กะทิชาวเกาะ กะทิไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก

กะทิชาวเกาะ กะทิไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก

12 พ.ค. 2020
กะทิ ใช้เป็นส่วนผสมในการทำอาหารหลากหลายเมนู
ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวอย่าง
แกงเขียวหวาน, ห่อหมก, ขนมจีนน้ำพริก, แกงมัสมั่น, แกงเขียวหวาน, พะแนง, ต้มยำกุ้ง
หรือขนมไทยอย่าง บัวลอย, กล้วยบวชชี, ลอดช่อง, ไอศกรีมกะทิ
กะทิ นับเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของเมืองไทย และมีการส่งออกไปทั่วโลก
โดยเฉพาะแบรนด์ “กะทิชาวเกาะ” ที่เป็นผู้นำในตลาดนี้
และเป็นผู้ส่งออกกะทิอันดับ 1 ของโลก
กะทิชาวเกาะ เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว
ซึ่งบริหารงานโดยตระกูลเทพผดุงพร
บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด (ผลิตเครื่องปรุงอาหารและประกอบอาหาร)
ปี 2561 มีรายได้ 6,828 ล้านบาท กำไร 1,058 ล้านบาท
บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง เป็นบริษัทลูกของเทพผดุงพรมะพร้าว
(ผลิตกะทิคั้น, เครื่องดื่มธัญพืช, แกงพร้อมปรุงบรรจุกล่อง UHT, เครื่องปรุงรส)
ปี 2561 มีรายได้ 2,416 ล้านบาท กำไร 80 ล้านบาท
โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทได้แก่
กะทิ ตราชาวเกาะ, รอยไทย
เครื่องดื่มธัญญาหาร ตราวี-ฟิท, โปร-ฟิท
เครื่องปรุงอาหาร ตรารอยไทย, แม่พลอย
เครื่องปรุงรส ตรากู๊ดไรฟ์, แม่พลอย
น้ำมันพร้าวและขนมมะพร้าว ตราชาวเกาะ, คิงไอแลนด์
ผลไม้กระป๋อง ตราชาวเกาะ, ยอดดอย, ทีซีซี
แต่รู้ไหมว่า จุดเริ่มต้นของอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านนี้
มาจากแม่ค้าขายมะพร้าวลูกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จบเพียง ป.4 จากโรงเรียนวัดศาลาแดง
คุณจรีพร เทพผดุงพร เกิดในครอบครัวชาวจีน
ด้วยความที่คนจีนในสมัยนั้นไม่สนับสนุนให้ลูกสาวเรียนหนังสือ
หลังจาก จบ ป.4 เธอจึงต้องออกมาทำงานหาเงินช่วยเลี้ยงครอบครัว
ไม่ว่าจะขายขนม เลี้ยงเป็ด แบกกระสอบข้าว ใช้แรงงานไม่ต่างกับผู้ชาย
พออายุได้ 19 ปี คุณพ่อของเธอก็ได้รู้จักกับคุณอำพล เทพผดุงพร ผ่านทางญาติห่างๆ
โดยเขาถูกใจคุณอำพล เพราะมองว่าเป็นคนขยัน และโหงวเฮ้งดี
จึงยกลูกสาวหรือคุณจรีพร ให้แต่งงานกับคุณอำพล
ซึ่งคุณอำพล เคยหุ้นธุรกิจค้ามะพร้าวกับญาติๆ แต่ถูกโกง
เลยหันมาทำธุรกิจขายส่งและปลีกมะพร้าวของตัวเอง
ในแต่ละวันคุณจรีพร จะรับมะพร้าวลูกผ่านเรือสำเภาใหญ่ที่มาจากเกาะสมุย
และบรรทุกใส่เรือลำเล็กเพื่อมาขายริมแม่น้ำหน้าบ้าน ย่านท่าเตียน
ส่วนคุณอำพล ไปทำตลาดขายส่งมะพร้าวในตัวเมือง
ด้วยความอดทน มานะบากบั่นของพวกเขา
จนถึงจุดที่กิจการเริ่มไปด้วยดี
พวกเขาจึงเซ้งห้องแถวสองคูหาที่ย่านท่าเตียน เพื่อขายมะพร้าว
ก่อนจะตัดสินใจย้ายตึกไปบนถนนมหาราชริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนจํากัดอุดมมะพร้าว”
หลังจากนั้น กิจการก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ขายมะพร้าววันละหลายพันลูก
ขายตั้งแต่ตี 4 ไปจนถึง 3 ทุ่ม จนแทบไม่มีเวลากินข้าว
และมีรายได้จนสามารถส่งลูกๆ ทั้ง 5 คนไปเรียนเมืองนอกได้
แต่วันหนึ่ง จุดเริ่มต้นความท้าทายครั้งใหม่ และจุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูลเทพผดุงพรก็มาถึง
เมื่อลูกคนที่ 4 คุณเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร ได้ตระหนักว่า
ต่อไปธุรกิจครอบครัวอาจไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนเมื่อก่อน
จากการมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะการขายมะพร้าวลูกใครๆ ก็ทำได้
เขาจึงโน้มน้าวให้ที่บ้านหันมาทำ กะทิพาสเจอไรซ์ ขายแทนมะพร้าวเป็นลูกๆ
ซึ่งคุณเกรียงศักดิ์ โน้มน้าวที่บ้านอยู่เป็นปี สุดท้ายก็ได้เงินทุนมา 3 ล้านบาท
เอาไปเปิดโรงงานชาวเกาะ ในปี พ.ศ. 2519 และจ้างคนงานประมาณ 100 คน
ที่ใช้ชื่อ ”ชาวเกาะ” เป็นชื่อโรงงานและแบรนด์
ก็เพราะว่ามันสื่อถึงคนที่อาศัยบนเกาะสมุย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวของประเทศในสมัยนั้น
แต่ปรากฏว่า การลงทุนครั้งนี้ให้ผลลัพธ์ ขาดทุน..
จากการที่สินค้าขายแทบไม่ได้เลย
เนื่องจากว่าสมัยนั้นคนยังนิยมกะทิสดอยู่ และไม่กล้าลองกะทิพาสเจอไรซ์
จนถึงขนาดคุณจรีพร ต้องซื้อถังน้ำมาแช่กะทิให้กับร้านค้าต่างๆ แล้วอ้อนวอนให้ร้านยอมรับสินค้าไปฝากขาย
อีกทั้งมีคำสบประมาท จากเพื่อนในแวดวงธุรกิจเดียวกัน
ประมาณว่า คนเขากินกะทิสดกัน จะมาทำกะทิถุงให้เจ๊งทำไม..
เธอบอกว่าช่วงนั้นเครียดมาก กลางคืนนอนร้องไห้เกือบทุกคืน
ส่วนคุณเกรียงศักดิ์ ก็รู้สึกเสียใจอย่างมากที่ทำให้ครอบครัวลำบาก
อย่างไรก็ตาม เธอก็บอกกับลูกๆ ว่า “ไม่เป็นไร ขายได้ก็ขาย ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”
สุดท้ายครอบครัวก็ร่วมกันตัดสินใจว่า ถึงจะเสียใจบ้าง แต่ก็จะไม่ยอมแพ้
ซึ่งในแต่ละวันครอบครัวจะมานั่งปรึกษากัน เพื่อหาวิธีปลุกปั้นแบรนด์ชาวเกาะต่อไป
โดยกลยุทธ์ที่ใช้ก็ตั้งแต่ ตระเวนทำอาหารจากกะทิให้คนลองชิมฟรีตามจังหวัดต่างๆ
และติดป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ
มีวันหนึ่งลูกของคุณจรีพรก็ได้ปิดบังค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาทางโทรทัศน์ 5 ล้านบาท
ซึ่งเธอไม่มีเงินมากพอที่จะจ่าย
คุณอำพลโมโหมาก เลยด่าลูกว่า ขายมะพร้าวอยู่ดีๆ ทำไมต้องทำให้เป็นหนี้ด้วย
แต่เธอก็บอกคุณอำพลว่า “อย่าไปดุลูกเลย ลูกใช้เงินไปกับการทำงาน ไม่ได้เอาไปเล่นการพนัน
เงินเป็นของนอกกาย ถ้าไม่ตายก็หาใหม่ได้ และเธอจะหาทางช่วยอีกแรงหนึ่ง”
“มาจุดนี้แล้วต้องอดทนสู้ให้ถึงที่สุด เงินจะหมดก็ต้องหมด
จะยอมแพ้ให้คนอื่นเขาดูถูกซ้ำเติมไม่ได้”
สุดท้ายแล้ว ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในครอบครัว
ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าแบรนด์กะทิชาวเกาะของเธอ จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในที่สุด
เมื่อผ่านช่วงเวลาอันขมขื่น คลื่นมรสุมสงบ ธุรกิจเริ่มทรงตัวอยู่ได้
บริษัทก็ได้แตกไลน์มาทำกะทิกระป๋อง เพื่อยืดอายุสินค้า
พร้อมกับบุกตลาดในต่างประเทศ
ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งออกไปกว่า 27 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, จีน, ญี่ปุ่น
รายได้จากการส่งออกคิดเป็น 80% ของรายได้ทั้งหมด
และบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30-40% ของตลาดกะทิโลก
ทำให้ชาวเกาะกลายเป็นผู้นำในตลาดกะทิเมืองไทย
และผู้ส่งออกกะทิอันดับ 1 ของโลก
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2559 ชาวเกาะได้มุ่งสู่ความเป็น Global Brand
ด้วยการเซ็นสัญญากับสโมสรลิเวอร์พูล
ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้เห็นสินค้าน้ำมะพร้าวของชาวเกาะอยู่ในสื่อต่างๆ ของสโมสรลิเวอร์พูล
ปัจจุบัน เทพผดุงพรมะพร้าว บริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 3
ซึ่งคุณจรีพร ได้วางมือจากการบริหารธุรกิจ
และหันมาใช้ชีวิตที่เหลือทุ่มเทกิจกรรมด้านการกุศล
เพราะเธอต้องการ “แบ่งปัน” โอกาสต่างๆ ให้แก่คนด้อยโอกาส หรือลำบากเหมือนเธอในวัยเด็ก
ผ่านการมอบทุนการศึกษา และเงินบริจาคต่างๆ
ตัวอย่างการบริจาคช่วยเหลือสังคมของเธอในปี พ.ศ. 2560 เช่น
มอบทุนการศึกษา รวมกว่า 660 โรงเรียน มูลค่ากว่า 159,000,000 บาท
บริจาคเงินให้โรงพยาบาลศิริราช ในการสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ กว่า 62,500,000 บาท
ช่วยเหลือโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้แก่ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 10,000,000 บาท
เรื่องราวของคุณจรีพร เป็นแบบอย่างได้อย่างดี
เธอลำบากมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่มีแต้มต่อทางธุรกิจ
หรือเริ่มจากศูนย์จริงๆ
แต่ด้วยความอดทน ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เข้ามาท้าทายชีวิตต่างๆ นานา
และค่อยๆ หาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่ล้มเลิก
จนวันหนึ่ง ก็ถึงวันที่เธอได้เข้าเส้นชัย เป็นการตอบแทน
และสุดท้ายแล้ว เธอก็ได้รับความสำเร็จที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด
ซึ่งก็คือการ ”แบ่งปัน” ความสำเร็จนั้นของเธอ
ตอบแทนคืนให้แก่สังคม..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.