
อธิบายจิตวิทยา เหตุผลที่หลายคน ชอบกดสินค้าใส่ตะกร้า แม้ไม่ซื้อจริง แต่รู้สึกดี
7 ก.ค. 2025
เคยสังเกตกันไหมว่า ในแอปช็อปปิงออนไลน์ของเรา ทั้ง Shopee และ Lazada มีสินค้าอยู่ในตะกร้ากี่ชิ้น ? บางคนอาจมีแค่ชิ้นเดียว แต่บางคนอาจมีมากถึง 10 ชิ้น
แต่ไม่ว่าจะมีสินค้าในตะกร้าอยู่กี่ชิ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การกดปุ่ม Add to Cart เพื่อนำสินค้าใส่ในตะกร้า ช่วยสร้างความสุข ความบันเทิง ในใจแบบลึก ๆ แม้จะไม่ได้ซื้อสินค้าชิ้นนั้นจริง ๆ ก็ตาม
พฤติกรรมแบบนี้ มีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Cart Abandonment”
ซึ่งพฤติกรรมนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเรา หรืออีกหลาย ๆ คน แต่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก
ซึ่งพฤติกรรมนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเรา หรืออีกหลาย ๆ คน แต่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก
แล้วทำไมเราถึงชอบนำสินค้าใส่ตะกร้า ทั้งที่สุดท้าย อาจจะไม่ได้ซื้อสินค้านั้น ๆ ก็ตาม ?
รู้หรือไม่ว่า 70.19% ของสินค้าที่อยู่ในตะกร้า ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่เข้าข่าย Cart Abandonment หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นสินค้าที่ถูกเพิ่มเข้ามาในตะกร้าเฉย ๆ แต่กลับไม่ได้มีการซื้อสินค้านั้นจริง
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้หลายคนตัดสินใจนำสินค้าใส่ตะกร้า แต่ไม่ซื้อ ก็อาจจะมาจากหลายปัจจัย ได้แก่
- หลังนำสินค้าใส่ตะกร้าแล้วพบว่า มีค่าธรรมเนียม หรือค่าจัดส่งเพิ่มเติม
- โดนบังคับให้สมัครสมาชิกก่อนการสั่งซื้อ
- มีความกังวลเรื่องการกรอกข้อมูลบัตรเครดิต
- มีขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้าที่ยุ่งยาก
- ไม่มีช่องทางการชำระเงินที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ซื้อสินค้าจริง ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพียงแค่ได้นำสินค้าใส่ตะกร้าไว้ก่อน เราก็มีความสุขแล้ว
ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วทำไมแค่นำสินค้าใส่ตะกร้า เราก็มีความสุข ?
เรื่องนี้ อธิบายได้ด้วยจิตวิทยาง่าย ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนที่เรียกว่า “Window Shopping” หรือพฤติกรรมการเดินดูสินค้าตามห้างร้านต่าง ๆ แต่ไม่ได้ซื้อสินค้าจริง
ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันเทรนด์การซื้อสินค้า จะเปลี่ยนจากการซื้อที่หน้าร้าน มาสู่การซื้อบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือเว็บไซต์ของแบรนด์
แต่พฤติกรรม Window Shopping ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม..
ซึ่งพฤติกรรม Window Shopping นี้เอง เป็นเหมือนการช็อปปิงบำบัด (Retail Therapy) รูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยสร้างความสุข ความสนุก และความบันเทิง ให้กับการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด
เพราะการช็อปปิง ทำให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน (Dopamine), เซโรโทนิน (Serotonin) และเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา
และยังพบด้วยว่า การนำสินค้าใส่ตะกร้า จะทำให้เราเกิดความรู้สึกได้เป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) ครอบครองสินค้าชิ้นนั้นด้วยตัวเอง แม้ว่าเราจะไม่ได้ซื้อสินค้าจริง ๆ ก็ตาม
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า การนำสินค้าใส่ในตะกร้า โดยไม่ได้ซื้อสินค้าจริง จะทำให้บางคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกค้าที่ฉลาดเลือก จากการได้คิด ได้ตัดสินใจ และเปรียบเทียบสินค้าจากหลาย ๆ ร้าน ก่อนสั่งซื้อสินค้าจริง หรือในบางครั้งก็ไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นนั้นเลย
ทั้งหมดนี้ คือ เหตุผลทางด้านจิตวิทยาแบบง่าย ๆ ที่อธิบายได้ว่า ทำไมการนำสินค้าใส่ตะกร้า โดยไม่ได้ซื้อสินค้าจริง แต่กลับสร้างความสุขเล็ก ๆ ให้กับเราได้
หรือหากพูดอีกอย่างหนึ่ง พฤติกรรมนี้ของคนทั่วโลก ก็เป็นเหมือนการหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ จากชีวิตประจำวันอันเคร่งเครียด ด้วยการช็อปปิงออนไลน์นั่นเอง..
อ้างอิง :
-https://www.sellerscommerce.com/blog/shopping-cart-abandonment-statistics/
-https://health.clevelandclinic.org/retail-therapy-shopping-compulsion
-https://www.convertmate.io/blog/understanding-the-psychology-behind-an-effective-add-to-cart-button-for-ecommerce-success
-https://zoviz.com/blog/endowment-effect-conversion-rate
-https://www.sellerscommerce.com/blog/shopping-cart-abandonment-statistics/
-https://health.clevelandclinic.org/retail-therapy-shopping-compulsion
-https://www.convertmate.io/blog/understanding-the-psychology-behind-an-effective-add-to-cart-button-for-ecommerce-success
-https://zoviz.com/blog/endowment-effect-conversion-rate