Libra 2.0 กับ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง การเปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นพันธมิตร จะได้ผลหรือไม่ ?

Libra 2.0 กับ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง การเปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นพันธมิตร จะได้ผลหรือไม่ ?

26 พ.ค. 2020
ผ่านมาประมาณเกือบปีกับการเปิดตัวโครงการ Libra ที่ Facebook เป็นผู้ผลักดัน
โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น “สกุลเงินของโลก” ซึ่งบริหารงานโดยองค์กรอิสระที่ชื่อ “Libra Association”
แต่จากช่วงที่ผ่านมาโครงการ Libra ก็เผชิญปัญหาในหลายด้านจากหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ เองหรือการถอนตัวจากพันธมิตรเอกชนต่างๆ
ด้วยความกังวลว่า Libra จะทำให้อำนาจรัฐ และธนาคารกลางถูกลดบทบาทลง
รวมถึงความน่าเชื่อถือของเอกชนในการสร้างเงินดิจิทัล
แม้ Libra จะบอกว่าตัวเองเป็น Stable Coin ที่มีสินทรัพย์จริงหนุนหลังเป็นเงินของสกุลประเทศนั้นก็ตาม
แต่ลองคิดภาพว่าแต่ละประเทศอนุญาตและใช้เงินสกุล Libra จริง แสดงว่าต้องมีการพึ่งพิงระบบของ Libra เสมือนเป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ
และหมายความว่านอกจากรัฐบาลแล้ว Libra ก็จะรู้ถึงข้อมูลการใช้-จ่ายเงินของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบัน Customer Data เป็นข้อมูลที่มีค่ากับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นอย่างมาก
แต่ทาง Libra ก็กลับมาในชื่อ Libra 2.0
ที่มีการประณีประณอมกับทางฝั่งรัฐบาลและธนาคารกลางมากขึ้น โดย Libra Coin แบบที่ให้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้ามาสร้างเงินสกุลดิจิทัลเองได้
ซึ่งเริ่มแรกมี 4 สกุลเงินคือ USD, EUR, GBP และ SGD โดยต้องมีเงินสำรองในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยเก็บไว้ในบัญชีธนาคารของ Libra และมีการปรับปรุงระดับความปลอดภัย และกฏเกณฑ์อื่นเพิ่มเติม
แต่อย่างไรก็ตามอาจจะไม่ตอบโจทย์นี้เรื่อง ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานที่จะไม่ถูกนำไปหาประโยชน์เรื่องอื่นๆ
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นทางธนาคารกลางจีนก็ได้ออกข่าวความคืบหน้าในการใช้เงิน Digital Yuan โดยเป็นการเริ่มทดลองใน 4 เมือง ได้แก่ เซิ่นเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และสงอัน
มีการร่วมมือกับร้านค้าอย่าง Starbucks และ McDonald's โดย Digital Yuan จีนนั้นจะสามารถใช้กับ App ของตนเองหรือใช้ร่วมกับระบบ Wepay, Alipay ก็ได้
แน่นอนว่าประเทศจีนที่ยังคงมีการ Block Facebook และยิ่งในช่วงปัจจุบันเริ่มมีประเด็นสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-จีน ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ไม่มีทางที่จะเข้าร่วม และใช้เงินสกุล Libra อย่างแน่นอน
สำหรับประเทศไทยเองนั้นคุ้นชินกับ Digital Money มาสักพักแล้ว เช่น Rabbit Line pay หรือ True wallet ที่ใช้แค่ในระบบปิดของตนเองอย่างซื้อของใน 7-11 หรือชำระค่าโดยสาร แต่ก็ยังต้องทำการชำระเงินบาทเข้ามาในระบบก่อน และยังไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย
แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการพัฒนา “โครงการอินทนนท์” ที่เป็นเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง ที่นำเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือระบบ Blockchain มาประยุกต์ใช้
โดยความคืบหน้าล่าสุดผลการทดสอบโครงการอินทนนท์ระยะที่ 3 สามารถโอนเงินข้ามประเทศระหว่างธนาคารสมาชิกได้แบบ Real-time โดยได้ทดสอบกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) และสำเร็จไปได้ด้วยดี
ข้อดีของ Digital Currency ของธนาคารกลางเองนั้น นอกจากจะทำให้ต้นทุนของการเพิ่มเงินในระบบลดลงแล้ว ยังสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินในระบบได้อย่างทั่วถึง
รวมถึงการดำเนินการชำระเงิน Settlement ก็จะรวดเร็วขึ้นเป็นการประหยัดต้นทุนทั้งด้านเวลา และค่าใช้จ่ายให้กับระบบการเงินของประเทศ
การเข้ามาของ Digital Currency คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยธุรกิจแบบเดิมอย่าง ร้านแลกเงินต่างๆ ก็อาจจะมีบทบาทน้อยลงไปบ้าง
เพราะปัจจุบันการชำระเงินสกุลต่างประเทศ หรือการพกเงินไปเที่ยวต่างประเทศ สามารถชำระผ่านช่องทางที่ไม่ใช่เงินสดเช่น Credit Card, Paypal หรือบัตรเดบิตท่องเที่ยว
และในอนาคตเมื่อ Digital Currency สามารถใช้ได้อย่างเป็นทางการ การโอนเงินชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศสำหรับภาคธุรกิจก็จะรวดเร็ว ถูกต้อง และมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางในแต่ละประเทศนั้นได้มีโครงการพัฒนา Digital Currency เป็นของตนเอง
แม้จะมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกันบ้าง เช่น ประเทศจีนที่กล่าวว่าไม่ได้ใช้เทคโนโลยี Blockchain
แต่ก็ทำให้โครงการ Libra นั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างที่วางแผนไว้น้อยลง
โดยสื่อชื่อดังอย่าง Financial Times ได้เรียกว่าเป็นแค่ PayPal ตัวใหม่เท่านั้นเอง
หมายความว่า Libra ก็จะเป็นแค่ระบบการชำระเงินออนไลน์ หรืออย่างมากก็เป็นเพียง E-wallet หรือ Digital Money อีกประเภทเท่านั้น
ซึ่งเราก็คงต้องรอจับตาดู และปัจจัยที่สำคัญคือจะมีธนาคารกลางประเทศใดที่จะให้ Libra เป็น Digital Currency แทนที่จะพัฒนาเอง
ที่มา - บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.