองรับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต เช่น การพัฒนา Co-Bot หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับทีมแพทย์, เทคโนโลยีไร้สัมผัส (Touchless Technology), โดรนเทคโนโลยี (Drone Technology) ในการจัดส่งเวชภัณฑ์และอาหาร หรือห้องตรวจเชื้อพิเศษ
เพื่อลดเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงการคิดค้นแนวทางการจัดการขยะติดเชื้อ ภายใต้กระบวนการวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.