ทิฟฟี่ ซาร่า ยาสามัญประจำบ้าน ที่รายได้ไม่สามัญ

ทิฟฟี่ ซาร่า ยาสามัญประจำบ้าน ที่รายได้ไม่สามัญ

11 มิ.ย. 2020
อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า ปัจจัย 4
ซึ่งในเชิงธุรกิจ นอกจากธุรกิจอาหารที่สามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็มีธุรกิจยา
แถมธุรกิจยายังมีป้อมปราการที่เอาไว้กันคู่แข่งทางธุรกิจ สูงชันกว่าธุรกิจทั่วๆ ไป
เพราะกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ยาสักตัว ต้องผ่านกระบวนวิจัย พัฒนา และได้รับใบอนุญาตจาก อย.
โดยทิฟฟี่ และซาร่า เป็นหนึ่งในแบรนด์ยาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี
และทั้งสองแบรนด์ มีเจ้าของเดียวกันคือ ไทยนครพัฒนา ผู้ผลิตและจำหน่ายยาเวชภัณฑ์แนวหน้าของเมืองไทย
บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 2,636 ล้านบาท กำไร 414 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 3,149 ล้านบาท กำไร 781 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 3,322 ล้านบาท กำไร 731 ล้านบาท
เส้นทางการก่อร่างอาณาจักรยาพันล้านนี้ เริ่มต้นมาจากคุณวินัย วีระภุชงค์
คุณวินัย เกิดที่จังหวัดราชบุรี ในครอบครัวที่ทำกิจการเปิดร้านขายปุ๋ยและสินค้าเกษตร
แต่พอเขาอายุเพียง 8 ขวบ ก็ต้องเสียพ่อไป จากไข้มาลาเรีย
เลยต้องลาออกจากโรงเรียนกะทันหัน เพื่อมาช่วยแม่ทำมาค้าขายที่ร้าน
และช่วยดูแลน้องๆ ในครอบครัว
พอคุณวินัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ตัดสินใจออกจากบ้าน มาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง
และได้งานเซลล์ขายยา ของบริษัทอังกฤษตรางู เจ้าของแบรนด์แป้งเย็นตรางูในปัจจุบัน
โดยรับผิดชอบพื้นที่ขายตั้งแต่ จ.นครปฐม ลงไปจนถึง จ.นราธิวาส
เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานอยู่หลายปี
ทั้งลงพื้นที่พูดคุยกับ เจ้าของร้านขายยา และชาวบ้าน
รวมถึงสังเกตพฤติกรรมการใช้ยาของคนในพื้นที่
เมื่อรู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้วิชามามากพอ เลยเริ่มคิดถึงการสร้างธุรกิจของตัวเอง
ซึ่งสุดท้าย คุณวิจัย ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากงานเซลล์ขายยา
และไปร่วมหุ้นกับญาติ เพื่อเปิดร้านขายยาชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัด นครพัฒนา” ในปี พ.ศ. 2505
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 คุณวิชัย ได้แยกตัวออกมาเปิดบริษัทของตัวเองใหม่
คือ “ไทยนครพัฒนา” ซึ่งบริษัทก็ได้ดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบันนี้
ไทยนครพัฒนา จะเน้นการผลิตยาสามัญที่ใช้รักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดหัว เป็นไข้ เป็นหวัด ปวดท้อง หรือเป็นยาในกลุ่ม OTC (over-the-counter drugs) ที่ร้านขายยาสามารถขายให้ผู้ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากการวินิจฉัยของแพทย์
โดยแบรนด์ยาหลักๆ ของบริษัทที่เรารู้จักกัน ก็อย่างเช่น
ยาบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล “ทิฟฟี่”
ยาบรรเทาอาการปวด ลดไข้ “ซาร่า”
ยาบรรเทาอาการแผลในกระเพาะอาหาร “แอนตาซิล”
ยาถ่ายพยาธิ “เบนด้า 500”
ยาบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวด “ไดฟีลีน”
ครีมบรรเทาการปวด “นีโอติก้าบาล์ม”
ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่บริษัทใช้เพื่อสร้างการจดจำแบรนด์ให้กับลูกค้า
จะเป็นการโปรโมตและโฆษณา “สโลแกน” ติดหู อย่างเช่น “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย”
รวมถึงใช้ “สี” มาเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ ควบคู่ไปกับสโลแกนโฆษณา
เช่น ทิฟฟี่ แผงสีเขียว ทิฟฟี่ ส่วนซาร่าก็มีแผงสีชมพู
ในส่วนชื่อแบรนด์ทิฟฟี่นั้น คุณวินัยบอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เสียงคนเวลาเป็นหวัด แล้วสั่งน้ำมูก จะมีเสียงฟู่ฟี่ๆ..
ปัจจุบันคุณวินัย ยังเป็นประธานของกลุ่มไทยนครพัฒนา ด้วยวัย 85 ปี
ทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาของบริษัท
โดยเปิดทางให้ลูกๆ ทั้ง 4 คน คือคุณสุภชัย ทิพย์วรรณ วโรดม และวราภรณ์ ขึ้นมาช่วยบริหารธุรกิจอย่างเต็มตัว
ที่น่าสนใจคือ คุณวินัย จะยึดปรัชญา และปลูกฝังลูกๆ ว่า
“การทำธุรกิจต้องไม่ทุกข์ อย่าเลือกทุกข์ ถ้าทุกข์แล้วไม่เอา อย่าทำ” มาโดยตลอด
ก็คือการขยายธุรกิจต้องเน้นความมั่นคง ค่อยเป็นค่อยไป อย่ายึดผลประโยชน์อย่างเดียว
ต้องดูกำลังของเรา ของพนักงานเราด้วยว่าพร้อมไหม ถ้าไม่พร้อมก็อย่าไปฝืนให้เป็นทุกข์
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยาไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 177,000 ล้านบาท ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย
โดยช่องทางจำหน่ายยาในประเทศส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายผ่านโรงพยาบาลรัฐ 60%
โรงพยาบาลเอกชน 20% และร้านขายยา 20%
ส่วนตลาดในต่างประเทศ ไทยนครพัฒนา ได้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ผ่านการตั้งสาขาเอง
และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในพื้นที่
โดยฐานการเติบโตที่สำคัญของบริษัท คือกลุ่ม CLMV กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม
และตลาดยาใน CLMV มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีอัตราการเกิดของประชากรที่สูง
นอกจากนี้ ครอบครัววีระภุชงค์ ยังมีธุรกิจโรงแรมและสนามกอล์ฟ อยู่ที่ ภูเก็ต กระบี่ เขาใหญ่ และในประเทศกัมพูชา ภายใต้แบรนด์โภคีธรา
รวมไปถึงธุรกิจสื่อกิจการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 กัมพูชา ซึ่งได้รับสัมปทาน 30 ปี จากกระทรวงกลาโหมกัมพูชา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538
ซึ่งเรื่องราวทั้งหมด มาถึงจุดนี้ได้
ก็เพราะคุณวินัย วีระภุชงค์ มีวินัยในการยึดถือปรัชญาของตัวเอง ก็คือการใช้ชีวิตและทำธุรกิจอย่างมั่งคง
โดยเริ่มต้นเดินทางจากจุดสตาร์ตเล็กๆ ทีละก้าว ทีละก้าว ค่อยๆ ก้าวอย่างมั่นคง ไม่รีบร้อนวิ่งจนหกล้ม
ซึ่งประสบการณ์ทุกย่างก้าวนี้ ได้กลายเป็นส่วนผสมที่ช่วยปลุกปั้นไทยนครพัฒนาให้มีวันนี้ได้ และทำให้คุณวินัย ก้าวขาเข้าเส้นชัยในที่สุด
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.