แบรนด์ที่ดี เหมือนกับศาสนาอย่างไร?

แบรนด์ที่ดี เหมือนกับศาสนาอย่างไร?

10 มิ.ย. 2020
ถ้าหากมีคนถามเราว่า แบรนด์กับศาสนา เหมือนกันไหม
บางคนอาจจะตอบว่า 2 เรื่องนี้จะไปเหมือนกันได้อย่างไร
แบรนด์เป็นเรื่องของธุรกิจ ส่วนศาสนานั้นเป็นเรื่องของความเชื่อ
แต่เรามาลองดูบางเรื่องที่เป็นจุดร่วมกันระหว่าง แบรนด์กับศาสนา
อย่างแรก คือ จุดหมาย
สำหรับทุกศาสนานั้นล้วนมีจุดหมายสูงสุดของตัวเอง
เช่น นิพพาน โมกษะ การรอดพ้นจากบาป และกลับไปมีชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระเจ้า
ในส่วนของแบรนด์หรือธุรกิจ ก็จะมีจุดหมายเป็นของตัวเองเช่นกัน
อย่าง Starbucks มีพันธกิจว่า “เป็นแรงบันดาลใจและหล่อหลอมจิตวิญญาณของมวลมนุษย์ ครั้งละคน ครั้งละแก้ว และครั้งละชุมชน”
เราจะสังเกตได้ว่า Starbucks มีพันธกิจที่ดูมีพลังทางจิตวิญญาณมากกว่าเรื่องธุรกิจ
ถัดมาเป็นเรื่อง ความลึกลับ
แน่นอนว่าศาสนานั้นเป็นเรื่องลึกลับที่ยากจะค้นหา
เพราะส่วนใหญ่เรื่องราวของศาสนานั้นถูกเขียนขึ้นมานานกว่า 2,000 ปี
ศาสนาคริสต์มีตำนานเกี่ยวกับจอกศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าใครได้ดื่มน้ำจากจอกนี้จะมีชีวิตที่เป็นอมตะนิรันดร์
ทางด้านแบรนด์ก็มีสูตรลับของตัวเอง โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม
โค้ก มีสูตรลับของน้ำอัดลมที่มีรสชาติครองใจคนทั่วโลก
สูตรดังกล่าว ถูกเก็บไว้ในห้องนิรภัย โดยมีรปภ.ติดอาวุธเฝ้าไว้ 24 ชม.
ความลึกลับเหล่านี้ ทำให้คนเรารู้สึกว่ามันมีคุณค่า และปรารถนาจะครอบครอง
เพราะเป็นเรื่องที่แทบจะ “เป็นไปไม่ได้” ที่เราจะได้รู้ความจริง
มาถึงเรื่องของ สัญลักษณ์
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกศาสนาและทุกแบรนด์
ไม่ว่าจะเป็น ไม้กางเขน ธรรมจักร โอม พระจันทร์เสี้ยวและดาว
เครื่องหมายเหล่านี้ทำให้เรารับรู้ได้ทันทีว่าเป็นศาสนาอะไร
สำหรับแบรนด์.. ทุกๆ แบรนด์ก็มีโลโก้เป็นของตัวเอง แต่แบรนด์ที่ดีมักจะมีโลโก้ที่ทรงพลัง
แอปเปิล ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของโลโก้แบรนด์ที่โดดเด่นและโด่งดังที่สุดในโลก
ความเรียบง่าย แต่ทรงพลังนี้ แทบไม่ต่างอะไรจากสัญลักษณ์ทางศาสนาเลย
ที่จริงแล้ว สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลเคยถูกเรียกว่า ศาสดา ด้วยซ้ำ
สุดท้ายคือ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
แน่นอนว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม
การได้รับการยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเป็นความต้องการลึกๆ ของมนุษย์
สมมติว่าเราไม่ได้สนใจการแข่งโอลิมปิกเลย
แต่เมื่อการแข่งขันจบ ปรากฏว่านักกีฬาประเทศไทยได้เหรียญทองมากที่สุด
เราก็มีแนวโน้มจะรู้สึกดีใจไปด้วย เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน
สำหรับศาสนานั้น ทำให้เราได้มีส่วนร่วมกับกลุ่ม
เพราะได้เชื่อในเรื่องเดียวกัน ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกัน ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน
ในแง่ของแบรนด์ เรามีแนวโน้มที่จะรู้สึกเป็นมิตรกับคนที่ใช้สินค้าเหมือนเรา
เช่น มือถือ รถยนต์ หูฟัง แล็ปท็อป
แม้จะดูเหมือนว่า แบรนด์ก็เป็นแค่ผู้จำหน่ายสินค้าให้แก่เราเท่านั้น
แต่สำหรับบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าแบรนด์เป็นมากกว่านั้น
อาจจะเหมือนศาสนาเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคนที่มี Brand Loyalty สูง
เราน่าจะเคยเห็นการแข่งขันระหว่างแบรนด์
ที่บ่อยครั้งมักเกิดจาก Loyalty ของผู้บริโภค..
ตัวอย่างเช่น
iOS กับ Android
Pepsi กับ Coke
Nike กับ Adidas
Liverpool กับ Manchester United
หรือแม้แต่วงบอยแบนด์เกาหลี EXO กับ BTS
การแข่งขัน ที่บางครั้งลุกลามจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสาวกของแบรนด์
ล้วนเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อและความคิดที่ว่า
แบรนด์ที่เราใช้และชื่นชอบนั้น ดีกว่าแบรนด์อื่นๆ
น่าแปลกที่ว่า ความขัดแย้งระหว่างศาสนาก็คล้ายคลึงกัน
หลายครั้งที่ความขัดแย้งเหล่านั้นเกิดจากความเชื่อที่ว่า
ศาสนาที่เราศรัทธา ดีกว่า ศาสนาอื่นๆ
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าค้นหา
จุดหมาย ความลึกลับ สัญลักษณ์ การมีส่วนร่วมกับสังคม
ซึ่งผู้ที่ค้นพบสูตรลับเหล่านั้น ก็จะสามารถครอบงำการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยที่มนุษย์เองอาจยังไม่รู้ตัว
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.