“ละครคุณธรรม Marketing” เทคนิคขายของตรง ๆ แต่คนดูหลักล้าน เทรนด์การตลาด ที่กำลังมาแรง

“ละครคุณธรรม Marketing” เทคนิคขายของตรง ๆ แต่คนดูหลักล้าน เทรนด์การตลาด ที่กำลังมาแรง

7 พ.ค. 2025
-ละครคุณธรรม คือ คอนเทนต์ประเภทละครสั้น ตอนละไม่กี่นาที มีบทละครหรือเนื้อเรื่องที่สนุก เบาสมอง ดูได้เพลิน ๆ ไม่จริงจัง ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ต้องการเหตุผล
ตัวอย่างละครคุณธรรมที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี เช่น “ฉันเป็นประธานบริษัท” ที่เคยฮิตมาก ๆ อยู่ช่วงหนึ่ง
ซึ่งถ้าใครเล่น TikTok ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเห็นคอนเทนต์ประเภทนี้ กำลังได้รับความนิยมถึงขีดสุด
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตดูดี ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้ละครคุณธรรม ไม่ได้เป็นเพียงคอนเทนต์ละครสั้น ที่ทุกคนดูกันเพลิน ๆ เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว
เพราะเราจะเริ่มเห็นแบรนด์ต่าง ๆ นำละครคุณธรรม ไปใช้เป็นหนึ่งในช่องทางการทำการตลาด และการสร้างแบรนด์
MarketThink จะขอเรียกการตลาดแบบนี้ว่า “ละครคุณธรรม Marketing”
แล้วละครคุณธรรม Marketing น่าสนใจอย่างไร ?
อย่างที่บอกไปว่า ตอนนี้มีหลายแบรนด์เริ่มนำละครคุณธรรม มาใช้เป็นหนึ่งในช่องทางการตลาดของตัวเอง ทั้งการนำแบรนด์ไปปรากฏตัวในละครคุณธรรม หรือทำคอนเทนต์ละครคุณธรรมของตัวเอง
ตัวอย่างการทำการตลาดผ่านละครคุณธรรมที่เพิ่งไวรัลและคนพูดถึงเยอะ ๆ ก็คือ “Samsung” ที่ชวนคุณชมพู่ อารยา มาเล่นละครคุณธรรมร่วมกับคุณแต๋ง-กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว หนึ่งในผู้ก่อตั้ง After Yum ที่ช่อง “afteryumfilm” บน TikTok
เล่าสั้น ๆ คือเป็นละครคุณธรรมสั้น ๆ 3 ตอน ที่คุณชมพู่กลับมารับบท “เรยา วงศ์เศวต” ตัวละครจากเรื่องดอกส้มสีทอง ที่เคยฮิตในอดีต
แต่กลับมาคราวนี้ก็เพื่อโปรโมต Samsung Galaxy S25 Ultra ทั้งฟีเชอร์ AI และกล้องที่ซูมได้ 10x
ซึ่งเคสนี้ เรียกได้ว่า Samsung ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดอย่างมาก เพราะถึงแม้จะแฝงไปด้วยการโปรโมตสมาร์ตโฟน แต่แต่ละตอนก็สามารถเรียกยอดวิวได้มากกว่าหลักล้านวิว หรือรวมกันมียอดวิวถึง 8 ล้านวิว
เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการทำการตลาดผ่านละครคุณธรรม ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีหลาย ๆ แบรนด์ที่ทำการตลาดแบบนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น LINE MAN, กาแฟเบอร์ดี้, Sunshine Dairy และแสนสิริ
ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วละครคุณธรรมช่วยแบรนด์ทำการตลาดแบบไหนได้บ้าง ?
1. Product Tie-In
เป็นกลยุทธ์แรกที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ของแบรนด์ที่ทำการตลาดด้วยละครคุณธรรม นั่นคือการนำสินค้าหรือบริการ มานำเสนอในละครคุณธรรม เช่น
- ให้ตัวละครถือสินค้า หรือใช้สินค้านั้น เป็นส่วนหนึ่งของบทละคร
- นำสินค้ามาประกอบในฉาก และถ่ายให้เห็นสินค้าอย่างชัดเจน
- ใช้สถานที่ เป็นฉากที่ใช้ในการดำเนินเรื่องราวสำคัญ ๆ ของละคร
2. Brand Storytelling
หากสังเกตกันดี ๆ จะพบว่านอกจากสินค้า ที่ถูกนำไป Tie-In ในละครคุณธรรมแล้ว ละครคุณธรรมยังสามารถใช้เป็นช่องทางที่ใช้สื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ (Brand Story) ได้เช่นกัน
ซึ่ง Brand Storytelling ก็คือ การนำเรื่องราวที่น่าสนใจของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น จุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ หรือคุณค่าที่แบรนด์ยึดถือ ที่นำมาร้อยเรียง และถ่ายทอดออกมาให้มีความน่าสนใจ
และเมื่อนำ Brand Story ไปใส่ไว้ในบทของละครคุณธรรม ก็จะยิ่งทำให้ Brand Story ที่แบรนด์ต้องการสื่อสารออกไปให้ผู้ชมได้รับรู้ มีความเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ตามธรรมชาติของละครคุณธรรม ที่มักมีความตลก เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความ
3. Emotional Marketing
Emotional Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาด ที่เน้นการใช้อารมณ์ต่าง ๆ ของคน กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ หรือทำให้เกิดการรับรู้ให้กับแบรนด์หรือสินค้า
ซึ่งตามธรรมชาติของละครคุณธรรม ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ที่เกี่ยวกับความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ
โดยอารมณ์เหล่านี้ จะช่วยดึงดูดความสนใจให้กับแบรนด์ได้ดี เพราะใคร ๆ ก็อยากมีความสุข และคอนเทนต์ประเภทนี้มักได้รับความสนใจ เป็นอย่างมากอยู่แล้ว
และอีกหนึ่งคำถามก็คือ การที่แบรนด์ใช้ละครคุณธรรมเป็นหนึ่งในช่องทางการทำการตลาด แล้วแบรนด์จะได้อะไร ?
1. สร้าง Awareness และ Engagement
อย่างแรกเลยคือ การสร้างการรับรู้ (Awareness) และปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ชมกับแบรนด์
เพราะละครสั้นแต่ละตอนมียอดการรับชมจำนวนมหาศาล ในระดับ “ล้านวิว” ซึ่งก็จะทำให้แบรนด์ได้ทั้ง Awareness และ Engagement ตามไปด้วย
และหากแบรนด์จับจุดถูก รู้ว่าจะต้องนำตัวแบรนด์ หรือตัวสินค้า ไปอยู่ในบทละครอย่างไร ก็จะยิ่งกระตุ้นให้แบรนด์ได้ Awareness และ Engagement มากขึ้นไปอีก
2. ได้ขายสินค้าแบบไม่เนียน ก็ไม่เป็นไร
ข้อดีอย่างหนึ่งของละครคุณธรรม คือ แบรนด์สามารถขายสินค้าของตัวเองได้แบบเนียน ๆ หรือจะขายแบบตรง ๆ เลยก็ทำได้เช่นกัน
เพราะหัวใจหลักของละครคุณธรรมคือ ความสนุก เบาสมอง ดูได้เพลิน ๆ ไม่จริงจัง ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ต้องการเหตุผล ทำให้แบรนด์สามารถนำสินค้าของตนเองมานำเสนอในละครคุณธรรมได้หลากหลายรูปแบบ ตามความต้องการ
3. ได้สร้างภาพลักษณ์ตามที่แบรนด์ต้องการ
และข้อดีข้อสุดท้ายที่เห็นได้ชัด ๆ เลยก็คือ แบรนด์ที่ใช้ละครคุณธรรมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย ใกล้ชิดกับผู้บริโภค
แสดงถึงการปรับตัวเข้าสู่คอนเทนต์รูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วตามยุคสมัย ตามลักษณะของละครคุณธรรม
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ เชื่อได้ว่า “ละครคุณธรรม” น่าจะเป็นไอเดียให้หลาย ๆ ธุรกิจไปต่อยอดทำการตลาด
ของตัวเองได้ และเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการทำการตลาดที่น่าจับตามอง
เพราะสามารถเข้าถึงฐานผู้ชมจำนวนมาก ตามความนิยมในการรับชมคอนเทนต์ของคนยุคนี้นั่นเอง
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.