
Pilot Project X Playground: พื้นที่เรียนรู้และทดลองตลาด SE ของรุ่นใหม่ แรงผลักดันของ “ภาคการศึกษา-เอกชน” ที่ร่วมสร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคม
4 ก.ค. 2025
โครงการ Banpu Champions for Change ปีที่ 14: จุดไฟโตไปพร้อมกันอีกหนึ่งสนามประลองไอเดียธุรกิจ ที่ชวนให้ SE หน้าใหม่ได้ปล่อยไอเดียแลกเปลี่ยนความรู้พร้อมโอกาสเชื่อมโยงนักลงทุน
กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เป็นโมเดลธุรกิจที่น่าจับตาในยุคที่ผู้คนต้องการมากกว่าตัวเลขผลกำไร แม้ความเข้าใจเรื่อง SE ในไทยยังค่อนข้างสับสน บางคนมองว่าเป็นกิจกรรมจิตอาสา สินค้าโอทอป หรือองค์กรไม่แสวงกำไร ในความจริง SE คือ “ธุรกิจจริงจัง” ที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสังคมอยู่ในแผนตั้งแต่แรก SE จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “แนวคิดดีๆ” หรือ “แพสชันของคนใจดี” แต่มันคือโมเดลธุรกิจที่สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ และสังคม
แม้ตอนนี้กิจการเพื่อสังคมอาจยังเจอข้อจำกัดในด้านนโยบายและอีโคซิสเต็ม (ระบบนิเวศ) ในสังคมที่จะช่วยผลักดันกิจการ แต่ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่รอให้ระบบพร้อม พวกเขาเริ่มลงมือทำ และมอง “ผลกระทบทางสังคม” เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจไม่ต่างจากกำไร
การมีแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงภาคการศึกษา ที่ให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ได้ฝึกปรือทักษะผู้ประกอบการ SE จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้กิจการของพวกเขาไปได้ตลอดลอดฝั่ง

กระแส SE ขยายถึงรากฐานสังคมคนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มลงมือจริงกระแสการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมวันนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนในเมืองหรือนักธุรกิจหัวก้าวหน้าอีกต่อไป แต่กำลังค่อยๆ แผ่ขยายไปสู่รากฐานของสังคม โดยเฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่น
ดร.ภูธิปมีถาวรกุลผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคมและอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า “ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นเทรนด์หรือกระแสการสมัครเรียนต่อในหลักสูตรสาขาวิชาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ มศว ของนักเรียน ม.ปลายที่มาจากชุมชนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น กว่าประมาณ 10 - 15% โดยทุกคนมาพร้อมเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะใช้โมเดล SE เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาในพื้นที่บ้านเกิดตัวเอง ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะจากชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้มองเห็นแค่ปัญหา แต่กำลัง ‘ลงมือเรียนรู้’ อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง”
ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ กำลังเริ่มต้นขึ้นจริงในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สถาบันเดียวในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ “สาขาวิชาธุรกิจเพื่อสังคม” ระดับปริญญาตรีอย่างเต็มรูปแบบ ในหลักสูตรนี้ นิสิตจะได้เรียนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการตลาด การเงิน การบัญชี ไปจนถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนแบรนด์ เช่น การเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่สำคัญคือ ทุกอย่างวิชาที่เรียนจะถูกเชื่อมโยงกับบริบทของปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ไฮไลต์ของหลักสูตรอยู่ที่วิชาช่วงสุดท้ายที่จะทำเป็นโปรเจกต์จบ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “โครงการทดลอง” หรือ Pilot Project ที่นิสิตต้องออกแบบกิจการ SE ของตัวเอง พร้อมลงมือทดสอบจริง ไม่ใช่แค่คิดโมเดลส่งอาจารย์แล้วจบ แต่ต้องลงพื้นที่ ระบุผู้มีส่วนได้เสีย และพิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจที่สร้างขึ้นสามารถช่วยชุมชน สร้างรายได้ หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมได้จริงแค่ไหน
“ผมเชื่อว่า ยิ่งเรามีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ทดลอง ลงมือ และปล่อยไอเดียมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็นผู้ประกอบการ SE หน้าใหม่เกิดขึ้น และกลายเป็นขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาใกล้ตัวได้อย่างยั่งยืนได้อย่างยั่งยืน”ดร.ภูธิปกล่าวเสริม

แรงใจและ Network ตัวแปรสำคัญทำให้ SE ไปต่อได้ไกล
ดร. ภูธิป ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “จากการคลุกคลีกับวงการ SE นาน ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ SE มีอันต้องปิดกิจการ คือความท้อของผู้ประกอบการ ทั้งเงินทุนเริ่มหมด กำลังใจด้านสังคมเริ่มหมด ดังนั้นการมีเครือข่าย (Network) ของคนที่มีหัวอกเดียวกันเข้าใจปัญหาเดียวกันและช่วยกันแนะทางออกจึงเป็นสิ่งสำคัญเราต้องสร้างเครือข่าย SE ให้แข็งแรง ต้องทำให้คนรู้สึกว่า SE เท่ากับ Startup มีความเท่ ความเจ๋งเท่ากัน และอยากก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชุมชน’ นี้”
“สำหรับคนทั่วไป เราจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อน SE โดยการสนับสนุนสินค้า เพราะสุดท้ายแล้วกิจการเหล่านี้จะสร้างผลดีกลับมาที่เรา นอกจากนั้นปัญหาที่ทุกคนเคยเจอ ในวันนี้ก็จะลดลงโดยไม่รู้ตัว เมื่อไหร่ที่เราลดความยากจนลงได้ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีจะกลับมาสู่เราและลูกหลานของเราเอง อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ ‘เอาใจ’ (สปอย) SE สินค้าไม่ดีต้องบอกไม่ดี เพื่อให้มีการพัฒนา”
Banpu Champions for Change – พื้นที่ปลอดภัยพอจะทดลอง และท้าทายพอที่จะเติบโต
ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา บ้านปูผลักดันกิจการเพื่อสังคมผ่านโครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) เพราะเชื่อมั่นว่าศักยภาพของผู้ประกอบการ SE จะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแกร่ง พร้อมแก้ปัญหาสังคมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด
ปีนี้ BC4C ก้าวสู่ปีที่ 14 ภายใต้ธีม “จุดไฟ โตไปพร้อมกัน” ได้ขยายพื้นที่กิจกรรมการออกไปยังหัวเมืองใหญ่ 4 ภาค ในจังหวัดเชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ เพื่อค้นหา SE ในชุมชนที่มีไอเดีย มีแรงใจ แต่ยังขาด “พื้นที่” หรือ Playground ที่ให้ลงมือจริง
BC4C ไม่ใช่แค่เวิร์กช็อป แต่คือการได้ฝึกลงสนามจริง ผ่านโปรแกรม “การบ่มเพาะกิจการระยะเริ่มต้น” (Incubation Program) ที่สอนตั้งแต่การวางรากฐานธุรกิจ เช่น การคิดต้นทุน/กำไร การทำระบบบัญชี การแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ เช่น การตั้งสมมุติฐานของปัญหา การวัดผลกระทบทางสังคม ไปจนถึงการให้ทุนทดลองตลาด ทุกทีมจะได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยง (Mentor) ผู้ประกอบการ SE ตัวจริงที่จะคอยให้คำปรึกษาและลงไปเป็นเพื่อนร่วมเดินทางตลอดระยะเวลาโครงการฯ
“ในปีนี้เราได้รับความสนใจจาก SE หน้าใหม่ในท้องถิ่นมากขึ้น มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ถึง 51 กิจการ จาก 14 จังหวัด จากทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เฉลี่ยอายุอยู่ระหว่าง 20-30 ปี ประเด็นสังคมส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องการแก้ไขจะเกี่ยวกับเศรษฐกิจในชุมชน การจ้างงานผู้ด้อยโอกาส ปัญหาด้านการศึกษา และสุขภาพทั้งกายและใจ เป็นต้น สะท้อนว่าวัยรุ่นในพื้นที่เริ่มสนใจกลไกของกิจการเพื่อสังคมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ในระยะยาว” — รัฐพลสุคนธี, ผู้อำนวยการสายอาวุโส–สื่อสารองค์กรบริษัทบ้านปูจำกัด (มหาชน)