
สรุป 4 ข้อ บทเรียนการตลาด การสร้างแบรนด์ แบบ "ฟาโรส" ที่ได้จากงาน FaraTALK
19 พ.ค. 2025
เมื่อช่วงวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา เพิ่งจะมีการจัดงาน “FaraTALK งานทอล์กจัดแจง คุณแดงเชิญแขก” ที่น่าสนใจคือ ในงานนี้มีสูตร ทางด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ที่น่าสนใจ จากคุณฟาโรส (FAROSE) ซ่อนอยู่หลายข้อด้วยกัน
แล้วจะมีสูตรการตลาด และการสร้างแบรนด์ ที่น่าสนใจอะไรบ้าง ? MarketThink สรุปให้อ่านกันในโพสต์นี้
1. วิธีการ “ขายของ” แบบคุณฟาโรส ขายของเนียน ๆ ไม่มีอยู่จริง
เรื่องแรกเลยที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนจากงาน FaraTALK ก็คือเรื่อง วิธีการขายของ ตามแบบของคุณฟาโรส ที่มีความเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อย
เพราะตามปกติแล้ว คอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือยูทูปเบอร์ จำเป็นต้องอาศัยรายได้ จากการซื้อสปอนเซอร์หรือซื้อโฆษณาจากแบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงช่องของคุณฟาโรสด้วยเช่นกัน
ซึ่งหากใครที่เป็นชาวช่อง ก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าช่องของคุณฟาโรส มีวิธีในการ “ขายของ” ที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก นั่นคือการขายของแบบตรง ๆ ไม่เน้นความเนียน โดยมีการพูดถึงแบรนด์ ที่เป็นผู้สนับสนุนอย่างชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์ในตอนนั้น ๆ
โดยในช่วงหนึ่งของงาน FaraTALK คุณฟาโรสได้เปิดเผยถึงแนวคิดในการขายของร่วมกับการทำคอนเทนต์ว่า Pain Point อย่างหนึ่งของแบรนด์ก็คือ ต้องการขายสินค้าด้วยวิธีการ Tie-In แบบเนียน ๆ
แต่คุณฟาโรสระบุว่า การขายของแบบเนียน ๆ ไม่มีอยู่จริง เพราะคนดูดูออกอยู่แล้ว
ทำให้เราจะเห็นได้ว่า ทุกคลิปของคุณฟาโรส จะขายของแบบตรง ๆ ไม่เน้นความเนียน ไม่ปิดบัง ว่าคอนเทนต์นั้นมีสปอนเซอร์สนับสนุน
แต่จะอาศัยการขายของ ผ่านการเล่าเรื่องราว หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ให้คนดูไม่รู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียด หรือความไม่เป็นธรรมชาติของการขาย
ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็คือ รายการช่างเชื่อม ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงที่คุณฟาโรสเริ่มทำคอนเทนต์ใหม่ ๆ แล้วพบว่าการที่จะทำคอนเทนต์ลงยูทูปได้นั้น มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม หรือค่ากินค่าอยู่
ทำให้เกิดเป็นคอนเซปต์ของรายการช่างเชื่อมขึ้นมา จากความต้องการในการหา “รายได้” เข้าช่องเป็นหลัก
ทำให้คอนเซปต์ของรายการคือการนำสปอนเซอร์หรือแบรนด์ที่ซื้อโฆษณา นำมาเล่าเป็นเรื่องราวต่าง ๆ เชื่อมต่อกัน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ ภาษา และวัฒนธรรม ดำเนินเรื่องราวผ่าน “พนักงานขาย” ในแต่ละตอน
และในตอนท้ายรายการยังมี Tagline ที่คนจดจำได้คือ “ช่างเชื่อมจะกลับมาใหม่ เมื่อมีโอกาส มีอารมณ์ และมีสปอนเซอร์”
ซึ่งคอนเซปต์การทำรายการในรูปแบบนี้ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การขายของแบบตรง ๆ นั้นได้ผล เพราะช่างเชื่อมเป็นรายการที่มีมาแล้วมากกว่า 90 ตอน และทุกตอนมียอดการรับชมเกิน 100,000 ครั้ง
โดยในช่วงหนึ่งของ FaraTALK ก็มีการนำคอนเซปต์ของรายการช่างเชื่อมมาใช้
โดยทำเป็นรายการ “ช่างเชื่อม Live” แบบสด ๆ บนเวที และได้มีการพูดถึงสปอนเซอร์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงาน FaraTALK ที่เข้าแบบแพง (สปอนเซอร์หลักของการจัดงาน)
2. วิธีขายของให้สปอนเซอร์ในงาน FaraTALK ด้วยการขายผ่าน “ประสบการณ์”
อีกข้อหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ก็คือวิธีการขายของให้กับสปอนเซอร์ในงาน FaraTALK จะเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ร่วม และการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับผู้เข้าร่วมงาน โดยมีช่องฟาโรสเป็นแกนกลางสำคัญ
ตัวอย่างเช่น การจัดบูธตามคอนเซปต์ของรายการ People You May Know โดยจัดแสดงรูปปั้นจำลองของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเป็นคอนเซปต์ของรายการ
เป็นการสร้าง Awareness และ Engagement ระหว่างแบรนด์กับผู้เข้าร่วมงาน ตามหลักของการตลาดผ่านการสร้างประสบการณ์ (Experiential Marketing)
รวมถึงยังมีการนำชื่อแบรนด์ที่เป็นสปอนเซอร์ไปแทรกอยู่บนเวทีอยู่หลายครั้ง ผ่านการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เช่น แบรนด์ PAÑPURI ที่นำไปเป็นตัวอย่างในขณะที่เล่าถึงที่มาของสัญลักษณ์ ~ ในภาษาสเปน
3. สปอนเซอร์ในธุรกิจเดียวกัน ขึ้นเวทีเดียวกันได้
อีกเรื่องที่น่าสนใจในงาน FaraTALK คือ เราได้เห็นมูฟเมนต์ทางด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ที่น่าสนใจ คือ 2 ใน 4 แบรนด์ ที่สปอนเซอร์หลักของงานนี้ เป็นแบรนด์ที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน แต่ก็สามารถเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในงานเดียวกันได้
นั่นคือ AP และ SC Asset ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหมือนกันทั้งคู่
เรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อย ๆ นัก เพราะโดยปกติแล้วงานอิเวนต์ มักเลือกรับสปอนเซอร์หลายเจ้า ในหลายประเภทธุรกิจ
คิดภาพตามง่าย ๆ ว่า หากธุรกิจประเภทเดียวกัน เป็นผู้สนับสนุนงานอิเวนต์งานเดียวกัน ก็อาจมีการแข่งขัน แย่งชิงพื้นที่กันเองได้
เรื่องนี้คุณฟาโรส ถึงกับแซวว่า เป็นเหมือนงานมหกรรมบ้านและคอนโด เลยทีเดียว..
แต่หากมองกันแบบจริงจัง คุณฟาโรสอธิบายว่าเรื่องนี้มีแต่คนถามเข้ามาตั้งแต่เปิดตัวสปอนเซอร์แล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
คุณฟาโรสยอมรับว่า ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงมากพอ ที่สปอนเซอร์ทั้งสองจะขึ้นมาอยู่บนพื้นที่เดียวกันได้
ในขณะที่คุณฟาโรส ก็มีวิธีในการให้ซีน หรือแอร์ไทม์กับสปอนเซอร์ทั้งสอง ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน และโดดเด่นพอ ๆ กัน
แล้วถามว่า หากวิเคราะห์กันในเชิงการตลาด สปอนเซอร์ทั้งสองเจ้า จะได้อะไร
คำตอบง่าย ๆ เลยก็คือ สิ่งที่สปอนเซอร์ทั้งสองจะได้รับกลับไป ไม่ใช่แค่ Awareness หรือภาพลักษณ์ แต่เป็นการสร้าง Brand Loyalty ที่ได้ผลดี และจับต้องได้จริง จากการเป็นผู้สนับสนุนคอมมิวนิตีของชาวช่อง ซึ่งก็คือแฟน ๆ ของช่องฟาโรส นั่นเอง
4. ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคุณฟาโรสไม่มีคอมมิวนิตีที่เข้มแข็ง
โดยคอมมิวนีตีที่เข้มแข็ง ก็หมายถึง “ชาวช่อง” ของคุณฟาโรส ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนที่สำคัญที่สุด
เป็นกลุ่มคนที่เข้าใจธรรมชาติ ลักษณะเฉพาะ วิธีการเล่าเรื่อง และวิธีการขายของ แบบคุณฟาโรส ที่ไม่เหมือนกับครีเอเตอร์คนอื่น ๆ
เพราะหากไม่มีชาวช่องที่เหนียวแน่น ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า วิธีการเล่าเรื่อง วิธีการขายของ แบบคุณฟาโรส ก็อาจใช้ไม่ได้ผลก็ได้
ซึ่งเรื่องนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ในการสร้างคอมมิวนิตี ในเชิงการตลาดและการสร้างแบรนด์ ที่แบรนด์หรือธุรกิจต่าง ๆ ไม่ควรมองข้าม เช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ คือ 4 สูตร เรื่องการตลาดและการสร้างแบรนด์ ที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนจากงาน FaraTALK ที่น่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับทั้งคนที่เป็นครีเอเตอร์ หรือแบรนด์ต่าง ๆ ที่อาจนำไปใช้ได้
อ้างอิง :
- ข้อมูลจากงาน FaraTALK