ซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว ซอสที่มีติดไว้เกือบทุกบ้าน

ซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว ซอสที่มีติดไว้เกือบทุกบ้าน

30 พ.ค. 2020
ซอสหอยนางรม หรือ น้ำมันหอย
เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงสำหรับการทำอาหารที่ขาดไม่ได้
โดยเฉพาะอาหารไทย และอาหารจีน
ไม่ว่าจะทำอาหารทานเอง หรือเปิดร้านอาหาร
ต้องมีซอสหอยนางรม ติดไว้ประจำการที่ครัวเสมอ
ซึ่งซอสหอยนางรม ที่ยืนหนึ่ง อยู่ในความทรงจำ และเป็นตัวเลือกแรกๆ ของคนทำอาหาร
ก็คือ ซอสหอยนางรม “ตราแม่ครัว”
ภาพข้างขวดที่เป็น “หญิงวัยกลางคน ใส่ผ้ากันเปื้อนสีขาว กำลังยืนปรุงอาหาร”
นับเป็นโลโก้ที่หลายคนต่างคุ้นเคยมานานหลายสิบปี
ตราแม่ครัว เป็นซอสหอยนางรมเจ้าแรกของประเทศไทย
โดยผู้ให้กำเนิดคือ คู่สามีภรรยา คุณสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล และคุณง้วย กาญจนวิสิษฐผล
เริ่มแรกครอบครัวกาญจนวิสิษฐผล
เปิดกิจการขายอาหารทะเลแห้ง และหอยนางรมสด ที่จังหวัดชลบุรี
ซึ่งคุณสถิตย์ และคุณแม่ง้วย มีลูกทั้งหมด 8 คน
และทุกคนต่างช่วยกิจการที่บ้านกัน
โดยผู้ชาย จะมีหน้าที่ออกเรือหาหอยนางรม แล้วเอามาทุบ
เพื่อให้ผู้หญิงเอามาแกะขายสดๆ ที่หน้าร้าน
และในบางครั้ง หอยนางรมสดที่หามาได้ ก็จะขายไม่หมด
หากทิ้งไปก็เสียดายเปล่า
ทางครอบครัวกาญจนวิสิษฐผล จึงเอาหอยส่วนที่เหลือไปดอง เพื่อใช้ในการถนอมอาหาร
อย่างไรก็ดี ถึงจะเอาไปใช้ถนอมอาหารแล้ว
ก็ยังเหลือหอยอีกเป็นจำนวนมากอยู่ดี..
ในตอนนั้น คุณสถิตย์จึงมีไอเดียมีจะดัดแปลงหอยนางรมส่วนเกินที่เหลืออยู่
เอาไปทำเป็นเครื่องปรุงเหมือนกับซีอิ๊ว
โดยได้คุณแม่ง้วย เป็นผู้คิดค้น และพัฒนาสูตร
ทั้งคุณสถิตย์ และแม่ง้วย ได้ลองนำหอยนางรมไปหมัก ไปกวน ปรับปรุงกรรมวิธีผลิต
จนสุดท้ายก็ได้เป็น ซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว ที่รสชาติถูกปากคนไทย
เริ่มแรกพวกเขาก็ลองเอาซอสไปขายให้กับทางร้านอาหารแถวละแวกบ้าน ในจังหวัดชลบุรี
ซึ่งโชคดี ที่แถวนั้นมีร้านอาหารใหญ่ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก
ด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ มีรสชาติดี และเป็นเจ้าแรกของตลาด
จึงทำให้ลูกค้าหลายคนสนใจ และสามารถเจาะฐานลูกค้ากลุ่มทำอาหารได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ท่านก็ได้ซื้อซอสไปลองรับประทาน
และนำไปบรรยายลงในหนังสือ ฟ้าเมืองไทย ในขณะนั้น
พร้อมให้เครื่องหมายเชลล์ชวนชิม
ซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว จึงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงกว้างนับแต่นั้น
จนในที่สุด จากสินค้าที่แปลกใหม่ในสมัยนั้นอย่าง ซอสหอยนางรม
ก็ขายดี จนกลายเป็นอีกเครื่องปรุงที่ต้องมีติดบ้านไว้ เช่นเดียวกับน้ำปลา และน้ำตาล
คุณสถิตย์ และคุณง้วย ได้ตั้งโรงงานผลิตซอสขึ้นในปี พ.ศ. 2519 โดยขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่าย
และปี พ.ศ. 2525 ก็ได้ตั้งบริษัท ตราแม่ครัว จำกัด เพื่อดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง
ในส่วนที่มาของชื่อและโลโก้แบรนด์นั้น
ทางครอบครัว อยากให้สินค้ามีเอกลักษณ์ เพื่อผู้คนจะได้จดจำ
จนสรุปกันได้ว่า “คุณแม่ง้วย ที่กำลังยืนทำอาหารอยู่หน้าร้าน” เหมาะที่สุดที่จะเป็นตัวแทนของแบรนด์
และที่น่าสนใจคือ รูปโลโก้แม่ง้วย ที่ถือขวดซอสหอยนางรมอยู่
และขวดซอสที่โดนถือนั้น ก็มีรูปแม่ง้วยกำลังถือขวดซอสอีกทีหนึ่ง
ซึ่งจะเป็นทอดๆ แบบนี้วนไปไม่มีที่สิ้นสุด..
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ภายใต้เครือบริษัท ตราแม่ครัว ได้แก่
ซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว
ซอสปรุงอาหาร, น้ำส้มสายชู, น้ำปลา, แป้งทอดกรอบ และน้ำจิ้มไก่ ตราฉลากทอง
ซีอิ๊วขาว ตราแม่ครัวฉลากทอง
โดยกลุ่มบริษัทมีผลประกอบการดังนี้
บริษัท ตราแม่ครัว จำกัด (ขายส่งผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร)
ปี 2561 มีรายได้ 2,343 ล้านบาท กำไร 52 ล้านบาท
บริษัท จิ้วฮวด จำกัด (ผลิตซอสและเครื่องปรุงอาหาร)
ปี 2561 มีรายได้ 1,917 ล้านบาท กำไร 53 ล้านบาท
บริษัท ชลบุรีตราแม่ครัวฉลากทอง จำกัด (ผลิตน้ำปลาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ)
ปี 2561 มีรายได้ 213 ล้านบาท กำไร 8 ล้านบาท
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทบริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 2
ที่ได้รับสืบทอดกิจการจากคุณสถิตย์ และคุณแม่ง้วย
โดยมีคุณเศรษฐี กาญจนวิสิษฐผล เป็นประธานกรรมการบริษัท ตราแม่ครัว จำกัด
ซึ่งการบริหารงาน จะยึดหลักอนุรักษ์นิยม ที่ได้ปลูกฝังมาจากรุ่นพ่อแม่
บริษัทฯ จะไม่มีตัวแทนจำหน่าย เหมือนกับบริษัทใหญ่อื่นๆ
และดำเนินการกระจายสินค้าด้วยตนเองทั้งหมด รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
และการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เช่น ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ตะวันออกกลาง และเอเชียทั้งหมด
บริษัทจะเก็บเงินเป็นเงินบาทที่หน้าท่า ก่อนจะดำเนินการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ
ปิดท้ายด้วยกรรมวิธีทำซอสหอยนางรม
ซอสหอยนางรมเกิดจากการนำหอยนางรมสดที่บดละเอียด มาหมักหรือบ่มกับเกลือ
แล้วนำมาปรุงรสชาติ ด้วยซีอิ๊ว เกลือ น้ำตาล
ซึ่งซอสหอยนางรม มีต้นกำเนิดที่ทางตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
โดยชาวจีนที่อยู่ริมทะเล พบว่าหอยนางรมบางอัน ที่ถูกพัดขึ้นชายฝั่ง
จะมีกลิ่นหอมผิดปกติ ซึ่งเขามารู้ภายหลังว่า
เพราะหอยนางรมเหล่านั้นถูกทิ้งไว้ที่ริมทะเลเป็นเวลานาน จึงเกิดการหมักตามธรรมชาติ
และหลังจากนั้น ชาวจีนจึงเริ่มนำหอยนางรมมาหมัก เพื่อการประกอบอาหาร
และพัฒนาจนกลายมาเป็นซอสหายนางรมในที่สุด
อ้างอิง :
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
https://www.tramaekrua.com/history/
https://sukkaphap-d.com/
http://dryiced.blogspot.com/2010/06/blog-post.html
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.