อธิบายความต่าง Serif vs Sans Serif เหตุผลที่โลโกแบรนด์สมัยนี้ เปลี่ยนมาใช้ “ฟอนต์ไร้หาง” มากขึ้น

อธิบายความต่าง Serif vs Sans Serif เหตุผลที่โลโกแบรนด์สมัยนี้ เปลี่ยนมาใช้ “ฟอนต์ไร้หาง” มากขึ้น

22 พ.ค. 2025
- เชื่อไหมว่าถ้าเอาโลโกของแบรนด์ดัง ๆ ในวันนี้ ไปเทียบกับโลโกของแบรนด์เดียวกัน จากเมื่อ 10-20 ปีก่อน เราจะเห็นจุดร่วมที่น่าสนใจ ในมุมของการเลือกใช้ “ฟอนต์” บนโลโก
เพราะในวันนี้โลโกของหลาย ๆ แบรนด์จะมีการใช้ฟอนต์ที่อยู่ในตระกูล “Sans Serif” หรือตัวอักษร “แบบไม่มีหาง” ที่เป็นขีดออกมาจากตัวอักษร เหมือนที่เห็นในภาพประกอบของบทความนี้กันมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ดังที่เปลี่ยนมาใช้ฟอนต์ในตระกูล Sans Serif บนโลโก
- Spotify เปลี่ยนตอนปี 2013
- YAHOO เปลี่ยนตอนปี 2013
- Google เปลี่ยนตอนปี 2015
แล้วฟอนต์ในตระกูล Sans Serif มีอะไรดี ทำไมแบรนด์ใหญ่ ๆ ในยุคนี้ ถึงชอบใช้ ?
แม้ฟอนต์ที่เราเห็นกันทุกวันนี้จะมีเป็นร้อย ๆ พัน ๆ แบบ แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถแบ่งกลุ่มฟอนต์ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ก็คือ “Serif” และ “Sans Serif”
- Serif จะเป็นฟอนต์ที่มี “หาง” หรือ “ฐาน” เล็ก ๆ ที่ปลายตัวอักษร
ยกตัวอย่างเช่น ฟอนต์ Times New Roman, ฟอนต์ Georgia และ ฟอนต์ Lora
ด้วยความที่ฟอนต์แบบ Serif จะเป็นตัวอักษรที่มี “ฐาน” และ “หาง” ฟอนต์ตระกูลนี้เลยจะนิยมใช้กับงานประเภทหนังสือ เช่น หนังสือนิยาย, หนังสือพิมพ์
โดยเราจะเห็นฟอนต์แบบนี้ได้บ่อย ๆ ในพาร์ตของเนื้อความ เพื่อให้คนอ่านสามารถเอาเส้นสายที่เป็นลักษณะเด่นของฟอนต์มาใช้นำสายตา ทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น
- Sans Serif จะเป็นฟอนต์ที่ไม่มีหางหรือฐาน ลักษณะตัวอักษรจะดูเรียบและมีความกว้างของเส้นคงที่
ยกตัวอย่างเช่น ฟอนต์ Arial, ฟอนต์ Roboto และ ฟอนต์ Comfortaa
ด้วยความเรียบง่ายของฟอนต์ในตระกูลนี้ ทำให้ในระยะไกลฟอนต์แบบ Sans Serif จะอ่านง่ายกว่าฟอนต์ในตระกูล Serif มาก ๆ เพราะไม่มีเส้นสายที่ชวนสับสน ทำให้แค่มองผ่าน ๆ ก็เข้าใจข้อความได้
ลักษณะเด่นแบบนี้ ทำให้ฟอนต์ตระกูล Sans Serif นิยมเอามาใช้ในการพาดหัวข่าว, ป้ายโฆษณา หรือแม้แต่ป้ายบอกทาง
ทีนี้คำถามก็คือ ทำไมช่วงหลัง ๆ แบรนด์ดังจากหลายอุตสาหกรรมถึงนิยมหันมาใช้ฟอนต์แบบ Sans Serif บนโลโกกันมากขึ้น ?
1. ภาพลักษณ์ของฟอนต์ “Sans Serif จะดูล้ำสมัย” ส่วน “Serif จะดูคลาสสิก”
ในมุมการตลาด โลโกคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าใจถึงตัวตนของแบรนด์ได้ดีมาก ๆ เพราะโลโกเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ลูกค้าได้เห็น ซึ่งอาจจะเห็นก่อนสินค้า หรือบริการของแบรนด์ด้วยซ้ำ
หลาย ๆ แบรนด์ ที่ใช้โลโกรูปแบบตัวอักษร เลยมักจะเลือกใช้ฟอนต์ที่สอดคล้องไปกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ได้มากที่สุด
โดยการเลือกใช้ฟอนต์ในตระกูล Sans Serif ที่ไม่มีเชิง จะให้ความรู้สึกที่ อ่อนเยาว์, ไม่ทางการ, สนุกสนาน และเข้าถึงง่าย
ในขณะที่การเลือกใช้ฟอนต์ในตระกูล Serif ที่มีเชิง จะให้ความรู้สึกที่จริงจัง, มั่นคง และเป็นทางการ
ซึ่งตรงนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็วิเคราะห์กันว่า ปัจจุบันหลาย ๆ แบรนด์ต้องการภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตร
และอยากทำให้แบรนด์ดูสดใหม่ตลอดเวลา
ดังนั้นการเลือกใช้ฟอนต์ Sans Serif ในสื่อต่าง ๆ จึงตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ดีกว่า
ตัวอย่างชัด ๆ ของเรื่องนี้ก็คือ เคสของ Google ตอนเปลี่ยนฟอนต์ในโลโกจาก Serif มาเป็น Sans Serif เมื่อปี 2015
โดยการเปลี่ยนฟอนต์ครั้งนั้น หลาย ๆ คนอาจจะมองว่า Google เปลี่ยนโลโก “แค่นิดเดียว” เพราะองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น สี หรือระยะห่างช่องไฟ จะไม่ค่อยต่างจากเดิมมาก
แต่ถ้าลองดูความรู้สึกที่ได้จากฟอนต์ จะเห็นได้เลยว่าโลโกใหม่ของ Google ที่ใช้ฟอนต์แบบ Sans Serif จะดูเป็นมิตร และเข้าถึงง่ายกว่าฟอนต์แบบเดิม ที่มีเชิงแบบ Serif พอสมควร
2. ฟอนต์แบบ Sans Serif เหมาะกับการแสดงผล “บนหน้าจอ” มากกว่า
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าฟอนต์ Sans Serif จะมีเส้นสายที่น้อย ทำให้ตัวฟอนต์จะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเอาไปย่อหรือขยายก็ยังให้ความรู้สึกแบบเดิม
ทำให้ฟอนต์แบบ Sans Serif สามารถประยุกต์ใช้ได้กับสื่อแทบจะทุกรูปแบบ ตั้งแต่จอโฆษณาขนาดใหญ่ ไปจนถึงหน้าจอสมาร์ตโฟนขนาดเล็ก ๆ
โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนก็แนะนำว่า “ถ้าอยากทำแอปหรือเว็บไซต์ ควรใช้ฟอนต์ที่อยู่ในตระกูล Sans Serif” เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าหน้าจอของอุปกรณ์ที่ลูกค้าใช้เข้าหาแบรนด์ หน้าจอเล็กหรือใหญ่ และมีความละเอียดสูงแค่ไหน
ในกรณีที่ลูกค้าเข้ามาหาแบรนด์ผ่านอุปกรณ์ที่หน้าจอมีขนาดเล็ก มีความละเอียดต่ำ แล้วเราดันใช้ฟอนต์แบบ Serif เชิงของฟอนต์ อาจทำให้ลูกค้าอ่านสิ่งที่เราต้องการจะสื่อลำบาก
ดังนั้นการเลือกใช้ฟอนต์แบบ Sans Serif ที่เหมาะกับการย่อและขยายตั้งแต่แรก จะคุ้มค่ามากกว่า เพราะออกแบบแค่ครั้งเดียว แต่สามารถเอาไปใช้ได้กับหลายแพลตฟอร์ม

สุดท้ายนี้หลาย ๆ คนน่าจะเห็นภาพแล้วว่าทำไมแบรนด์ดังในยุคนี้ถึงชอบใช้ฟอนต์ในตระกูล Sans Serif กันมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ต้องบอกไว้ก่อนว่า แม้การออกแบบโลโกด้วยฟอนต์ในตระกูล Sans Serif จะได้รับความนิยมมาก ๆ ในยุคหลัง ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฟอนต์ในตระกูล Serif จะใช้ไม่ได้แล้ว
เพราะในปัจจุบันก็ยังคงมีแบรนด์ดังที่เอาฟอนต์ในตระกูล Serif มาใช้กับโลโกของแบรนด์อยู่ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการให้ภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือ
ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการเงิน JP Morgan, บริษัทบัญชี PwC, นิตยสาร The New York Times รวมไปถึงมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งก็ต่างเป็นองค์กรชื่อดังที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดี..
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.